ชัชชาติ ชู Taffy Fondue ปฏิรูประบบข้าราชการ

ที่ประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครแจงแก้ไขปัญหาคนเมืองผ่านระบบ Traffy Fondue พลังของแพลตฟอร์ม เปลี่ยนระบบราชการได้เผยความคืบหน้าปลูกต้นไม้ล้านต้น ผ่านแอป BKK-plant

วันที่ 27 มิถุนายน 2565 ณ ห้องประชุมและวางแผน (WAR ROOM) ชั้น 35 อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดินแดง : นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการต้นไม้ล้านต้น และการแก้ไขเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ “Traffy Fondue” ภายหลังจากการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 10/2565

ในส่วนของความความคืบหน้าการดำเนินการตามเรื่องร้องทุกข์ผ่านระบบ “Traffy Fondue” พบว่า 50% ของประเภทและสาเหตุของปัญหา เป็นเรื่องถนน ทางเท้า แสงสว่าง น้ำท่วม สายไฟ และขยะ โดยสำนักงานเขตและสำนักสามารถรู้ว่าปัญหาสำคัญคืออะไร กระจุกตัวอยู่ที่ไหน ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ใจกลางเมือง จากข้อมูลสถิติ ระหว่างวันที่ 29 พ.ค. – 27 มิ.ย. 65 มีเรื่องเข้ามาในระบบทั้งสิ้น 54,929 เรื่อง

มีจำนวนการแจ้งปัญหาเพิ่ม 41 เท่า ใน 29 วัน รอรับเรื่อง 4,458 เรื่อง คิดเป็น 8% ดำเนินการแล้ว 21,196 คิดเป็น 39% ส่งต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบ 10,202 คิดเป็นร้อยละ 19% เสร็จสิ้น 19,436 คิดเป็น 35% โดยมีจำนวนผู้รายงานปัญหาเพิ่มขึ้น 6 เท่า ส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 30-34 ปี คิดเป็น 20.5 % รองลงมาคือ 25-29 ปี คิดเป็น 20.1% และมีจำนวนเขต 40 ใน 50 เขต รับเรื่องและเริ่มดำเนินการไปแล้วมากกว่า 90%

“นี่คือพลังของแพลตฟอร์ม ที่เราเปลี่ยนการบริหารจัดการจากระบบท่อเป็นแพลตฟอร์ม ทุกหน่วยงานสามารถหยิบเรื่องไปแก้ไขได้เลย โดยที่ผู้ว่าฯ ไม่ต้องสั่งการ” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ระบบ “Traffy Fondue” ยังมีการพัฒนาต่อเนื่อง โดยได้เพิ่มฟังก์ชันการทำงานใหม่ เช่น ประเมินความพึงพอใจ และหากผู้แจ้งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงาน สามารถแจ้ง “เปิดเรื่องใหม่” ได้โดยไม่ต้องร้องซ้ำ นอกจากนี้ ยังมีฟังก์ชันแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างเขต

โดยเขตที่ปฏิบัติการได้ดีช่วยแบ่งปันประสบการณ์การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพให้เขตอื่น ๆ เพื่อให้การปฏิบัติงานมีความเข้มแข็งมากขึ้น ปัจจุบันมีหน่วยงานภายนอกในพื้นที่ กทม. เข้าร่วมระบบกว่า 80 หน่วยงาน ทั้งรัฐวิสาหกิจ สถานีตำรวจ กระทรวง และเอกชน

“ต่อไปเราสามารถสั่งงานผ่านแพลตฟอร์มข้ามหน่วยงานได้ ถ้าขยายไประดับประเทศได้ก็จะเป็นสิ่งที่เปลี่ยนระบบราชการเลย เราสามารถรับร้องเรียนผ่านระบบโดยไม่ต้องมีคนสั่งการ ทุกคนเข้ามาร่วมกันบริการประชาชน ซึ่งทุกคนยินดีที่สามารถทำระบบบริการให้ดีขึ้นได้ ข้าราชการก็พร้อมที่จะทำงาน ขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม.ทุกคนเลย ทุกคนตื่นเต้นและสนุกไปกับเราด้วย ผมว่าประชาชนมีความสุข ข้าราชการมีความสุข เมืองต้องดีขึ้นแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

สำหรับแนวทางการพัฒนาต่อยอด Traffy Fondue 1. แยกกล่อง Dashboard เพื่อให้เขตและสำนักสามารถแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงได้ดีขึ้น 2. เพิ่มกล่อง ปัญหาที่ต้องแก้เชิงนโยบาย รับข้อเสนอแนะของประชาชนที่อยากเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนา 216 นโยบาย หรือเพิ่มเติมนโยบายใหม่ 3. เปิดกล่องร้องเรียนเจ้าหน้าที่ กทม. ที่ฝ่ายกลางสามารถรับเรื่องราวได้โดยตรง

4. ประสานหน่วยงานต่าง ๆ นอก กทม. ให้มาเข้าร่วมแก้ไขปัญหาให้ประชาชนร่วมกันมากขึ้น ขณะนี้หารือกับรองจเรตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และกำลังจะเซ็น MOU ร่วมกันเร็ว ๆ นี้ และ 5. ชวนประชาชนมาใช้ Open Data ไปพัฒนา เพื่อให้เขตและสำนักนำข้อมูลไปใช้งานได้ง่ายขึ้น

ในส่วนเป้าหมายการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างร่มเงา ดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ โดยแบ่งยุทธศาสตร์การปลูกเป็น 4 กลุ่ม ตามลักษณะของพื้นที่ ดังนี้

1. พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะน้อย เช่น เขตหนองจอก เขตคลองสามวา เป้าหมายเพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 2. พื้นที่ขนาดใหญ่ สวนสาธารณะมาก เช่น เขตประเวศ เขตจตุจักร เป้าหมายเพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 75% พุ่มกลาง 20% เถา 5% 3. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะน้อย เช่น

เขตสัมพันธวงศ์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง ให้ร่มเงา ปลูกไม้ยืนต้น 40% พุ่มกลาง 50% เถา 10% และ 4. พื้นที่ขนาดเล็ก สวนสาธารณะมาก เช่น เขตพระนคร เขตดุสิต เป้าหมายเพื่อกักฝุ่น และมลพิษในเมืองกรุง สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ปลูกไม้ยืนต้น 30% ไม้พุ่มกลางไม่เกิน 70%

โดยมีการตั้งเป้าการปลูกในส่วนราชการอื่น ๆ 10,000 ต้น ภาคประชาชน 50,000 ต้น สำนักสิ่งแวดล้อม 200,000 ต้น บริษัทเอกชน 240,000 ต้น และสำนักงานเขต 500,000 ต้น โดยชุมชนในพื้นที่ กทม. ร่วมกันเพาะกล้าไม้ ช่วยสร้างการจ้างงานเพิ่มในชุมชน

ปัจจุบันได้ดำเนินการปลูกต้นไม้แล้ว จำนวน 26,122 ต้น แบ่งเป็น ไม้ยืนต้น 9,692 ต้น ไม้พุ่ม 11,776 ต้น และไม้เลื้อย 4,654 ต้น โดยเขตบางกะปิปลูกมากที่สุด คิดเป็น 37% สำหรับหน่วยงานภาคเอกชนที่แจ้งความประสงค์ปลูกต้นไม้ ได้แก่

ดิ เอราวัณ 100 ต้น ปตท. 100,000 ต้น SCG 100,000 ต้น แสนสิริ 20,000 ต้น CP 100,000 ต้น สมาคมนักธุรกิจไต้หวัน 50,000 ต้น ThaiPBS 1,000 ต้น Dubble A 100,000 ต้น Bangkok Residence 400 ต้น AIA 10,000 ต้น Central Group 100,000 ต้น รวมจำนวน 581,400 ต้น และยังมีเอกชนอีกหลายแห่งซึ่งอยู่ระหว่างการยืนยันจำนวน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่ กทม. ได้ประสานขอไป เช่น สภาอุตสาหกรรม หอการค้าไทย อยู่ระหว่างการตอบรับ ดังนั้นจะมีเกือบ 600,000 ต้น ที่ภาคเอกชนให้มาแล้ว

“ถ้าเราร่วมมือกันโดยไม่ใช้งบประมาณสามารถดำเนินการได้เร็ว เป็นนโยบายระยะยาว เนื่องจากต้องใช้เวลาปลูก แต่เราเริ่มต้นได้เร็ว เชื่อว่า 4 ปี เราได้ครบหนึ่งล้านต้น กรุงเทพจะมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน” ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลต้นไม้ที่ได้ปลูกแล้ว 26,122 ต้น จะถูกบันทึกอยู่ในฐานข้อมูลในแอปพลิเคชัน BKK-plant ทั้งหมด โดยมีรายละเอียดชื่อกิจกรรม วันที่ปลูก สถานที่ปลูก ชนิดของต้นไม้ และชนิดของต้นไม้ที่แนะนำสำหรับพื้นที่ (ระยะ 2) พร้อมรูปถ่าย และต่อไปต้นไม้ล้านต้นก็จะถูกบันทึกเช่นเดียวกัน สุดท้ายในอนาคตอาจขายเป็นคาร์บอนเครดิตให้กับเมืองได้