TECHTIME : รัฐบาลจีนกับการลงดาบคุมโลกสตรีมมิ่ง

สตรีมมิ่ง จีน
คอลัมน์ : TECHTIME
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

4 มิถุนายนของทุกปี คือวันครบรอบการสังหารหมู่ที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน ที่คาดว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน และวันที่ 4 มิถุนายน ที่เพิ่งผ่านไปยังเป็นวันที่อินฟลูเอนเซอร์ที่มียอดผู้ติดตามมากที่สุดของจีนหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอยด้วย

“ลี เจียฉี” หรือ “ออสติน ลี” คือไลฟ์สตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามกว่า 64 ล้านคน บน Taobao แพลตฟอร์ม e-commerce ชั้นนำของจีน เขาได้รับฉายาว่าเป็น “China’s lipstick king” หลังทุบสถิติการไลฟ์ขายลิปสติกที่มียอดขายสูงถึง 15,000 แท่ง ภายในเวลาแค่ 5 นาที

แต่คืนวันที่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา รายการไลฟ์ของเขากลับตัดจบลงดื้อ ๆ หลังจากที่เขายกจานที่มีไอศกรีมหน้าตาคล้ายรถถังมาโชว์ให้สาวกดูเล่น ไม่กี่ชั่วโมงหลังปรากฏการณ์ “จอดำ” “ลี” โพสต์ข้อความขอโทษแฟนคลับว่า ที่รายการไม่สามารถดำเนินการต่อได้เป็นเพราะความผิดพลาดทาง “เทคนิค” และจะกลับมาไลฟ์ขายของอีกครั้งเร็ว ๆ นี้ แต่แฟนคลับก็รอเก้อ เพราะนับจากวันนั้น “ลี” ก็หายสาบสูญไปจากโลกออนไลน์แบบไร้คำชี้แจงใด ๆ

แม้บัญชีการใช้งานของเขาบน Weibo และ WeChat ยังคงอยู่ แต่ไม่มีการอัพเดตมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน

การหายตัวไปของ “ลี” ก่อให้เกิดกระแสข่าวลือมากมาย เพราะเป็นเรื่องผิดปกติมาก ๆ ที่คนอย่าง “ลี” ซึ่งปกติจัดรายการไลฟ์ปีละ 250 ครั้ง จะหายหน้าหายตาไปเฉย ๆ แต่ “ลี” ไม่ใช่อินฟลูเอนเซอร์คนเดียวของจีนที่เคยหายสาบสูญ

ก่อนหน้านั้น ฮวง เว่ย หรือ “Viya” เซเลบสาวออนไลน์ชื่อดัง ที่เคยทำยอดขายสินค้าเป็นเงินหลักพันล้านเหรียญก็หายหน้าไปเช่นกัน หลังโดนปรับเป็นเงิน 210 ล้านเหรียญ ข้อหาเลี่ยงภาษีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

แต่กรณีของ ฮวง ซึ่งเคยได้รับฉายาว่า “Livestreaming Queen” ของจีน อาจร้ายแรงกว่า “ลี” ตรงที่บัญชีของเธอบน Weibo Taobao และ Douyin ถูกลบทิ้งทันที ทำให้เธอหายหน้าไปจากวงการไลฟ์สตรีมมิ่งนับจากนั้น

การขึ้นเร็วลงเร็วของ อินฟลูเอนเซอร์จีน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเปราะบางของคนที่ทำมาหากินบนโลกออนไลน์ของจีน ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับสองของโลก

การไล่ปราบปรามอินฟลูเอนเซอร์ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ที่ต้องการเพิ่มระดับการควบคุมภาคเอกชนในเกือบทุกอุตสาหกรรม ตั้งแต่เทคโนโลยี การศึกษา ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์

นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศในปี 2012 “สี จิ้น ผิง” ต้องการปฏิรูปประเทศ และนำจีนสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้ง ผ่านมาตรการที่ออกแบบมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการคอร์รัปชั่น ขณะเดียวกัน ก็โปรโมตค่านิยมของท่านผู้นำต่อประชาชนคนรุ่นใหม่เพื่อปลูกฝังความภาคภูมิใจในชาติ

แนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การออกกฎระเบียบที่เข้มงวดเพื่อควบคุมทุกวงการ ทั้งธุรกิจ การศึกษา บันเทิง และวัฒนธรรม เพื่อให้อยู่ในกรอบที่รัฐบาลเห็นสมควร

ตั้งแต่ปลายปี 2020 มีการนำกฎระเบียบเพื่อป้องกันการผูกขาดมาใช้อย่างเข้มข้น ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ และความมั่นใจของนักลงทุน ทำให้มูลค่าของบริษัทชั้นนำหลายแห่งของจีนลดลงกว่า 3 ล้านล้านเหรียญ

“คาร่า วอลลิส” อาจารย์มหาวิทยาลัย Texas A&M University บอก CNN ว่ารัฐบาลจีนส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าไม่มีใครอยู่เหนืออำนาจการควบคุมของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรมมากมายเพียงใด ก็มีสิทธิโดนแบน หรือทำให้หายสาบสูญได้ทั้งนั้น

ความจริงที่ว่านี้ประกอบกับความไม่แน่นอนทางภูมิศาสตร์การเมือง ทำให้การลงทุนในจีนหรือในบริษัทสัญชาติจีนมีความเสี่ยงสูงในสายตาของนักลงทุน

“วอลลิส” เชื่อว่า การที่ “ลี” นำเอาไอศกรีม “รถถัง” มาโชว์ผ่านรายการไลฟ์ของเขา น่าจะเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์มากกว่าตั้งใจ เพราะนับตั้งแต่เหตุการณ์สังหารหมู่เทียน อัน เหมิน ในปี 1989 ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นโดน

เซ็นเซอร์อย่างหนัก ทั้งจากหลักสูตรของโรงเรียนและแหล่งข้อมูลต่าง ๆ จนเรียกได้ว่า เด็กที่เกิดหลังปี 1989 แทบไม่มีความรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นี้เลย รวมถึงตัว “ลี” และแฟนคลับของเขาด้วย

แต่เจ้าหน้าที่รัฐคงไม่มองเช่นนั้น เพราะการแสดงออกใดก็ตาม หากมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เทียน อัน เหมิน แม้เพียงเศษเสี้ยว เท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐแล้ว

“รองบิน ฮัน” นักวิชาการ จาก University of Georgia มองว่า การที่รัฐเซ็นเซอร์การไลฟ์ของ “ลี” ได้แทบจะทันทีหลังมีการโชว์ไอศกรีม “รถถัง” แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของกลไกการมอนิเตอร์ความเป็นไปบนออนไลน์ของจีนที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนน่ากลัว

หลังจากรายการไลฟ์ของ “ลี” โดนเซ็นเซอร์ได้เพียง 2 อาทิตย์ คณะกรรมการกำกับดูแลกิจการวิทยุและโทรทัศน์ และกระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ก็ร่วมกันออก “กฎระเบียบ” ใหม่ที่แบนการกระทำที่ไม่เหมาะสม 31 ประการของ ไลฟ์สตรีมเมอร์

โดยกำหนดให้สตรีมเมอร์ต้อง “ยึดถือและปฏิบัติตามค่านิยมทางการเมืองและสังคม” อย่างเคร่งครัด และต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่ผิดกฎหมายและคอนเทนต์ที่ส่งผลร้ายต่อสังคม อีกทั้งต้องไม่เผยแพร่ข้อมูลใดที่เป็นการลบหลู่ภาวะผู้นำของพรรคคอมมิวนิสต์

สตรีมเมอร์คนไหนที่ไม่ปฏิบัติตามจะโดนแบล็กลิสต์ และแบนถาวร

“วอลลิส” มองว่ากฎบางข้ออาจมีความจำเป็น เช่น การกำหนดให้ผู้ไลฟ์มีความรู้ในเรื่องที่ตัวเองเสนอ เช่น หากเป็นรายการให้ความรู้ทางการเงิน การแพทย์ หรือกฎหมาย ก็ควรต้องมีความรู้ในศาสตร์นั้น ๆ แต่กฎอื่น ๆ อาจออกมาเพื่อสนองนโยบายของรัฐในการเข้ามาควบคุมอุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมมิ่งที่กำลังเฟื่องฟูของจีนมากกว่า

อย่างไรก็ตาม การควบคุมอย่างเข้มงวดที่มาในจังหวะที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว อาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

จากรายงานของ iResearch Consulting Group พบว่าตลาดอีคอมเมิร์ซ ไลฟ์สตรีมมิ่ง ของจีน เคยมีมูลค่าสูงถึง 178 พันล้านเหรียญในปี 2020 และคาดว่าตัวเลขจะพุ่งขึ้นเป็น 726 พันล้านเหรียญในปี 2023 แต่เป็นตัวเลขก่อนเศรษฐกิจจีนจะเริ่มชะลอตัว

ปัจจุบันหากดูจากตัวเลขการเติบโตในไตรมาสล่าสุด เศรษฐกิจจีนโตขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้วเพียง 0.4% ถือเป็นอัตราการเติบโตที่ต่ำที่สุดนับจากปี 2020

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลยังเผชิญกับแรงกดดันจากความล้มเหลวในการดำเนินนโยบาย Zero-Covid ที่มาพร้อมการล็อกดาวน์หลายระลอกที่ยิ่งซ้ำเติมสภาพเศรษฐกิจให้บอบช้ำขึ้นกว่าเดิม

อุตสาหกรรม อีคอมเมิร์ซ ไลฟ์สตรีมมิ่ง เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัว สะท้อนเป็นตัวเลขยอดขายล่าสุดของเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ ที่จัดให้มีขึ้นทุกวันที่ 18 มิ.ย. พบว่ายอดขายเพิ่มขึ้นเพียงแค่ 0.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่เคยเติบโตถึง 27%

“เดวิด เครก” จาก University of Southern California บอกว่า การควบคุมอย่างเข้มข้นของรัฐมักเกิดขึ้นทุกครั้งก่อนมีการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อเลือกผู้นำคนใหม่ซึ่งจะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ และเขามองว่าเป็นการโหมโรงของ “สี จิ้น ผิง” ที่ต้องการครองตำแหน่งเลขาธิการพรรคเป็นสมัยที่สาม

แม้จะเชื่อกันว่าหลังการประชุมเสร็จสิ้นลง อาจมีการผ่อนคลายมาตรการบางอย่างเพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ แต่คำถามคือ ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นแล้ว จากการควบคุมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่เคยเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีน จะส่งผลกระทบต่อเป้าหมายของจีนในการเป็นมหาอำนาจโลกเพียงใด

การที่อินฟลูเอนเซอร์อย่าง “ลี” โดนเซ็นเซอร์ อาจเป็นแค่เหตุการณ์เล็ก ๆ ที่ไม่นานก็จะคงลืมเลือนไป แต่เป็นการส่งสัญญาณที่ชวนให้นักลงทุนอดเสียวไส้ไม่ได้ว่า ถ้าอินฟลูเอนเซอร์ยังโดนขนาดนี้ แล้วบิ๊กเทคจะต้องเจอวิบากกรรมขนาดไหน