ศบค.เผยไทยติดเชื้อโควิดลดฮวบ หลุดท็อป 20 ของโลกแล้ว

ฉีดวัคซีน
เครดิตภาพ : ศูนย์ CVC กลางบางซื่อ

ศบค.เผยอันดับโควิดโลกของไทยดีขึ้น หลุดท็อป 20 ของโลกแล้ว หลังรั้งอันดับท็อป 10 อยู่นาน เหตุยอดผู้ป่วยรายใหม่ล่าสุดลดลงค่อนข้างมาก  ขณะที่พื้นที่การเสียชีวิตในประเทศ “ภาคอีสาน”ยังมากสุด 4 จังหวัดนำโด่ง ส่วน 21 จังหวัดยอดติดเชื้อใหม่ยังสูง มีแค่ 12 จังหวัดที่แนวโน้มลดลง

วันที่ 25 เมษายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ การติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันว่า สถานการณ์การติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศ ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 มีผู้ป่วยรายใหม่ 14,994 ราย ผู้ป่วยยืนยันสะสม 1,957,433 ราย หายป่วยแล้ว 1,809,975 ราย เสียชีวิตสะสม 6,201 ราย โดยวันนี้มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 124 ราย ร้อยละของการเสียชีวิตอยู่ที่ 0.32%

ส่วนข้อมูลสะสมตั้งแต่ปี 2563 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 4,180,868 ราย หายป่วยแล้ว 3,978,469 ราย เสียชีวิตสะสม 27,899 ราย

ผู้ติดเชื้อโควิดในไทย 25 เมษายน 2565

ยอดติดเชื้อใหม่รายวันลดฮวบ

สำหรับสถานการณ์โควิดในประเทศไทยในส่วนของผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยปอดอักเสบ ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ ผู้ป่วยปอดอักเสบ และผู้ป่วยเสียชีวิตพบว่า ตัวเลขในภาพรวมเฉลี่ย 14 วันย้อนหลังลดลงค่อนข้างมาก

โดยจากกราฟจะพบว่าผู้ติดเชื้อรายวันกราฟปักหัวลงชัดเจน ขณะที่ผู้ป่วยปอดอักเสบก็ลดลง ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจค่อนข้างทรงตัว เช่นเดียวกับผู้เสียชีวิตก็ลดลง แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงเกินกว่า 100 ราย และยังคงสูงต่อเนื่องมา 16 วันแล้ว โดยก่อนหน้านี้ศบค.คาดว่าผู้ป่วยเสียชีวิตจากโควิดจะขึ้นไปอยู่ที่ระดับสูงสุด 250 ราย/วัน ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ ป่วยหนักและเสียชีวิต 25 เมษายน 2565

และสำหรับผู้เสียชีวิต 124 รายในวันนี้พบว่าอยู่ในกลุ่ม 608 หรือกลุ่มผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังรวม 119 ราย หรือคิดเป็น 95.96% และมีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนบูสเตอร์โดสจำนวน 116 ราย คิดเป็น 93.54%

ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังมาจากโรคมะเร็ง โรคไต อ้วน หลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ ติดเตียง ติดเชื้อจากคนรู้จัก คนในครอบครัว และอาศัยอยู่ในพื้นที่ระบาด

ยอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 25 เมษายน 2565

“อีสาน” ยังเสียชีวิตมากสุด 4 จังหวัดนำโด่ง

และเมื่อแยกตามพื้นที่ของผู้เสียชีวิตพบว่า พื้นที่ใน “ภาคอีสาน” มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดรวม 43 ราย โดย 4 จังหวัดได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีสะเกษ ขอนแก่น มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจังหวัดละ 7 ราย

รองลงมาเป็นพื้นที่ในภาคกลางและภาคตะวันออกรวม 26 ราย โดยจังหวัดนครสวรรค์และกาญจนบุรีมีผู้เสียชีวิตมากที่สุดจังหวัดละ 4 ราย ภาคเหนือรวม 21 ราย สุโขทัยมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 5 ราย ภาคใต้กับกรุงเทมหานครเท่ากัน 13 ราย และจังหวัดปริมณฑล 3 จังหวัดได้แก่สมุทรปราการ ปทุมธานี และนครปฐมรวม 8 ราย

10 จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากสุด

ขณะที่อัตราการครองเตียงในภาพรวมของประเทศมีอัตราการครองเตียงระดับ 2-3 อยู่ที่ 24.5% มีจังหวัดกาญจนบุรีมีอัตราการครองเตียงสูงสุด 50.70% รองลงมาเป็น อุดรธานี 47.80%

ส่วน 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากที่สุดอันดับ1.ยังเป็นกรุงเทพมหานคร 2,967 ราย แม้ยังอยู่ในระดับสูง แต่ก็ลดลงมา 3 วันติดต่อกันแล้ว รองลงมาเป็นชลบุรี 644 ราย ขอนแก่น 598 ราย สมุทรปราการ 561 ราย นนทบุรี 424 ราย ศรีสะเกษ 407 ราย นครศรีธรรมราช 371 ราย ร้อยเอ็ด 360 ราย นครราชสีมา 348 ราย บุรีรัมย์ 339 ราย

จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อลดลง

21 จังหวัดติดเชื้อสูง

21 จังหวัดป่วยใหม่ไม่ลด

ส่วนค่าเฉลี่ยรายจังหวัดจำนวนผู้ติดเชื้อ ทั้งที่ตรวจด้วยวิธี RT-PCR และ ATK แยกรายจังหวัดและแยกตามลักษณะแนวโน้มการระบาด ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงการปลดจากโรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นของไทย สถานการณ์ยังไม่เปลี่ยน โดยจังหวัดที่ยังมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Combatting มี 21 จังหวัด กลุ่มที่เริ่มทรงตัว(Plateau)มีจำนวน 44 จังหวัด และกลุ่มจังหวัดที่ทยอยลดลง(Declining) มี 12 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่า หากจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 หากหลายๆจังหวัดจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตยังไม่ลดลง กระทรวงสาธารณสุขอาจจะประกาศให้จังหวัดที่จำนวนผู้ป่วยรายใหม่และผู้เสียชีวิตจากโควิดลดลงตามเกณฑ์คือ 0.1% ปลดจากโรคประจำถิ่นไปก่อน

จำนวนผู้ฉีดวัคซีนสะสม ณ วันที่ 25 เมษายน 2565

สำหรับผู้มารับวัคซีน ณ วันที่ 24 เมษายน 2565 มีผู้รับการฉีดวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 6,987 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 21,225 ราย เข็มที่ 3 จำนวน 40,554 ราย และระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 – 24 เมษายน 2565 มีผู้รับวัคซีน สะสมทั้งหมด จำนวน 132,633,387 โดส

  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 สะสม : 56,155,863 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 สะสม : 51,009,258 ราย
  • จำนวนผู้ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 สะสม : 25,468,266 ราย

ผู้ติดเชื้อดควิดทั่วโลก ณ วันที่ 25 เมษายน 2565

อันดับ 24 โลกติดโควิด ยอดป่วยใหม่ลดเยอะ

ในส่วนของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั่วโลก ข้อมูล ณ วันจันทร์ที่ 25 เมษายน 2565 เวลา 10.00 น. มียอดผู้ติดเชื้อรวม 509,542,737 ราย อาการรุนแรง 42,430 ราย รักษาหายแล้ว 462,200,736 ราย และเสียชีวิต 6,243,199 ราย

ส่วนอันดับประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด

  • 1. สหรัฐอเมริกา จำนวน 82,662,748 ราย
  • 2. อินเดีย จำนวน 43,059,821 ราย
  • 3. บราซิล จำนวน 30,349,463 ราย
  • 4. ฝรั่งเศส จำนวน 28,303,931 ราย
  • 5. เยอรมนี จำนวน 24,140,700 ราย

อันดับผู้ติดเชื้อโควิดของไทยเทียบกับทั่วโลกก

สำหรับประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 24 ของโลก จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ 7 วันย้อนหลังอยู่ที่ 4,180,868 ราย ซึ่งอันดับลดลงจากก่อนหน้าค่อนข้างมากที่อยู่ในลำดับท็อป 10 ของโลกมาตลอด และเคยขึ้นไปถึงอันดับ 8 และ 9 ของโลกด้วยที่มีผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่มากที่สุดด้วยซ้ำ

แต่จากการจัดอันดับล่าสุดพบว่า ประเทศไทยหลุดจากอันดับท็อป 20 ของโลกด้วย ขณะที่ประเทศในเอเชียด้วยกัน เช่น อินเดีย เกาหลีใต้ เวียดนาม อินโดนีเซีย ยังอยู่ในอันดับท็อป 20 ของโลกที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น (ดูกราฟิกประกอบ)