Bolt แพลตฟอร์มเรียกรถน้องใหม่จากเอสโตเนีย เปิดศึกชิงส่วนแบ่งตลาด ride-hailing 7.6 หมื่นล้าน พร้อมอัดฉีดเงินกว่า 300 ล้านบาทจัดโปรโมชั่นจูงใจลูกค้าหวังใช้ไทยเป็นสปริงบอร์ดบุกตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฟาก “ไรเดอร์-พาร์ตเนอร์คนขับ” โอดหลังต้องเริ่มจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้งาน 15%
นายณัฐดลย์ สุขศิริฐานันท์ ผู้จัดการประเทศไทย Bolt แพลตฟอร์มเรียกรถ (ride-hailing) จากประเทศเอสโตเนีย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านแอปพลิเคชั่นมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะเมื่อสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ผู้คนกลับมาเดินทางอีกครั้ง ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายตบเท้าเข้าสู่ตลาดนี้ รวมถึง Bolt ที่ขยายธุรกิจมายังประเทศเทศไทย ก่อนขยายไปยังประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
“คนไทยที่มาใช้บริการแอปเรียกรถยังไม่เท่ากับประเทศอื่น ๆ ในโลก ที่ใช้ระบบนี้ในชีวิตประจำวันได้ จึงยังมีโอกาสเติบโต แต่ยอมรับว่ามีคู่แข่งอีกมากที่เข้ามาได้ อย่างในไทยเองมี 70 ล้านคน แต่สัดส่วนที่มาใช้แอปเรียกรถน้อยกว่า 10% มีมูลค่าตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะสูงถึง 75,000 ล้านบาท
และน่าจะโตอย่างน้อยอีก 9.4% ถึงปี 2028 จะอยู่ที่ 1.6 แสนล้านบาท เราก็โฟกัสในธุรกิจตัวเอง และอยากเป็นที่ 1 มีฐานลูกค้าและฐานคนขับที่ใหญ่ และเป็นทางเลือกคนในเมือง”
ย้อนเส้นทาง Bolt ก่อนมาไทย
นายณัฐดลย์กล่าวว่า Bolt เป็นดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติเอสโตเนีย ที่ใช้กันแพร่หลายในทวีปยุโรป ในอีก 45 ประเทศ 300 หัวเมืองใหญ่ มีฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านคน และการเกิดที่เอสโตเนีย ซึ่งเป็นประเทศที่เน้นการพัฒนาด้านดิจิทัลจึงมีความพร้อมด้านพัฒนาเทคโนโลยีด้วยต้นทุนที่ต่ำ จึงสามารถสเกลในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว และสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
“ยิ่งเราขยายไป 45 ประเทศ จึงมีกรณีศึกษา ทั้งในมุมคนขับและผู้โดยสาร ซึ่งเราจะนำมาใช้พัฒนาระบบต่าง ๆ และการบริการได้ดีขึ้น”
“สำหรับตลาดประเทศไทยมีปัจจัยสนับสนุนหลายด้าน เช่น การมีกลุ่มประชากรที่มีความคุ้นชินการใช้แอปพลิเคชั่น หรือความนิยมในการใช้ระบบไร้เงินสด อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการเดินทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก ซึ่งนักท่องเที่ยวคุ้นเคยกับ Bolt อยู่แล้ว ไทยจึงมีดีมานด์ทั้งในฝั่งคนขับ และผู้โดยสาร เราจึงเลือกที่จะเริ่มต้นในไทยก่อนไปประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย
โดย Bolt เริ่มเข้ามาให้บริการในไทย ตั้งแต่ 2563 ด้วยปัจจัยความพร้อมต่าง ๆ จึงเห็นการเติบโตชัดเจนในฝั่งคนขับ จำนวนรอบ จำนวนเที่ยว ปีต่อปีโต 3 ดิจิต เป็นเอ็กโปเนียนเชียล มีพาร์ตเนอร์คนขับ หรือ ‘ไรเดอร์’ นับหมื่นคน และมีโอกาสขยายเป็นแสนคนได้ในเวลาอันใกล้นี้”
ดังนั้นไทยจึงเหมาะสมที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของโบลด์ในอาเซียนและเป็นฮับแรก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่บริษัทจะขยายธุรกิจไป
“ตลอดหลายปีมานี้เราร่วมงานกับกรมการขนส่งทางบก จนกระทั่งได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา จึงเริ่มสื่อสารกับพาร์ตเนอร์คนขับ ว่าจะเริ่มมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% เพื่อให้มีเงินไหลเวียนกลับเข้ามาสู่ระบบ”
คนขับโอด รายได้ลดกลับเก็บ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่ากลุ่มคนขับ หรือ “ไรเดอร์” ที่รวมตัวกันอยู่ในคอมมิวนิตี้ต่าง ๆ ได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% ของ Bolt ว่าทำให้การเปิดแอปรับส่งคนไม่คุ้มค่าอีกต่อไป ในมุมมองของผู้ใช้งาน จากที่ผ่านมาการคำนวณค่าโดยสาร Bolt มักต่ำกว่าคู่แข่งรายอื่นในตลาด แต่เมื่อเก็บค่าคอมมิชชั่นเพิ่มยิ่งทำให้คนขับมีรายได้ลดลง
ก่อนหน้านี้ Bolt ไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นกับคนขับ ทำให้เมื่อระบบคิดค่าโดยสารเท่าไหร่ คนขับก็จะได้รับเต็มจำนวน จนเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทุกเที่ยวการเดินทาง Bolt จะหักไว้ 15% ทำให้คนขับจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้บริษัท หรือผู้โดยสารช่วยรับภาระด้วย
ขณะเดียวกัน เมื่อ Bolt เริ่มหักค่าคอมมิชชั่นกับคนขับ ก็เริ่มมีโปรโมชั่นส่วนลดให้ผู้โดยสารด้วยเช่นกัน และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่เข้ามาเปิดให้บริการในประเทศไทย
นายณัฐดลย์กล่าวว่า Bolt การชาร์จคอมมิชชั่น 15% เป็นอัตราที่จะไม่ส่งผลกระทบกับคนขับมากเกินไป และไม่คิดว่าเพื่อทำให้ต่ำกว่าคู่แข่งในตลาด แต่มองว่าเป็นอัตราที่คนขับและผู้โดยสารรับได้ สามารถโตไปร่วมกันได้
ทุ่ม 300 ล้านบาท ชิงผู้ใช้
นายณัฐดลย์กล่าวว่า ภายใน 3-5 ปีข้างหน้า บริษัมมีแผนลงทุน 300 ล้านบาทเน้นในเรื่องของค่าตอบแทน ส่วนลด โปรโมชั่น และโบนัสต่าง ๆ เพื่อดึงดูดผู้ใช้งาน รวมถึงการพัฒนาฟีเจอร์ใหม่ ๆ และสร้างระบบที่ช่วยให้คนขับมีรายได้เสริมมากขึ้น ถือเป็นการลงทุนกลับสู่ระบบและผู้โดยสาร และขยายไปยังเมืองอื่น ๆ เพิ่มเติม
ผู้จัดการ Bolt ประเทศไทย มองว่า ตลาดในไทยมีอีกหลายอย่างที่พัฒนาได้ และต่างจากประเทศอื่น เช่น คนไทยนิยมเดินทางเป็นกลุ่ม เรียกรถคันเดียวลงหลายจุด หรือเดินทางกับเพื่อนกับครอบครัวไปหลายสถานที่ จึงจะต้องพัฒนาระบบให้รองรับสิ่งเหล่านั้น
และอีกส่วนคืออยากขยายบริการไปยังลูกค้ากลุ่มใหม่ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ รองรับสังคมสูงวัย รวมถึงกลุ่มที่ไม่สามารถเดินทางด้วยตนเองทำให้พวกเขาใช้ระบบง่ายที่สุด จากปัจจุบันคนที่ใช้ Bolt ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ วัยนักศึกษา
เล็งขยายบริการเพิ่มเติม
ณัฐดลย์เสริมด้วยว่า Bolt มีบริการหลัก 6 อย่าง คือ บริการเรียกรถ, ฟู้ดดีลิเวอรี่, เช่าสกู๊ตเตอร์, เช่าจักรยานไฟฟ้า, บริการเช่ารถ และบริการสำหรับลูกค้าองค์กร
สำหรับปี 2566 จะขยายบริการไปยังกลุ่ม B2B ให้ลูกค้าองค์กรที่ต้องการใช้รถในการเดินทางไปทำงานอยู่เป็นประจำ และสามารถลดต้นทุน หรือใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสวัสดิการพนักงานได้
“เราจะทำให้บริษัทสามารถติดตามการเดินทางให้พนักงานมีความปลอดภัยมากขึ้น อย่างการเดินทางไปทำงานที่ต่างจังหวัด อีกทั่งพื้นที่ บริการก็จะขยายเพิ่มไม่หยุดแค่กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต ที่ผ่านมาการทำตลาดของเราใช้การบอกแบบปากต่อปาก และมีออนไลน์มีเดียในเฟซบุ๊กมากที่สุด เพราะคนไทยใช้เฟซบุ๊กมากที่สุด แต่หลังจากนี้คงจะต้องเริ่มทำการตลาดจริงจังให้คนเห็น Bolt ทั่วเมือง”
นายณัฐดลย์กล่าวว่า บริษัทโฟกัสที่การสร้างจำนวนรอบที่เสร็จสิ้นให้มากที่สุดในอุตสาหกรรม เมื่อได้จำนวนรอบเยอะขึ้น ก็จะทำให้คนขับมีรายได้มากขึ้น
“ใน 1 ชั่วโมง เราต้องการทำระบบให้คนขับมีรอบเยอะที่สุด และมองการแข่งขันตรงนี้ มากกว่าการแย่งมาร์เก็ตแชร์ด้วยฐานผู้ใช้ หรือเม็ดเงินที่จ่ายในระบบ ต้องการสร้างสมดุลระหว่างคนขับที่เพียงพอ กับความต้องการของผู้โดยสาร เพื่อให้บริการได้ต่อเนื่อง
ปัจจุบัน ทำได้ 1 ชม./รอบวิ่ง แต่อยากให้ได้มากกว่านี้ โดยพยายามทำระบบให้ฉลาดที่สุด และช่วยส่งเสริมบริการของคนขับ เช่น เมื่อคนขับใกล้จะเสร็จรอบแอปจะเด้งขึ้นมาเลยว่า มีคนต้องการนั่งรถคุณอยู่ใกล้ ๆ เราจะระบุเลยว่าจุดจบรอบปัจจุบันถึงจุดนัดรอบต่อไประยะเวลาเท่าไหร่ทำให้คนขับตัดสินใจได้ดีขึ้นว่าจะรับงานนี้หรือไม่ เทคโนโลยีเป็นจุดแข็งของเรา เราทำได้ดีและมีต้นทุนต่ำ”