เอ็นที เร่งเกมปรับองค์กร ลดคน-ปั้นธุรกิจใหม่หนีเส้นตายปี 68

พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์

ทีโอที และแคท ควบรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ เอ็นที ตั้งแต่ 7 ม.ค. 2564 ที่ผ่านมา แม้จะไม่ได้เป็นดีลที่โด่งดัง และเป็นที่จับตาเท่ากรณี ทรู-ดีแทค แต่เส้นทางกว่าจะรวมกันได้ก็ผ่านมาแล้วไม่รู้กี่รัฐบาล มาสำเร็จจบกันได้ที่รัฐบาลนี้

อย่างไรก็ตาม การควบรวมเป็นแค่สเต็ปแรก ยังมีงานยากรออยู่อีกไม่น้อย ทั้งการปรับโครงสร้างองค์กร และกระบวนการทำงานภายใน ก็ไม่ใช่ว่าปรับครั้งเดียวแล้วจบเลย

เดินหน้าปรับองค์กรต่อเนื่อง

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี พันเอก สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ยอมรับว่าแม้จะมีการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดไปเมื่อ ต.ค.ปีที่แล้ว ลดความซ้ำซ้อน และลดค่าใช้จ่ายในการบริหารงานลงได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังจะมีแผนการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่อีกรอบในปีนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

และลดต้นทุนลงต่อเนื่องให้ได้มากกว่านี้อีก 10-15% รวมถึงมุ่งหน้าไปสู่ธุรกิจดิจิทัลแบบใหม่ เพื่อสร้างรายได้ทดแทนธุรกิจดั้งเดิม ทั้งการบริหารทรัพยากรโทรคมนาคม ทั้งคลื่นความถี่ และโครงสร้างพื้นฐานที่จะหายไปในอนาคต

กับเป้าหมายในการปรับองค์กรจากผู้ให้บริการโทรคมนาคมสู่ Tech Company ภายใต้แนวคิด Neutral Operator เพิ่มมูลค่าธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน

“เราเป็นองค์กรขนาดใหญ่จึงต้องควบคุมต้นทุนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อลดรายจ่ายในองค์กรให้ได้ต่อเนื่อง เน้นการจัดการเพื่อลดต้นทุนโครงข่าย และระบบเครือข่ายการสื่อสารที่ซ้ำซ้อน ร่วมกับการเร่งกระบวนการจัดการภายในทั้งระบบ IT และข้อมูลภายในที่มีจำนวนมาก เพื่อบูรณาการฐานข้อมูลเป็นหนึ่งเดียว ส่วนด้านบุคลากร ได้มีโครงการเกษียณก่อนอายุ เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรต่อเนื่อง”

แจงผลประกอบการปี’65

สำหรับผลประกอบการ 11 เดือน/2565 มีรายได้รวม 84,013 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 82,369 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,644 ล้านบาท และประมาณการสิ้นปี 2565 มีรายได้รวม 91,528 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายรวม 90,209 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,319 ล้านบาท

โดยมีรายได้จาก 5 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจ mobile 50,820 ล้านบาท หรือ 55% ของรายได้, ธุรกิจ fixed line & broadband และ sattellite รวม 19,930 ล้านบาท หรือ 22% ของรายได้, ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและเสาโทรคมนาคม 9,486 ล้านบาท หรือ 10% ของรายได้, ธุรกิจ international 2,178 ล้านบาท

หรือ 3% ของรายได้, ธุรกิจ digital และ IDC & Cloud รวม 3,902 ล้านบาท หรือ 4% ของรายได้ และรายได้อื่น ๆ 5,212 ล้านบาท หรือ 6%

“ส่วนหนึ่งที่ยังทำกำไรได้ ทั้งที่ทำแผนประจำปีแบบขาดทุนไว้ ก็เพราะโครงการเกษียณก่อนอายุ (early retirement) เดิมตั้งเป้าไว้ 1,800 คน แต่ทำมา 600 คน จึงนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้คอนเวิร์ตกลับมาจนเป็นกำไร”

ทำไมต้องเป็นปี 2568

“สรรพชัยย์” กล่าวว่า รายได้ที่เอ็นทีเคยได้จากสัญญาของเอไอเอส ในคลื่น 2100 Mhz ของทรูในคลื่น 2300 MHz และดีแทค 850 Mhz จะหายไปในปี 2568 รวมแล้วกว่า 60,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้รวมในปัจจุบัน รวมถึงรายได้อื่น ๆ ที่เกิดจากพันธมิตรก็จะลดลงตาม

ทำให้ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมอยู่ในขาลง หรือเรียกได้ว่าเป็น “sunset” จึงจะต้องเร่งบริหารจัดการ เพื่อหารายได้ส่วนอื่นมาทดแทน

แบ่งเป็น 1.เร่งสร้างรายได้กลุ่มดิจิทัลใหม่ ๆ โดยร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ เช่น 5G แพลตฟอร์ม, คลาวด์ หรือบริการดิจิทัลต่าง ๆ และ 2.ปรับลดคนต้องเป็นไปตามแผนให้เหลือ 9,000 คน (ปัจจุบัน 1.4 หมื่นคน) เพื่อลดการทำงานซ้ำซ้อน และทำให้รายได้เฉลี่ยต่อพนักงานสูงขึ้น

“การพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ไม่น่ากังวล แต่ความเสี่ยงเดียวของเราก่อนถึงปี 2568 คือการลดจำนวนคนไม่เข้าเป้า ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้พนักงานลาออกไป ผมก็คงทำได้แค่บอกเขาว่า นี่เป็นความจำเป็น และเป็นการทำเพื่อองค์กร”

อัพคลื่น 700 MHz-26 GHz

การสร้างธุรกิจดาวรุ่งที่จะเห็นในปีนี้ คือบริการ 5G โดยจะเสนอ ครม. ในไตรมาส 1/2566 นี้ ก่อนให้บริการลูกค้าได้จริงในปลายไตรมาส 2 หรือ 3/2566 เพื่อพัฒนาคลื่นความถี่ 700 MHz และ 26 GHz

“คลื่น 700 MHz เป็นการลงทุนติดตั้งโครงข่าย 4G ใช้ทดแทนคลื่น 850 MHz เพื่อดูแลลูกค้าที่มีในระบบเดิมกว่า 2 ล้านเลขหมาย และอาจเพิ่มเป็น 4 ล้านเลขหมายในแง่ธุรกิจมือถือ เราแทบจะแข่งขันกับเอกชนไม่ได้เลย เราจึงจะไปโฟกัสที่อุปกรณ์ IOT ที่กำลังเติบโตอย่างมาก”

“ทั้งในภาคครัวเรือน และอุตสาหกรรม ทำให้รองรับการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล ทั้งยังเชื่อมต่อกับคลื่นความถี่ 26 GHz ที่ใช้ในการพัฒนา 5G สำหรับพื้นที่เฉพาะ โดยเสริมด้วยสายใยแก้วนำแสงที่เชื่อมโยงครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ”

อีกบริการที่คาดว่าจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นคือ โครงการเคเบิลใต้น้ำเส้นใหม่ ASIA DIRECT CABLE ที่จะเปิดใช้ในปีนี้

“กรณีสายเคเบิลใต้น้ำ บริษัทต่างชาติให้ความสนใจ เพราะช่วงนี้เขามาลงทุนมาก โดยเฉพาะ data center ทั้งแอมะซอน หรือหัวเว่ย ที่ต้องการเช่าใช้สายเคเบิล แต่เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทต่างชาติเหล่านี้จะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะมีฐานลูกค้า และในที่สุดก็จะลงทุนทำเอง เราจึงต้องมองเผื่ออนาคตไว้ด้วย”

สปินออฟธุรกิจ-ต่อยอดของเดิม

และในปีนี้จะมีความร่วมมือกับเอกชนหลายรูปแบบ รวมถึงแยก (spin off) ธุรกิจกลุ่มบริการดิจิทัลออกมาตั้งเป็นบริษัท 1-2 บริษัท ด้าน Cloud และ IT security รวมถึงลงทุนหรือมีส่วนร่วมในธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโต เช่น smart city, data management service, environment, health care, EV, gaming, big data

รวมถึงเทรนด์เทคโนโลยีอย่าง AI AR/VR robotic/automation และ green energy เพื่อให้ดำเนินธุรกิจที่แข่งขันได้ และสร้างผลกำไรมากกว่าโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม

อย่างไรก็ตาม จุดแข็งของเอ็นทีปัจจุบันคือ โครงสร้างพื้นฐาน และทรัพย์สินเดิมที่มี จึงต้องมุ่งต่อยอดและสร้างโอกาสใหม่ ๆ เช่น รักษารายได้จากการให้เช่าพื้นที่ เสาโทรคมนาคมกว่า 30,000 ต้น และยุบรวมเสาในบริเวณเดียวกัน เพื่อลดต้นทุนในการให้บริการ รวมถึงขยายเพิ่มพื้นที่เฉพาะ เช่น อุทยาน, ป่าไม้ เป็นต้น

ส่วนท่อร้อยสายใต้ดิน มีแผนร่วมกับการไฟฟ้าตามนโยบาย กสทช. พร้อมกับมีแนวทางพัฒนาบทบาทเป็น neutral operator และ neutral last mile provider เพื่อผู้ให้บริการใช้โครงสร้างร่วมกันได้ทั้งเสาโทรคมนาคม และสายสื่อสาร core fiber โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม เช่น บริการบรอดแบนด์ ผู้ให้บริการไม่ต้องลงทุนสายทั้งหมด แต่ใช้โครงข่ายกลาง และลากเฉพาะสาย last mile เข้าสู่บ้าน เพื่อให้บริการลูกค้าได้

ย้ำบทบาทรัฐวิสาหกิจ

นอกจากต้องปรับตัวเพื่อแข่งขัน และหารายได้เลี้ยงองค์กรแล้ว ชัดเจนว่าอีกภารกิจสำคัญของ “เอ็นที” คือการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล ล่าสุดกับการเข้าร่วมประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และได้รับสิทธิ 1 วงโคจร ชุดที่ 4 (126E) ให้บริการครอบคลุมภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และทะเลจีนใต้ ที่ราคา 9.076 ล้านบาท

ทั้งคงสิทธิความจุ 400 Mbps และสิทธิในการบริหารจัดการช่องสัญญาณดาวเทียมในวงโคจร 119.5E ของภาครัฐไว้ด้วย

สำหรับวงโคจร 126E ที่ประมูลได้ จะทำให้ NT เพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการดาวเทียมได้เต็มรูปแบบทั้งทางเทคโนโลยี และบุคลากร เป็นการส่งเสริมกิจการอวกาศ และรักษาวงโคจรของประเทศ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างองค์กรล่าสุดที่มีเพิ่มการจัดตั้งสายงานดาวเทียม และโครงข่าย

เพื่อดำเนินภารกิจด้านดาวเทียม ทั้งบริหารจัดการ และการสนับสนุนการขาย บริการสื่อสารผ่านดาวเทียม เกตเวย์ และสถานีภาคพื้นดิน รองรับการก้าวสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรระดับต่ำ low earth orbit (LEO) และดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า (GEO)

“วงโคจรที่ กสทช. นำมาใช้ในการประมูล เป็นวงโคจรเชิงพาณิชย์ ส่วนการใช้งานด้านความมั่นคง เอ็นที จะประสานกับ กสทช. ให้ได้มา ซึ่งวงโคจรสำหรับวัตถุประสงค์ดังกล่าว โดยบริษัทตระหนักดีถึงความสำคัญของการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของประเทศ และพิจารณาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และความคุ้มค่าในการลงทุนประกอบกัน”

“เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในภาพรวมของประเทศในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการสื่อสาร สาธารณสุข การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ และสังคม”