ชัชชาติ กำชับสำนักงานเขตเข้าสู่ยุคแห่งความโปร่งใสในการขอใบอนุญาต

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” เร่งเชื่อมต่อข้อมูลน้ำท่วมจุดเส้นเลือดฝอยในภาพรวม กำชับสำนักงานเขตให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียม รวดเร็ว โปร่งใส

วันที่ 4 สิงหาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 8/2565

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในที่ประชุมว่า ช่วงที่ผ่านมีเรื่องน้ำท่วม เชื่อว่าผู้อำนวยการเขตทุกคนทำงานหนัก ปัญหาคือข้อมูลของส่วนกลางยังไม่เชื่อมกับเขตซึ่งเป็นเส้นเลือดฝอย ควรมีการรวบรวมจุดอ่อนน้ำท่วมจากเขตมาอยู่ที่ส่วนกลาง ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม สำนักการระบายน้ำ เพื่อเข้าช่วยเหลือประชาชนได้รวดเร็ว เพราะสำนักงานเขตทำงานหนัก

สำนักงานเขตมีข้อมูลอยู่แล้ว แต่พอข้อมูลไม่ได้มารวมกับส่วนกลาง ทำให้ส่วนกลางมองไม่เห็นปัญหา ทำให้การวางแผนระยะยาวไม่ได้รับการแก้ไข บางจุดอาจจะท่วมซ้ำซาก แต่ศูนย์จะพบว่าน้ำแห้งหมดแล้ว เพราะสำนักการระบายน้ำจะมีข้อมูลเฉพาะถนนสายหลัก ทำอย่างไรให้ข้อมูลทางเขตมาปรากฏในภาพรวม ซึ่งจะแก้ปัญหาระยะยาวได้

และต้องมีการอัปเดตจุดน้ำท่วมซ้ำซาก จะต้องมีการนำข้อมูลมารวมที่ส่วนกลาง โดยอาจใช้โปรแกรมทำงานร่วมกันระหว่างสำนักการระบายน้ำ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง ทำให้เห็นภาพรวม เรามีหลายหน่วยงานอยากจะช่วยให้กทม.ดีขึ้น ถ้าเรามีข้อมูลส่วนกลางที่ชัดเจนขึ้น เราจะสามารถแจกงานได้ ผอ.เขตย่อมรู้เรื่องภายในพื้นที่เขตตนเองดี ก็รายงานข้อมูลเข้ามาที่ส่วนกลาง เพื่อให้ทราบว่ามีน้ำท่วมที่ซอยไหน นายชัชชาติกล่าว

เรื่องที่ 2 คือ การปฏิบัติงานเรื่องการขอใบอนุญาตต่าง ๆ ที่เขต เช่น ขอใบอนุญาตก่อสร้าง ได้รับแจ้งจากประชาชนว่าดำเนินการล่าช้า แจ้งปัญหาไปแต่ยังไม่มีอะไรปรับปรุง จริง ๆ แล้วไม่ต้องรอให้มีใครมาบอกว่าให้ช่วยหน่อย เพราะทุกคนคือประชาชนเท่า ๆ กัน นี่คือพลังของ Traffy Fondue คือทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะไม่จำเป็นต้องทราบว่าใครแจ้ง

ต่อไปการขอใบอนุญาตจะต้องเป็นแบบนี้ ทุกคนต้องมีศักดิ์ศรีเท่ากัน ขอให้ ผอ.เขตช่วยดูเรื่องกระบวนการต่าง ๆ ต้องทำงานแบบ One Stop Service ต้องเร่งรัด ไม่ทำงานแบบเก่า ๆ เดิม ๆ นี่คือการทำงานยุคใหม่ เป็นยุคของความโปร่งใสของการบริการประชาชน เรามีหน้าที่ในการบริการ ไม่ใช่เบียดเบียนประชาชน ดังนั้น จึงต้องฝากในกระบวนการอนุญาตต่าง ๆ ต้องให้รวดเร็ว โปร่งใส และเป็นบริการเพื่อประชาชนจริง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราจะเร่งรัดต่อไป เพื่อให้เป็นไปตามพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 อย่างแท้จริง

ในที่ประชุมสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์ได้รายงานจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่มารับบริการ ณ ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลวชิรพยาบาล ข้อมูล ณ วันที่ 2 ส.ค. 65 เวลา 20.00 น. โดยมีผู้ป่วยรายใหม่ในวันที่ 2 ส.ค. 65 จำนวน 3,317 ราย ยอดผู้ป่วยสะสม 91,666 ราย

ด้านสถานการณ์เตียงในพื้นที่ กทม. ยังมีเตียงรองรับเพียงพอ ข้อมูล ณ วันที่ 4 ส.ค. 65 เวลา 08.00 น. มีเตียงรวมในโรงพยาบาล จำนวน 5,888 เตียง ใช้ไป 2,555 เตียง คิดเป็นอัตราการครองเตียงทั้งหมด ร้อยละ 43.39 ในส่วนของศักยภาพเตียง สำนักการแพทย์และวชิรพยาบาล จำนวน 1,148 เตียง ครองเตียง 440 คิดเป็นร้อยละ 38.33 เตียงว่าง 708 คิดเป็นร้อยละ 61.67

โดยจำแนกเป็นประเภทสถานพยาบาล แบ่งเป็น โรงพยาบาลหลัก 448 เตียง ครองเตียง 333 คิดเป็นร้อยละ 74.33 เตียงว่าง 115 คิดเป็นร้อยละ 25.67 และโรงพยาบาลสนาม 700 เตียง ครองเตียง 107 คิดเป็นร้อยละ15.29 เตียงว่าง 593 คิดเป็นร้อยละ 84.71

สำหรับการเตรียมรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานร ได้มีการประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ และถอดบทเรียน กรณีผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรรายแรกในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยเชิญชวนสถานพยาบาลในกรุงเทพมหานครทั้งหมด 203 แห่ง โรงพยาบาลที่เป็นเครือข่ายเฝ้าระวังโรคกับกองควบคุมโรคติดต่อ และมีสถานพยาบาลที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 190 แห่ง นอกจากนี้ ยังให้ความรู้เกี่ยวกับแนวทางการรักษาพยาบาล การส่งต่อ และการป้องการติดเชื้อฝีดาษวานรในสถานพยาบาล รวมทั้งการป้องกันและควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อด้วย

ในส่วนของความคืบหน้าการบูรณาการข้อมูลจุดเสี่ยงความปลอดภัย เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลดิจิทัล BKK Risk Map โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาได้มีการลงพิกัดสถานีดับเพลิงและกู้ภัย 47 สถานี และจำนวนหัวจ่ายน้ำดับเพลิง 23,598 หัว นอกจากนี้ จะมีการรวบรวมฐานข้อมูลจุดมืด สถิติอาชญากรรม อุบัติเหตุ น้ำท่วม พื้นที่ต่ำ โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนที่เกิดอัคคีภัยบ่อย ๆ รวมถึงในอนาคตจะมีการเก็บข้อมูลถังดับเพลิงในชุมชน รวมทั้งจุดเปราะบางในพื้นที่ ทั้งเชิงกายภาพและระบบสังคม เช่น ศูนย์เด็กเล็ก ผู้ป่วยติดเตียง เป็นต้น

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอว่า ควรมีแพลตฟอร์มกลางที่รวบรวมความเสี่ยงในหลายมิติ ซึ่งมอบให้สำนักการวางผังและพัฒนาเมืองเป็นเจ้าภาพหลักในการพัฒนา และทำรูปแบบที่เขตสามารถนำเข้าข้อมูลได้ง่ายและสะดวก แต่ในระยะสั้นให้สำนักงานเขตอัปเดตข้อมูลเป็นปัจจุบันก่อน

ทั้งนี้ ในส่วนของสำนักการระบายน้ำ ได้รายงานการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำหนุน ในปี 2565 โดยเตรียมแผนรับมือรับน้ำหลากและน้ำทะเลหนุน ดำเนินการตรวจสอบจุดรั่วซึม ของแนวป้องกันน้ำท่วม ริมแม่น้ำเจ้าพระยาคลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ความยาว 79.63 กม. เรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวรและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำยาว 2,918 เมตร

ติดตามสถานการณ์น้ำเหนือกับกรมชลประทาน และกำหนดเกณฑ์การร่วมบริหารจัดการน้ำผ่านกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ติดตามสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูง และส่งเจ้าหน้าที่ตรวจตราจุดที่คาดว่าจะมีปัญหาน้ำรั่วซึมเข้าท่วมพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

รวมถึงตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาจำนวน 85 สถานี ให้พร้อมทำงานตลอดเวลา รวมทั้งแผนรับมือสถานการณ์ฝน ควบคุมระดับน้ำในคลอง เตรียมความพร้อมของอุโมงค์ระบายน้ำ แก้มลิง Water Bank บ่อสูบน้ำและสถานีสูบน้ำ ระบบคลอง ระบบท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าสำรอง เครื่องผลักดันน้ำ พร้อมทั้งเตรียมความพร้อม ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและปริมณฑล

ในส่วนของศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และสถานการณ์ฝนตลอด 24 ชม. และรายงานตรวจวัด ติดตาม แจ้งเตือนจากเรดาร์ตรวจวัดสภาพอากาศ 2 แห่ง (หนองแขม และหนองจอก) ซึ่งรายงานทุก 15 นาที ในแต่ละวัน พร้อมทั้งประสานแจ้งหน่วยปฏิบัติการเข้าแก้ไขสถานการณ์ เตรียมความพร้อมจุดตรวจวัดน้ำท่วม และให้การช่วยเหลือ และสนับสนุนสำนักงานเขตด้วย