AIS เปิดตัวแคมเปญใหม่ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ลดเสี่ยงภัยไซเบอร์

AIS อุ่นใจไซเบอร์

AIS จับมือ กรมสุขภาพจิต-ตำรวจไซเบอร์ เปิดตัวแคมเปญใหม่ AIS อุ่นใจไซเบอร์ “มีความรู้ก็อยู่รอด” ย้ำความสำคัญของ “ความรู้” ในการเอาชนะภัยไซเบอร์

วันที่ 31 ตุลาคม 2565 AIS เปิดตัวแคมเปญสื่อสาร พร้อมหนังโฆษณาชุดใหม่ ภายใต้แนวคิด “มีความรู้ก็อยู่รอด” ตอกย้ำภารกิจเพื่อนคู่คิดดิจิทัลเพื่อคนไทยทุกเจเนอเรชั่น โดยชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของปัญหาจากภัยไซเบอร์ทุกรูปแบบ ที่วันนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย

และสิ่งเดียวที่จะทำให้เอาชนะภัยไซเบอร์ได้คือ “ความรู้” ซึ่งเรียนรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ จากการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน ทั้งกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ในมิติของการร่วมสร้างสุขภาวะดิจิทัลที่ดี รวมถึงกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือตำรวจไซเบอร์ ในด้านการดำเนินการทางกฎหมายกับกลุ่มมิจฉาชีพ

นางสายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า AIS เดินหน้าทำงานเพื่อความยั่งยืนเพื่อสร้างทักษะดิจิทัล ใน 2 มิติ คือ

1. นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในรูปแบบของบริการดิจิทัลที่ช่วยป้องกันภัยไซเบอร์

2. สร้างภูมิปัญญา องค์ความรู้ เพื่อส่งเสริมและสร้างทักษะดิจิทัลให้คนไทยรู้เท่าทัน อยู่กับโลกดิจิทัลได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์

ล่าสุด เปิดตัวหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ “อุ่นใจไซเบอร์” ยกระดับการเรียนการสอนในยุคดิจิทัล เพื่อปกป้องภัยไซเบอร์ สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลยุคใหม่ ตั้งแต่เด็กและเยาวชนไปจนถึงคนทั่วไป

“การทำงานอย่างต่อเนื่องทำให้เรามองเห็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น และในบางกรณีถึงขั้นสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน การปกป้องสร้างภูมิคุ้มกัน รวมถึงสร้างการตระหนักรู้จึงเป็นวาระเร่งด่วน และเป็นที่มาของการเปิดตัวแคมเปญการสื่อสารภายใต้แนวคิด มีความรู้ก็อยู่รอด เพราะเชื่อว่าสิ่งที่จะทำให้เราสู้กับทุกภัยไซเบอร์ได้คือ การมีความรู้”

นายพลัช ร่มไทรย์ ผู้กำกับภาพ Phenomena เสริมว่า ถือเป็นโจทย์ที่สนุกและท้าทายในการที่จะสื่อสารเรื่องภัยไซเบอร์ให้ออกมาแล้วสร้างความเข้าใจให้ผู้ชมได้ในวงกว้าง โดยเลือกที่จะชี้ให้เห็นว่าภัยเหล่านี้ เป็นปัญหาใหญ่แบบคอขาดบาดตาย ที่ทุกคนอาจตายได้หากไม่รู้ ไม่เข้าใจ และไม่มีวิธีรับมือ ซึ่งสิ่งเดียวที่จะช่วยให้รอดได้คือ ความรู้

“เราเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องแนวตลก สยองขวัญ ผ่านตัวละครผีที่โดนภัยไซเบอร์ในรูปแบบใกล้ตัวทำร้ายจนถึงขั้นเสียชีวิตเพื่อสื่อให้เห็นว่าทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อจากการใช้งานออนไลน์หรือแม้แต่สื่อดิจิทัลได้ตลอดเวลา และความรู้ เท่านั้นจะช่วยให้อยู่รอดได้”

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันนี้ยังมีคนไทยและเยาวชนมากมาย ที่เจอปัญหาภัยไซเบอร์และไม่สามารถรับมือได้อย่างเหมาะสม กรมสุขภาพจิต จึงมุ่งสื่อสารให้ทุกคนเข้าใจถึงทักษะด้านดิจิทัล โดยเฉพาะ Digital Literacy พร้อมกับการทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อสร้างการตระหนักรู้ เพื่อลดความสูญเสียทั้งต่อจิตใจ ชีวิต และทรัพย์สิน ด้วยการเสริมสร้างองค์ความรู้ที่จะอยู่รอดได้อย่างดีในโลกยุคดิจิทัลปัจจุบัน ก่อนที่จะแก้ไขไม่ทัน

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวว่า หัวใจสำคัญที่จะทำให้ภารกิจนี้สำเร็จได้คือพี่น้องประชาชนต้องมีสติรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ เชื่อว่าถ้าร่วมกันสื่อสาร และสร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนมีสติรู้เท่าทันโดยต้อง ไม่เชื่อ สรรพคุณอวดอ้างหรือการชักจูงในทุกรูปแบบ ไม่คุยกับสายที่ไม่มั่นใจ ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัว ไม่โอนเงินให้กับคนที่ไม่รู้จักผ่านการรับสายอย่างเด็ดขาด หากเข้าใจกระบวนการและวิธีการปฏิเสธได้ จะเป็นภูมิคุ้มกันชั้นดีที่ทำให้เราปลอดภัยจากโลกไซเบอร์ได้