หมอธีระแนะสวมหน้ากาก โควิดไม่กระจอก วัคซีนเต็มแขนก็ไม่ช่วย

หมอธีระ

หมอธีระย้ำ โควิดไม่กระจอก ยังติดได้ ป่วยได้ ตายได้ วัคซีนเต็มแขนก็ไม่ช่วย เตือน Long COVID บั่นทอนคุณภาพชีวิต แนะควรสวมหน้ากากอนามัย

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะประชาชน การสวมหน้ากากยังคงมีความสำคัญอยู่มาก แม้จะมีมาตรการถอดหน้ากากได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้รศ.นพ.ธีระยังโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโดยระบุว่า

“กระจอก ธรรมดา เอาอยู่ เต็มแขนชิล ๆ” …ไม่จริง…ขอให้เราป้องกันตัว ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ไม่หลงคำลวงฟุ้งเฟ้อกิเลส ระลึกเสมอว่าแม้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็ติดได้ ป่วยได้ ตายได้ หากไม่ป้องกันตัวให้ดี
สำคัญคือภาวะผิดปกติระยะยาวอย่าง Long COVID ที่บั่นทอนคุณภาพชีวิต สมรรถนะการใช้ชีวิตและการทำงาน เป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม การใส่หน้ากากนั้นสำคัญมากครับ…”

ก่อนหน้านี้ รศ.นพ.ธีระ ได้อัพเดต Long COVID อีกด้วย ระบุว่า งานวิจัยล่าสุดโดย Ceban F และคณะ ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ และวิเคราะห์อภิมานเพื่อตอบคำถามว่า คนที่ป่วยเป็นโควิด-19 แล้วมีอาการคงค้าง หรือ Long COVID นั้น จะมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (fatique) และมีปัญหาด้านความจำ (cognitive impairment) มากน้อยเพียงใด ? และนานเพียงใด ?

ผลการศึกษาจากงานวิจัยกว่า 80 ชิ้น พบว่า คนที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีโอกาสเป็น Long COVID โดยมีอาการเหนื่อยล้าอ่อนเพลียได้ถึง 1 ใน 3 และมีปัญหาด้านความจำ ราว 1 ใน 5 ผู้หญิงพบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าผู้ชายราว 1.5 เท่า ผู้ใหญ่พบอาการ Long COVID ดังกล่าว มากกว่าเด็ก 3 เท่า

ผู้ป่วยที่มีอาการ Long COVID ดังกล่าว 1 ใน 3 มีอาการที่ติดตามน้อยกว่า 6 เดือน อีก 1 ใน 3 ก็พบได้ยาวนานกว่า 6 เดือน โดยยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด เนื่องจากข้อจำกัดในการติดตามผลของแต่ละงานวิจัย

Advertisment

ที่สำคัญคือ อาการ Long COVID นั้น พบว่าเกิดได้ในคนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล (non-hospitalized) และที่ป่วยจนต้องรักษาในโรงพยาบาล (hospitalized)