เปิดใจปลัดป้ายแดง ดีอีเอส วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ

ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ
ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพิ่งได้ปลัดกระทรวงคนใหม่ (คนที่ 4) แต่ถ้ารวมตั้งแต่สมัยยังเป็นกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ก็จะเป็นปลัดคนที่ 11

สำหรับปลัดใหม่ป้ายแดงแห่งกระทรวงดีอีเอสคนล่าสุด ศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ซึ่งถ้าย้อนพลิกดูประวัติการทำงานที่ผ่านมานับว่าไม่ธรรมดา เคยเป็นถึงอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม และอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี

และก่อนจะมากระทรวงดีอีเอส เคยนั่งเป็นประธานบอร์ด สํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA มาแล้วด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ “ศ.พิเศษ วิศิษฏ์” ในโอกาสรับตำแหน่งใหม่

ภารกิจเจ้ากระทรวงคนใหม่

ศ.พิเศษวิศิษฏ์กล่าวว่า เพิ่งเข้ามาทำงานเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา จึงยังถือว่าเป็นมือใหม่มาก แต่ได้มีการพูดคุยกับปลัดเดิม (อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย) ทีมงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงได้รับนโยบายจากรัฐมนตรีมาแล้วจึงคาดว่าจะสานงานต่อจากเดิมได้ ทั้งโดยส่วนตัวมีความชื่นชอบในเรื่องเทคโนโลยีเป็นทุนเดิม จากการที่มีพี่น้องเรียนด้านเทคโนโลยี เพียงแต่ตนหันไปมุ่งทำงานด้านกฎหมาย

“ความชื่นชอบในเทคโนโลยีถือเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งในการทำงาน และเคยทำงานตั้งแต่ยังเป็นกระทรวงไอซีที โดยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย ในคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จนหมดวาระ ต่อมายังได้เป็นคณะกรรมการ ในสํานักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA จนปัจจุบัน

แม้ไม่ได้ทำงานในกระทรวงนี้โดยตรง แต่เห็นแนวทางการพัฒนา และมีความเชื่อว่าจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านหน่วยราชการไปสู่ดิจิทัล ซึ่งได้พยายามทำตั้งแต่อยู่กระทรวงยุติธรรม โดยผลักดันให้กระทรวงต่าง ๆ เป็นหน่วยงานที่ไร้กระดาษ”

สำหรับนโยบาย และทิศทางในการขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นของประเทศจะมี 4 เรื่อง คือ 1.สร้างความปลอดภัยบนเครือข่ายดิจิทัล (safe & secured) 2.เข้าถึงบริการดิจิทัลในราคาสมเหตุสมผล (reasonably affordable) 3.ขยายเครือข่ายให้ทั่วถึงลดความเหลื่อมล้ำ (widely available) และ 4.มีนวัตกรรมใหม่ ๆ (innovation)

“มั่นคง-ปลอดภัย” ต้องมาก่อน

“ศ.พิเศษวิศิษฏ์” ขยายความว่า ในโลกดิจิทัล ความมั่นคงและปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก หากไม่มีการจัดการระบบนิเวศให้ปลอดภัยจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการจัดการมิจฉาชีพในระบบดิจิทัลที่จะต้องเร่งดำเนินการ โดยเริ่มจาก “ป้องกัน และยับยั้งปัญหาสแกม” หรือการหลอกลวงทางดิจิทัล ช่วยให้หน่วยงานอื่น ๆ

เช่น ปปง. ทำงานง่ายขึ้น โดยการสร้างระบบการระบุอัตลักษณ์ของบัญชีการใช้งานต่าง ๆ โดยเฉพาะบัญชีธนาคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นจุดหมายของการหลอกลวง มีการเชื่อมต่อข้อมูลธนาคาร โดยใช้ AI บ่งชี้อัตลักษณ์บัญชีว่าบัญชีไหน คือ บัญชีม้า ที่เปิดมาเพื่อหลอกลวงโดยเฉพาะ

“ปกติแต่ละธนาคารจะดูข้อมูลข้ามธนาคารไม่ได้ เอื้อให้เกิดการโอนเงินไปยังบัญชีที่ไม่มีอัตลักษณ์ เราจึงมีการพูดคุยกับธนาคารกลาง เพื่อทำฐานข้อมูลบัญชีกลาง และเตรียมหาแนวทางเสนอข้อกฎหมายเพิ่มอำนาจให้ธนาคารยับยั้งการธุรกรรมที่ต้องสงสัยชั่วคราวได้”

ด้านการค้าและอีคอมเมิร์ซ ก็มีปัญหาเรื่องความปลอดภัยมากเช่นกัน จากการส่งเสริมให้คนเข้าไปใช้แพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นของต่างประเทศ แม้จะมีระบบจัดการดูแลอยู่ แต่การหลอกลวงมักไม่ได้มาจากแพลตฟอร์มจึงจะทำอย่างไรให้คนซื้อ และคนขายเชื่อมั่นในความปลอดภัยระหว่างกัน โดยเฉพาะการโอนเงินที่ควรมีระบบกลางมาดูแล และมี market place ที่ดี เพื่อคัดกรองคน

“เราชักชวนแพลตฟอร์มทั้งของไทย และต่างประเทศมาพูดคุย เพื่อหาทางสร้างระบบกลางขึ้นมาดูแลธุรกรรม โดยนอกจากต้องเพิ่มกลไกการตรวจสอบโอนเงินแล้ว ยังต้องเพิ่มกลไกในการระงับข้อพิพาทเรื่องการโอนเงินในการซื้อขายแบบอีคอมเมิร์ซด้วย เราได้ขอให้สถาบันอนุญาโตตุลาการของกระทรวงยุติธรรมมาเป็นหลักในการศึกษาข้อพิพาทเพื่อสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น”

สร้างกลไกส่งเสริมการแข่งขัน

ศ.พิเศษวิศิษฏ์กล่าวด้วยว่า สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันลำดับถัดไป คือทุกคนต้องเข้าถึงบริการดิจิทัลในราคา “ไม่แพง” ด้วยการมีกลไกที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันด้านบริการ และราคา

“เราส่งเสริมให้ NT (บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) เข้าร่วมเครือข่าย Asian Digital Hub ในการที่จะทำให้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของไทยเชื่อมกับต่างประเทศได้มากขึ้น ทำให้ราคาอินเทอร์เน็ตต่ำลง รวมถึงการสนับสนุนอินเทอร์เน็ตประชารัฐที่ให้บริการฟรีในบางจุด

เรายังเชื่อว่าควรให้ service provider แข่งขันอย่างเป็นธรรม ถ้าสนับสนุนได้จะทำให้ราคาเป็นไปตามกลไกตลาด เราพร้อมพูดคุยกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กสทช. เพื่อผลักดันสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น”

ดิจิทัลลดเหลื่อมล้ำชูนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม โลก “ดิจิทัล” เป็นโลกไร้พรมแดน จึงเข้าถึงง่ายได้จากทุกที่ นำมาสู่แนวคิดในการขยายเครือข่ายทั่วถึงเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ หรือ widely availability ลดช่องว่างระหว่างเมืองและชนบท

“เราไม่อยากเห็นช่องว่างของผู้คน ถ้ามีอินเทอร์เน็ตมาช่วยแล้วจัดการดี ๆ เด็กในเมืองและชนบทจะสามารถเรียนไปพร้อมกันได้ เราต้องทำให้ดินแดนที่อยู่ชายขอบสามารถเข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ตได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ

เช่น ด้านการศึกษา, การแพทย์ (เทเลเมดิซีน) หรือแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซ เป็นต้น เมื่อมีอินเทอร์เน็ตเป็นตัวเชื่อมจะช่วยกระจายความกระจุกในเมืองได้ ทำให้คนต่างจังหวัดไม่ต้องเข้ามาในเมือง ทำให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดเติบโตมากขึ้น”

ส่วนการผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ หรือเทคโนโลยีขั้นสูงภายในประเทศ เช่น เมตาเวิร์ส, บล็อกเชน และอื่น ๆ ต้องขับเคลื่อนไปพร้อมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศไม่ตกขบวนการพัฒนา

เป้าหมาย 6 เดือนแรก

ปลัดป้ายแดงกระทรวงดีอีเอสพูดถึงเป้าหมายการทำงานในช่วง 6 เดือนแรกด้วยว่า สิ่งแรกที่จะต้องทำคือรับหน้าที่เป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ โดยช่วยให้หน่วยราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค รวมถึงท้องถิ่นต่าง ๆ หันมาปรับใช้ระบบ paperless หรือไร้กระดาษ

“การใช้ระบบเปเปอร์เลสไม่แพงแล้ว เราให้แพลตฟอร์มช่วยให้บริการ ไม่ว่าจะเป็น สพร.ก็ดี ของ NT ก็ดี หรือ De-Solution ของไอเน็ตก็เก็บเงินไม่แพงกรณีหน่วยราชการเข้าไปใช้ ทำให้ไม่ต้องลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเลย ใช้เงินประมาณ 1 แสนบาทต่อหน่วย เทียบกับค่ากระดาษ และประสิทธิภาพการทำงานที่เร็วขึ้น”

โดยใน 6 เดือนจากนี้จะเริ่มเห็นหน่วยราชการต่าง ๆ มีการขยับ และปรับเปลี่ยนตนเอง

“ผมยืนยันได้ว่า สตง.ก็ดี กรมบัญชีกลางก็ดี สามารถทำระบบดิจิทัลให้รองรับได้ ก่อนหน้านี้อาจมีความไม่เข้าใจกันระหว่างหน่วยงานราชการที่จะใช้ระบบ paperless และหน่วยงานตรวจ ซึ่งเราพูดคุยและทำความเข้าใจร่วมกันแล้ว ตอนนี้หน่วยงานส่วนกลาง 20 กระทรวง มีเพียง 3 กระทรวง ปรับการทำงานเป็น paperless ได้แล้ว

คือ กระทรวงดีอีเอส, กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงการต่างประเทศ คาดว่าเป้าต่อไปคือ สำนักนายกฯ ที่หากเปลี่ยนแล้วจะช่วยเร่งกระทรวงอื่น ๆ ให้เดินหน้าได้ และสำหรับหน่วยงานในท้องถิ่น 7,000 แห่ง จะใช้แพลตฟอร์มกลาง ซึ่งดีอีเอสเป็นคนคิด และนำไปให้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก”

ของขวัญปีใหม่คนไทย

ศ.พิเศษวิศิษฏ์ย้ำว่า ถ้าเปลี่ยนหน่วยงานราชการเป็น “ดิจิทัล” ได้ จะลดความสูญเสียหลายอย่าง และส่งผลต่อความรวดเร็วในการทำงานของราชการด้วย

“อีกเรื่องที่อยากให้เร็วมาก ๆ คือ การจัดการปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ เราตั้งใจไว้กับท่านรัฐมนตรีชัยวุฒิว่าภายใน 1 เดือนนี้ จะเริ่มเห็นผลบางอย่างในแง่การทำงานนี้ และในช่วงปีใหม่จะได้ระบบแจ้งเตือนมิจฉาชีพผ่านแอปพลิเคชั่นเป๋าตังเป็นของขวัญปีใหม่ให้ประชาชน”

สำหรับบทบาทของกระทรวงดีอีเอสในการผลักดันให้หน่วยงานราชการปรับตัวไปสู่ “ดิจิทัล” ตลอดจนการแก้ปัญหามิจฉาชีพออนไลน์นั้น ในแง่ระบบต่าง ๆ มีความพร้อมอยู่แล้วจึงจะเข้าไปช่วยพัฒนาส่วนเสริมอื่น ๆ นอกจากกฎหมายที่ต้องปรับแก้ให้ทันแล้ว

สิ่งที่สำคัญและต้องแก้ คือ “ไมนด์เซต” ยกตัวอย่างการทำระบบ paperless ที่มักมีหน่วยงานต่าง ๆ บอกว่า “ทำไม่ได้” ซึ่งดีอีเอสจะต้องเข้าไปช่วยเป็นคนกลางในการนำแพลตฟอร์ม และนวัตกรรมต่าง ๆ ที่มีอยู่แล้วเข้าไป และปรับไมนด์เซต เพื่อให้เกิดการนำมาปรับใช้มากขึ้น