ราชกิจจาฯออกประกาศ ใส่หน้ากาก “ตามความสมัครใจ” มีผลทันที

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ “สวมหน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า” ตามความสมัครใจ ย้ำประชาชนยึดหลักพิจารณาตามข้อกำหนดกระทรวงสาธารณสุข  

วันที่ 23 มิถุนายน 2565 ที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ฉบับที่ 46 โดยให้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

ประกาศฉบับดังกล่าวได้ระบุข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ในข้อ 3 เรื่องการผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร ระบุว่า

เพื่อให้ประชาชนสามารถดําเนินชีวิตได้ใกล้เคียงกับสภาวะปกติยิ่งขึ้น จึงสมควรผ่อนคลายข้อจํากัดในเรื่องการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า โดยยกเลิกความในข้อ 1 แห่งข้อกําหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 24) ลงวันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้าให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ โดยขอให้ประชาชนพิจารณาประโยชน์ตามข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขรายงานว่า การสวมหน้ากากอย่างถูกวิธีเป็นประโยชน์ด้านสุขอนามัยในการป้องกันการแพร่เชื้อและการรับเชื้อ ทั้งเชื้อโรคโควิดและโรคติดเชื้อ ทางระบบทางเดินหายใจอื่น ๆ

รวมทั้งยังสามารถลดความเสี่ยงอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (กรมอนามัย) จึงมีข้อแนะนําให้ประชาชนทั่วไปสวมหน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นในสถานที่หรือในพื้นที่แออัด มีการรวมกลุ่มคนจํานวนมาก ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ หรืออากาศระบายถ่ายเทไม่ดีเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ หรือรับเชื้อ

กรณีเป็นผู้เข้าข่ายเสี่ยงที่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการรุนแรงหรือความเสี่ยงสูงต่อการ เสียชีวิต (กลุ่ม 608) หรือผู้ที่มีโรคประจําตัวเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจควรสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่อต้องอยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ และกรณีเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 หรือผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจากเชื้อโควิด-19 จําเป็นต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีตลอดเวลาเมื่ออยู่ร่วมกับบุคคลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันการแพร่โรค

ให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งชี้แจง ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ ความเข้าใจให้ประชาชนทุกภาคส่วนทราบถึงแนวการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัย สอดคล้องกับมาตรการสังคม ชุมชน และองค์กร เปลี่ยนผ่านสู่ระยะ Post-Pandemic เฝ้าระวังและกํากับติดตาม สถานการณ์ รวมทั้งจัดทําแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น