กทม.จ่อปรับเกณฑ์วัดค่าฝุ่น PM 2.5 รายวัน ตามมาตรฐาน WHO

ตรวจค่าฝุ่น PM 2.5

กทม.เตรียมปรับแก้ค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ราย 24 ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เพิ่มระดับป้องกันผลกระทบสุขภาพ

วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นายชาตรี วัฒนเขจร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม ติดตามสถานการณ์และเตรียมพร้อมมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ตามแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ “การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง” และบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

เพื่อขับเคลื่อนมาตรการควบคุมมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ยานพาหนะ การก่อสร้าง สถานประกอบการ การเผาในที่โล่ง รวมถึงการดูแลสุขภาพอนามัยของประชาชน

ชาตรี วัฒนเขจร
ชาตรี วัฒนเขจร

การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการลดมลพิษทางอากาศ เช่น การตรวจสอบและบำรุงรักษารถยนต์ให้มีสภาพพร้อมใช้งาน ไม่ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานกำหนด เพื่อช่วยกันลดการเกิดฝุ่นละออง PM 2.5 และลดผลกระทบต่อสุขภาพ

สำหรับมาตรการปรับปรุงเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศทั่วไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์

เป็นมาตรการหนึ่งตามแผนปฏิบัติการโดยกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งต้องกำหนดค่ามาตรฐานเฉลี่ยราย 24 ชั่วโมงและค่ามาตรฐานเฉลี่ยรายปี ให้สอดคล้องกับเป้าหมายองค์การอนามัยโลก (WHO)

ปรับปรุงค่ามาตรฐานวัดค่าฝุ่นสอดคล้อง WHO

โดยปรับปรุงค่ามาตรฐานราย 24 ชั่วโมง จากเดิมไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ส่วนค่าเฉลี่ยในเวลา 1 ปี จากเดิมไม่เกิน 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เป็นไม่เกิน 15 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการกำหนดค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ที่ปรับปรุงใหม่โดยการปรับปรุงพัฒนาแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ และยกระดับมาตรการตามเกณฑ์มาตรฐานใหม่

รวมทั้งร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดแผนระยะยาวในการป้องกันและลดมลพิษที่แหล่งกำเนิด เช่น การนำน้ำมันเชื้อเพลิงกำมะถันไม่เกิน 10 ppm มาใช้ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลก่อนกฎหมายบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2567 และการบังคับใช้มาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่ EURO 6 ภายในปี 2565 เป็นต้น

เพื่อให้การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน และรองรับมาตรฐานใหม่