โควิด ดัน “ดิจิทัลจีดีพี” ไทยปี’64 โตทะลุ 2 ล้านล้าน

สดช. เปิดตัวเลข Digital GDP ไทยปี 2564 ทะลุ 2 ล้านล้านบาท ฝ่าแรงต้านโควิด ขยายตัว 14.07%

วันที่ 1 พฤศจิกายน 2565 นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กล่าวแถลงผลการจัดทำ Digital GDP ประเทศไทย ประจำปี 2564 ว่ามีการขยายตัวที่น่าพอใจ สามารถฝ่าแรงต้านจากผลกระทบปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และปรับตัวสูงขึ้น 14.07% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยมีมูลค่า 2,098,627 ล้านบาท

ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าว ได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายลง ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัวได้บางส่วน โดยเฉพาะการผลิตสินค้าและบริการดิจิทัล ที่ปรับตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจทั่วไป ส่งผลให้ Digital GDP ในปี 2564 ปรับตัวเพิ่มขึ้น

“เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนร้อยละของ Digital GDP ต่อ GDP ในภาพรวมของประเทศ พบว่าในปี 2564 ยกระดับขึ้นมาอยู่ที่ 12.97% โดยปรับตัวจากปี 2563 ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 11.77% ค่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของระบบเศรษฐกิจไทยบางส่วนที่ปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจอื่นๆ ยังปรับตัวได้ไม่มากนัก ส่งผลให้การเติบโตของ GDP ในภาพรวมยังมีความล่าช้า เมื่อเทียบกับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงในอัตราที่สูงกว่า” นายภุชพงค์กล่าว

สำหรับการเปิดเผยภาพรวมตัวเลข Digital GDP ในครั้งล่าสุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งงานสัมมนา เพื่อเผยแพร่ผลการประมาณการมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลและประชาสัมพันธ์แนวทางการใช้ประโยชน์จากข้อมูล DESA (Digital Contribution to GDP) ปี 2563 และ 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และ ระยะที่ 2 ในปีที่ผ่านมา

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการวัดค่าเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการศึกษาวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากการปรับตัวเข้าสู่เทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ และใช้กำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ แนวทางวัดค่าเศรษฐกิจดิจิทัลดังกล่าว มีการจัดทำข้อมูลตามกรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่กำหนดนิยามและขอบเขตของเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ประเทศต่างๆ สามารถพัฒนาบัญชีบริวาร (Digital satellite accounts) ที่มีพื้นฐานมาจากบัญชีประชาชาติที่ใช้วัดสถิติผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการผลิต (Production approach) ด้านรายจ่าย (Expenditure approach) และด้านรายได้ (Income approach)

โดยประมวลผลจากแหล่งข้อมูลที่ครอบคลุมกิจกรรมเศรษฐกิจดิจิทัลในระดับพื้นฐาน (the core measure) ได้แก่ อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT sector) มีเดียและคอนเทนต์ และเศรษฐกิจดิจิทัลในความหมายแคบ (the narrow measure) ที่รวมถึงพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ บริการทางธุรกิจที่ผ่านช่องทางดิจิทัล เป็นต้น

นายภุชพงค์ กล่าวว่า มุ่งหวังให้ภาคส่วนต่างๆ นำข้อมูลเศรษฐกิจดิจิทัลไปใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนการพัฒนาเพื่อให้ก้าวไปสู่เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ในระยะต่อไป และย้ำว่า สดช. ให้ความสำคัญกับการร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อให้การวัดมูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัล มีความรวดเร็ว ครอบคลุม และเป็นไปตามมาตรฐานสากล