ขับรถลุยน้ำท่วมอย่างไร เช็กวิธีป้องกันก่อนรถน็อกกลางถนน

น้ำท่วม

ขับรถลุยน้ำท่วม เสี่ยงรถดับ-เครื่องพังขั้นโคม่า เปิดวิธีป้องกันที่ผู้ขับต้องรู้ก่อนรถน็อกกลางน้ำ

วันที่ 18 พฤษภาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แน่นอนว่าเมื่อเกิดฝนตกหนัก ปัญหาที่จะตามมา คือ น้ำท่วมขังจากการระบายน้ำไม่ทัน โดยเฉพาะหากเป็นคนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร แล้วต้องมาเจอปัญหาดังกล่าว อาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อการเดินทาง เพราะต้องขับรถลุยน้ำ จนส่งผลให้การจราจรยิ่งติดขัดมากขึ้น และอาจกระทบกับเครื่องยนต์อีกด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอวิธีการขับรถลุยน้ำท่วม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์รถดับหรือเครื่องพังกลางทาง (ข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก) ดังนี้

  1. ปิดแอร์ เมื่อเจอน้ำท่วมขัง เพราะหากน้ำท่วมถึงตัวพัดลม พัดตีน้ำขึ้นมาโดนบริเวณห้องไฟฟ้าอาจชอร์ตและทำให้เครื่องยนต์ดับได้
  2. รักษาระยะห่างจากรถคันอื่น เพราะระบบเบรกที่แช่น้ำนาน ๆ ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานต่ำลง
  3. ลดความเร็ว และรักษาความเร็วให้คงที่ ห้ามจอดและไม่ควรอยู่ใกล้รถคันอื่น
  4. ใช้เกียร์ต่ำ เพื่อประคองเครื่องยนต์ไม่ให้ดับ หากเป็นรถยนต์เกียร์ออโต้ให้ใช้เกียร์ L รถยนต์เกียร์ธรรมดาให้ใช้เกียร์ 1 หรือ 2
  5. เมื่อขับพ้นน้ำท่วม เหยียบเบรกย้ำ ๆ เพื่อไล่น้ำออกจากผ้าเบรก
  6. ถึงที่หมาย อย่าเพิ่งดับเครื่องทันที ให้ติดเครื่องยนต์ไว้สักพัก เพื่อไล่น้ำและความชื้นที่ค้างอยู่ตามเครื่องยนต์

รถดับกลางน้ำท่วมต้องทำอย่างไร

แต่จะทำอย่างไร เมื่อผู้ขับรถป้องกันไม่ทัน ทำให้เกิดรถดับกะทันหันกลางถนนหรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขัง krungsriautobroker ให้ข้อมูลไว้ว่า ห้ามสตาร์ตเครื่องยนต์ในน้ำเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้รถพังเร็วขึ้น ผู้ขับรถควรตั้งสติก่อนแล้วบิดกุญแจดับเครื่องจากนั้นให้ปฏิบัติตามขั้นตอน ดังนี้

1. ออกจากรถเพื่อขอความช่วยเหลือในการเข็นรถหนีน้ำไปที่สูงหรือที่แห้ง

2. เปิดฝากระโปรงหน้ารถเพื่อตรวจสอบว่า รถดับจากน้ำเข้าระบบกรองอากาศหรือดับจากระบบไฟฟ้าเปียกน้ำด้วยการ

  • มองหาหม้อกรองอากาศรถของเราให้เจอก่อน (อาจจะต้องเปิดคู่มือการใช้งานรถเพราะรถแต่ละรุ่น แต่ละแบรนด์อยู่คนละตำแหน่งกัน)
  • เปิดฝาหม้อกรองอากาศออก เพื่อดูแผ่นกรองว่ายังแห้งอยู่ไหม ถ้ายังแห้งดีอยู่รถก็น่าจะดับจากระบบไฟโดนน้ำแล้วลัดวงจร ซึ่งก็อาจจะแก้ไขเพื่อให้เราขับรถกลับบ้านได้ (ในกรณีนี้เราต้องรู้ว่าชิ้นส่วนไหนอยู่ตรงไหน แต่ถ้าไม่มั่นใจ แนะนำให้เอารถเข้าอู่หรือศูนย์บริการดีที่สุด)

3. เมื่อรู้สาเหตุแล้วเราสามารถแก้ไขเบื้องต้นได้ด้วย (ในกรณีที่เรารู้ว่าชิ้นส่วนไหนอยู่ตรงไหน)

  • ถ้ารถดับเพราะระบบไฟฟ้า ให้เราหาที่เติมลมยางที่มีอยู่ตามปั๊มน้ำมันมาเป่าไล่น้ำออกไป เช่น ที่ขั้วแบตเตอรี่ ที่บริเวณหัวเทียนให้ถอดจุ๊บยางออกมาเป่าลมให้แห้ง
  • รถที่ดับเพราะน้ำเข้าระบบกรองอากาศหรือเข้าท่อไอดี งานนี้เราเรียกใช้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินจากบริษัทประกันดีที่สุด ซึ่งในบางบริษัทประกันมีบริการช่างซ่อมรถยนต์ฉุกเฉินให้ด้วยในประกันชั้น 1

รถดับแช่อยู่ในน้ำส่งผลเสียอย่างไร

ทั้งนี้ หากผู้ขับรถที่ประสบปัญหาดังกล่าว แล้วยังสามารถขยับหรือเคลื่อนย้ายรถได้ อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมา จนถึงขั้นโคม่า โดยเฉพาะรถที่น้ำเข้าระบบกรองอากาศ เพราะการทำงานของรถนั้นหล่อลื่นด้วยน้ำมันหล่อลื่นและอาศัยการอัดอากาศให้เกิดแรงดันทำให้เครื่องยนต์ทำงาน

หากขับรถเครื่องร้อน ๆ อยู่ไปเจอน้ำเข้าเครื่องจากช่องกรองอากาศดี ซึ่งก็จะทำให้เครื่องน็อกทันที ทั้งจากความเย็นของอุณหภูมิน้ำและค่าความหนืดของน้ำที่ต่างจากอากาศที่ไหลเข้าไปที่ห้องเผาไหม้ (เข้าลูกสูบ) ในรถเครื่องยนต์เบนซิน หรือเข้าไปที่หัวฉีดในรถเครื่องยนต์ดีเซล หรือเราพูดกันง่าย ๆ ได้เลยว่าเครื่องพัง ต้องไปอู่หรือศูนย์บริการเพื่อผ่าเครื่องล้างเอาน้ำออกเท่านั้นจริง ๆ

นอกจากเครื่องยนต์แล้ว ยังมีระบบเบรก ระบบเพลา ระบบลูกหมากต่าง ๆ ที่มีลูกยางห่อหุ้มอยู่ที่อาจจะมีน้ำเข้าไปขังอยู่ รวมถึงระบบเกียร์ในเฟืองท้าย สายพานและหัวเทียนด้วยในรถมอเตอร์ไซค์ที่ต้องล้างด้วยน้ำมันเพื่อเอาน้ำออกให้หมด และควรดูแลห้องโดยสารระบบไฟโดยเฉพาะรถยนต์รุ่นใหม่ที่อาศัยกล่องควบคุมระบบไฟฟ้าหรือ ECU (Electronic Control Unit) ซึ่งมีหน้าที่หลักในการควบคุมการสั่งจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงและการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ แบตเตอรี่ และประตูที่อาจเกิดสนิมขึ้นได้ด้วย