กทม.พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนพนักงานกวาด

จักกพันธุ์ ผิวงาม
จักกพันธุ์ ผิวงาม

“จักกพันธุ์” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การประชุมในวันนี้มี 2 ประเด็น 1.พิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนพนักงานกวาด 2.ประเด็นการกำหนด 4 มาตรการป้องกันสถานการณ์โควิด

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 11/2565 ว่า วันนี้ที่ประชุมได้มีการรายงานในเรื่องต่าง ๆ อาทิ ความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกวาด และแนวทางการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายหลังการผ่อนคลายมาตรการ

สำหรับความคืบหน้าการพิจารณาเพิ่มเงินค่าตอบแทนสำหรับพนักงานกวาด กทม.ได้จัดตั้งคณะกรรมการยกร่าง ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และเงินพิเศษรายเดือนสำหรับพนักงานกวาด พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกข้อบัญญัติฉบับเดิม คือ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่เก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยและเอกชนที่รับชำระค่าธรรมเนียมเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยแทนกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2546 ที่ให้ค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยเท่านั้น

โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) ข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง ค่าตอบแทนฯ พ.ศ …. คือ เพื่อให้ค่าตอบแทนแก่บุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอย และพนักงานกวาด โดยจะมีการปรับสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนบุคลากรที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับการเก็บขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยให้สอดคล้องกับค่าธรรมเนียมเก็บและขนสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยอัตราใหม่ตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าธรรมเนียมการให้บริการในการจัดการสิ่งปฏิกูลหรือมูลฝอยตามกฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข พ.ศ. 2562 รวมถึงจะมีการกำหนดเงินพิเศษรายเดือนสำหรับพนักงานกวาด ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาสัดส่วนที่เหมาะสม แล้วจึงเสนอร่างเพื่อพิจารณาตามลำดับต่อไป

ปัจจุบัน กทม.มีลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราวทั้งสิ้น 28,122 ราย โดยเป็นลูกจ้างประจำ รวม 17,901 ราย แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย 7,489 ราย กวาด 6,029 ราย สวนสาธารณะ 3,492 ราย และสิ่งปฏิกูล 891 ราย และลูกจ้างชั่วคราว รวม 10,221 ราย แบ่งเป็นด้านเก็บขนมูลฝอย 3,710 ราย กวาด 3,811 ราย สวนสาธารณะ 2,096 ราย และสิ่งปฏิกูล 604 ราย

ในส่วนของสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครนั้น ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 1,500 ราย เสียชีวิตเฉลี่ยวันละ 3 ราย แม้ว่าจำนวนผู้ป่วยจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ กทม.ได้กำหนด 4 มาตรการเพื่อกำกับ ควบคุม ดูแล ดังนี้ มาตรการที่ 1 มาตรการเฝ้าระวังควบคุม โดย กทม.ได้ติดตามสถานการณ์การป่วย การเข้ารับการรักษา การตาย การครองเตียง และเฝ้าระวังการระบาดเป็นกลุ่มก้อน (Cluster) ในสถานที่เสี่ยง เช่น แคมป์ก่อสร้าง ตลาด สถานประกอบการ/โรงงาน สถานศึกษา สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ เพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและปรับมาตรการในการเฝ้าระวังควบคุม

มาตรการที่ 2 มาตรการป้องกันโรค ซึ่งประกอบด้วย

1.มาตรการการป้องกันส่วนบุคคล คือ เน้นย้ำเรื่องการหมั่นล้างมือ การเว้นระยะห่าง และการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงและในกลุ่ม 608

2.มาตรการเฉพาะสถานที่ โดยให้สถานที่ต่าง ๆ ทั้งหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ เอกชน ปฏิบัติตามมาตรการ Covid Free Setting

3.การฉีดวัคซีน โดยกทม.ได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 3 เข็ม และเร่งดำเนินการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 เข็มกระตุ้น (เข็ม 4) ดังนี้

1) ดำเนินการฉีดวัคซีนเชิงรุกโดยทีม CCRT ให้บริการฉีดวัคซีนในกลุ่ม Nursing Home ทั้งผู้สูงอายุ ผู้ดูแล และออกหน่วยฉีดวัคซีนเชิงรุกในพื้นที่ที่เคยเกิดการระบาด เช่น ตลาดบางแค ตลาดกีบหมู เป็นต้น

2) เปิดบริการฉีดวัคซีนทุกกลุ่มอายุในทุกวันศุกร์ ผ่านช่องทางนัดหมายแอปพลิเคชั่น QueQ รวมทั้งเปิดให้บริการทุกวันแบบไม่ต้องนัดหมาย (Walk in) ในประชาชนที่มารับบริการในคลินิกวัคซีนผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะในกลุ่ม 608

3) ขอความร่วมมือ อสส. สำรวจประชาชนในชุมชน หากพบว่ายังมีประชาชนยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ขอให้แจ้งศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนที่บ้าน

4) ประสานโรงเรียนในพื้นที่ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้กับนักเรียน รวมทั้งเชิญชวนผู้ปกครองให้มาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

5) เปิดช่องทางการจองวัคซีนกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผ่านทางลิงก์ https://shorturl.asia/kdAJc หรือ QR Code ประชาสัมพันธ์ ซึ่งได้มีการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของกทม.แล้ว

มาตรการที่ 3 มาตรการการรักษาพยาบาล สถานการณ์เตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีเตียงรวมในโรงพยาบาล 5,277 เตียง ใช้ไปแล้ว 2,990 เตียง คิดเป็นอัตราการครองเตียง 56.66% โดยเป็นอัตราการครองเตียงระดับ 2 ขึ้นไป 35.69% ทั้งนี้ กทม.มีความพร้อมทั้งในเรื่องบุคลากร เตียง และยา โดยศักยภาพเตียงสำนักการแพทย์ มีเตียงรวม 666 เตียง ครองเตียง 371 เตียง คิดเป็น 55.71% และเตียงว่าง 295 เตียง คิดเป็น 44.29 % (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค. 65)

มาตรการที่ 4 มาตรการทางกฎหมาย กรุงเทพมหานครกำชับสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ หรือสถานที่อื่นที่มีลักษณะคล้ายกัน ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขเคร่งครัด ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ มีสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการฯ จำนวน 830 แห่ง พนักงานทั้งหมด 11,835 คน

โดยสถานประกอบการทั้ง 830 แห่ง ผ่านการประเมิน TSC2+ อยู่ระหว่างขอเปิดดำเนินการ 556 แห่ง ได้รับการตรวจประเมิน 548 แห่ง ได้รับอนุญาต 526 แห่ง และยังไม่มีแห่งใดถูกสั่งปิด ทั้งนี้ มีจำนวนพนักงานร้านที่อนุญาตให้เปิดดำเนินการ รวม 8,843 คน ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้น 8,172 คน คิดเป็น 92% ได้รับการตรวจ ATK แล้ว 8,276 คน คิดเป็น 94% ไม่มีผลบวก (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.ค. 65)