Bolt เปิดเกมเขย่าตลาดแอปเรียกรถ คนขับโอดหลังโดนเรียกเก็บ 15%

ที่มาภาพ: bolt.eu/en/blog/bolts-response-to-barcelonas-ride-hailing-regulations/

ส่องแอปเรียกรถน้องใหม่ Bolt เปิดเกมดีเดย์เก็บค่าคอมมิชชั่นคนขับ 15% พร้อมควัก 300 ล้านบาท ปูพรมบุกตลาดในไทย ฟาก “คนขับ” โอด เก็บค่าคอมมิชชั่น 15% แต่ค่าวิ่งรถถูกกว่าคู่แข่ง 

วันที่ 13 มิถุนายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า Bolt แอปพลิเคชั่นเรียกรถสัญชาติเอสโตเนีย ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ จากกรมการขนส่งทางบกเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2566 และได้เริ่มเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% จากพาร์ตเนอร์คนขับในวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา และเริ่มมีโปรโมชั่นสำหรับผู้ใช้งานแอปเรียกรถแล้ว

ด้านพาร์ตเนอร์ผู้ขับหรือ “ไรเดอร์” ของ Bolt จำนวนมากที่รวมตัวกันในโซเชียลมีเดียต่างวิพากษ์วิจารณ์นโยบายเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% ของ Bolt ว่าทำให้การเปิดแอปรับส่งคนไม่คุ้มค่า เนื่องจาก Bolt มีจุดเด่นในเรื่องค่าโดยสารที่ถูกกว่าคู่แข่งในตลาดอยู่แล้ว แต่เมื่อเก็บค่าคอมมิชชั่นเพิ่มยิ่งทำให้รายได้ลดลง

ก่อนหน้านี้ Bolt ยังไม่มีการเก็บค่าคอมมิชชั่นกับคนขับ ทำให้เมื่อระบบคิดว่าโดยสารเท่าไหร่ คนขับจะได้รับเต็มจำนวน จนเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา รายได้คนขับถูกหัก 15% ทุกเที่ยวการเดินทาง ทำให้พาร์ตเนอร์คนขับจำนวนมากแสดงความไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้บริษัท หรือผู้โดยสารช่วยรับภาระค่าคอมมิชชั่นด้วย แทนที่หักทั้งหมดจากคนขับ  รวมถึงมีการชักชวนให้พาร์ตเนอร์รายอื่น ๆ ยกเลิกการขับรถกับ Bolt

สำหรับ Bolt เป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการขนส่งสัญชาติเอสโตเนีย ที่ให้บริการทั้งในส่วนของการเรียกรถโดยสาร/แท็กซี่ ให้เช่าจักรยาน/สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า และโซลูชั่นขนส่งสำหรับองค์กรธุรกิจ ซึ่งดำเนินการใน 46 ประเทศ และมีฐานผู้ใช้งาน 100 ล้านคนทั่วโลก แต่สำหรับในประเทศไทยยังมีเฉพาะบริการเรียกรถ (Ride Hailing) ซึ่งเริ่มเข้ามาให้บริการตั้งแต่ปี 2020 โดยไม่เก็บค่าคอมมิชชั่นหรือค่าใช้งานระบบจากพาร์ตเนอร์คนขับ จึงมีค่าโดยสารราคาถูกกว่าคู่แข่ง ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ

นายณัฐดลย์ สุขศิริฐานันท์ ผู้จัดการประเทศไทยของ Bolt ได้เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อัตราการเรียกเก็บค่าคอมมิชชั่น 15% เป็นการคำนวณแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม เพื่อที่จะให้มีรายได้เติมกลับเข้ามาให้แพลตฟอร์ม สามารถนำไปบริหารจัดการระบบ ที่จะทำให้ผู้ใช้งานทั้งในฝั่งพาร์ตเนอร์คนขับและผู้ใช้แอปพลิเคชั่นได้รับประโยชน์สูงสุด และไม่กระทบกับรายได้ของพาร์ตเนอร์คนขับมากจนเกินไป

นอกจากนี้ Bolt ยังมองว่าประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่เข้ามาให้บริการในเอเชีย และตั้งใจจะให้เป็นศูนย์กลางในการขยายธุรกิจของ Bolt ในภูมิภาคนี้ ดังนั้นจึงมีงบประมาณในการลงทุน 300 ล้านบาท ในระยะเวลา 3-5 ปี เพื่อพัฒนาระบบและขยายฐานผู้ใช้งาน เพื่อขึ้นสู่การเป็นผู้นำในตลาดขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่จะมีมูลค่าสูงถึง 1.6 แสนล้านบาท ในปี 2028 (พ.ศ. 2571)

“เงินเหล่านี้จะนำไปหมุนเวียนเพื่อสร้างสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ใช้งาน รวมถึงเรื่องของโปรโมชั่น และจะส่งเสริมรายได้ของไรเดอร์หรือพาร์ตเนอร์คนขับ ให้มีรายได้ที่เพียงพอและต่อเนื่อง และการเริ่มเก็บคอมมิชชั่น 15% มองว่าจะเป็นการทำให้ Bolt แข่งขันได้ และไม่กระทบกับผู้ขับมากนัก”

ปัจจุบันผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งทางอิเล็กทรอนิกส์ จากกรมการขนส่งทางบก มีจำนวน 6 ราย ได้แก่ แกร็บ Grab, โรบินฮู้ด Robinhood, ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส Hello Phuket Service, เอเชีย แค็บ Asia Cab, บอนกุ Bonku, แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอป Airasia Super App และโบลต์ Bolt