ถอดหน้ากาก “ตามความสมัครใจ” มีผลแล้ว ใครยังควรใส่บ้าง?

ถอดหน้ากาก ถอดแมสก์
PHOTO : Jack TAYLOR / AFP

กระทรวงสาธารณสุข แนะนำการถอด-สวมหน้ากากอนามัย หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศผ่อนคลายใส่แมสก์ได้ตามความสมัครใจ มีผลทันที (23 มิ.ย.)

วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 46 ระบุถึงการผ่อนคลายการสวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าได้ ได้ตามความสมัครใจ โดยให้มีผลทันที

ประกาศดังกล่าว ยังเน้นย้ำว่า ขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อ ทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

ล่าสุด ที่เฟซบุ๊กเพจ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยแพร่คำแนะนำสำหรับประชาชนหากต้องถอดหน้ากากอนามัย โดยระบุว่า จะถอดหน้ากากได้ เมื่อปฏิบัติดังนี้

  • ขณะอยู่คนเดียว
  • ขณะออกกำลังกาย
  • ขณะรับประทานอาหาร และดื่มน้ำ
  • ขณะอยู่บริเวณที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ขณะอยู่นอกอาคารที่โล่งแจ้ง
  • ขณะอยู่ในอาคาร โดยสามารถเว้นระยะห่างได้

สำหรับผู้ที่ควรจะสวมหน้ากากอยู่ตลอดเวลา ได้แก่

  • กลุ่มเสี่ยง 608 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรคเสี่ยง หญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบตามเกณฑ์
  • ผู้ติดเชื้อ หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เมื่อจำเป็นต้องอยู่ร่วมกับผู้อื่น
  • ผู้ปฏิบัติหน้าที่ให้บริการหรือใกล้ชิดกับบุคคลอื่น

นอกจากนี้ ยังเน้นว่า “หน้ากาก” มีประโยชน์ในการป้องกันทั้งการแพร่เชื้อและการรับเชื้อโรค-19 และโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ จึงควรพกหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อออกจากบ้าน