ดีอีเอส-ดีป้า เดินเครื่อง 8 โครงการ อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล

ดีอีเอส-ดีป้า

กระทรวงดิจิทัล-ดีป้า ดึงเงินกองทุนดิจิทัลฯ พันล้านเดินหน้า 8 โครงการ เสริมแกร่งกำลังคน-ทักษะดิจิทัลประยุกต์ ฟูผลกระทบ 3.2 แสนล้านบาทในปี 2566

วันที่ 17 ตุลาคม 2565 นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกระทรวงดิจิทัลฯ มุ่งมั่นผลักดันประเทศไทยสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนและบุคลากรดิจิทัลของประเทศด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลแก่ประชาชนทุกช่วงวัยเพื่อนำไปสู่การเป็น “พลเมืองดิจิทัล”

อีกทั้งสามารถต่อยอดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสู่สาขาอาชีพแห่งอนาคต ควบคู่ไปกับการยกระดับ/ปรับทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานและบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลสัญชาติไทย ลดการพึ่งพาบุคลากรต่างชาติ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นของคนไทย ผลักดันกิจกรรมคลื่นลูกใหม่อย่างคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เกม และอีสปอร์ต

พร้อมกันนี้ยังมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม รายย่อย และชุมชนสามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลจากดิจิทัลสตาร์ตอัพและผู้ให้บริการดิจิทัลสัญชาติไทยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการทางธุรกิจ และเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานและระบบนิเวศดิจิทัลรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดถือเป็นกลไกสำคัญในการนำพาประเทศก้าวไปสู่ “ดิจิทัลไทยแลนด์”

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (Depa-ดีป้า) กล่าวว่า ดีป้า การพัฒนาคนสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลไม่มีวันสิ้นสุด ภายใต้แนวคิด “DIGITAL INFINITY หรือ “ดิจิทัลไม่มีที่สิ้นสุด” ใน 8 โครงการนี้ จึงให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2566-2570)

รวมถึงการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมใหม่ (New Wave Industry) และซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่ง DIGITAL INFINITY จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนากำลังคนดิจิทัล การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล การส่งเสริมเกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมโครงสร้างพื้นฐานรองรับการเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของประเทศ

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

โดย ดีป้า ได้ขออนุมัติใช้เงินจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่อนุมัติให้แล้วกว่า 1,000ล้านบาท ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนกับเอกชน และผู้ประกอบการทั้งสตาร์ตอัพและเอสเอ็มอี ทำให้วงเงินการลงทุนสำหรับการขับเคลื่อนชุดโครงการทั้ง 8 นี้เกือบ 3,000 ล้านบาท

“ดีป้า ประเมินว่าโครงการทั้งหมดจะช่วยสร้างมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 3.2 แสนล้านบาท ขณะที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมกับทุกโครงการ และได้รับการยกระดับทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานและประชาชนมากกว่า 6.2 ล้านราย”

โดยการส่งเสริมภาคธุรกิจให้เกิดแก่สตาร์ตอัพ เอสเอ็มอี หรือแม้กระทั่งผู้ว่าฯและนายกเทศมนตรีเมือง ภายใต้ 8 โครงการนี้ จะมีระยะเวลา 365 วัน ให้เกิดผลดำเนินการที่จะไปนำเสนอในงานใหญ่ “HACKaTHAILAND
2023 : DIGITAL INFINITY” มหกรรมแสดงเทคโนโลยีดิจิทัลระดับนานาชาติ โดยความร่วมมือระหว่าง ดีป้า และเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศที่จะมีขึ้นช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2566

“ลองนึกดูว่าในงานมหกรรมระดับนานาชาติ จะมีสปีกเกอร์จากหลายชาติบินลัดฟ้ามาร่วมพูดคุย เราจะได้เห็นบรรยากาศของการที่ผู้ว่าฯ หรือนายกเทศบาล-เทศมนตรี ขึ้นพิชชิ่งโครงการกับรัฐบาลและเอกชน”

มหกรรมดังกล่าวจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ และการถ่ายทอดประสบการณ์ด้านดิจิทัลให้กับประชาชนไทยทุกกลุ่ม พร้อมเปิดเวทีแลกเปลี่ยนมุมมอง แนวคิดด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจากผู้เชี่ยวชาญชาวไทยและต่างชาติ

สำหรับ 8 โครงการสำคัญ ประกอบด้วย

1.โครงการ HACKaTHAILAND 2023 : DIGITAL INFINITY โครงการสร้างความตระหนัก พร้อมยกระดับทักษะและองค์ความรู้ด้านดิจิทัลแก่ประชาชนไทย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลได้อย่างเหมาะสมและปลอดภัย ก่อนนำความรู้และทักษะที่ได้รับมาต่อยอดการเรียนรู้สู่อาชีพแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มเป้าหมายสำคัญ ประกอบด้วย นักเรียน นักศึกษา (Youth) นักศึกษาวัยหางาน และนักศึกษาจบ
ใหม่ (Future Career) ตลอดจนผู้ที่สนใจทำงานในสายดิจิทัล (Dig-preneur) และประชาชนทั่วไป

2.โครงการรถโรงเรียนรุ่นใหม่เด็กปลอดภัย (Smart School Bus Platform) โครงการป้องกันปัญหาเด็กถูกลืมไว้ในรถโรงเรียน โดยการนำ IOT Sensor มาใช้ตรวจจับความเคลื่อนไหว และคลื่นความร้อนของเด็กนักเรียนที่อยู่ในรถ ก่อนแจ้งเตือนไปที่ศูนย์ควบคุมของระบบ รวมถึงผู้ปกครองและครูผ่านโทรศัพท์มือถือ โครงการนี้เกิดจากปัญหาที่พบจริง ซึ่งสามารถต่อยอดได้หากกรมการขนส่งทางบกต้องการนำไปปรับใช้ในวงกว้าง

3.โครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ รุ่นที่ 2 (Smart City Ambassadors GEN 2) โครงการยกระดับทักษะการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการจ้างงานคนรุ่นใหม่รักบ้านเกิดในฐานะนักดิจิทัล
พัฒนาเมืองรุ่นใหม่ เพื่อขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะระดับท้องถิ่นทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลา 12 เดือน

4.โครงการยกระดับ e-Sports ไทยสู่สากล โครงการเตรียมความพร้อมคนรุ่นใหม่และผู้ที่สนใจให้สามารถต่อยอดการสร้างอาชีพด้าน e-Sports

5.โครงการผลักดันอุตสาหกรรมเกมไทยสู่ตลาดโลก (Thai Game Industrty to Global) เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเกมของประเทศไทยให้แสดงศักยภาพและพัฒนาเกม เตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันในอุตสาหกรรมเกมระดับสากล พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเกมไทยเจรจาการค้า จับคู่ธุรกิจ สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนต่างชาติ และขยายเครือข่ายความร่วมมือแก่ผู้ประกอบการ

6.โครงการ CONNEXION โครงการยกระดับและสร้างทักษะใหม่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ควบคู่กับการสร้างความตระหนักและความสามารถในการรับรู้สำหรับประชาชน ผู้ว่างงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่กำลังหางานให้มีความพร้อมต่อการประกอบอาชีพในยุควิถีใหม่

7.โครงการเปิดเมือง เปิดท่องเที่ยวไทยด้วยดิจิทัล โครงการสร้างความตระหนักและกระตุ้นการใช้แพลตฟอร์มดิจิทัล ภายใต้โครงการแพลตฟอร์มกลางธนาคารข้อมูล และโทเค็นดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลภาคเอกชนมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยผู้ประกอบการ และพร้อมเปลี่ยนผ่านสู่ยุค Data Economy

8.โครงการตลาดสดยุควิถีใหม่ (ขยายผล) โครงการสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกลุ่มผู้ประกอบการเจ้าของตลาด พ่อค้าแม่ค้า ร้านค้าหาบเร่ แผงลอย รวมถึง SMEs ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผ่าน 5 หลักสูตรออนไลน์

ผศ.ดร.ณัฐพลกล่าวทิ้งท้ายว่า การร่วมลงทุนกับเอกชน คือการช่วยแบกรับความเสี่ยงในสิ่งที่เอกชนหรือผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยยังกล้า ๆ กลัว ทำให้เขากล้ามากขึ้น อย่างน้อยเขาจะรู้สึกว่ารัฐบาลได้ร่วมลงทุนขับเคลื่อนธุรกิจไปพร้อมกับเขา