ชัยวุฒิลั่นเตรียมร้องศาลสั่งปิด Facebook หลักฐานพร้อมภายในสิ้นเดือน ให้ศาลสั่งปิดภายใน 7 วัน เหตุเพิกเฉยและรับประโยชน์จากมิจฉาชีพลงโฆษณาหลอกลงทุน-หลอกขายของออนไลน์
วันที่ 21 สิงหาคม 2566 นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธวัชชัย พิทยโสภณ รักษาการเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)
นายชัยชนะ มิตรพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และพลตำรวจตรี ฐายุฏฐ์ จันทร์ถาวร รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พร้อมด้วยภาคเอกชน เข้าร่วมประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาการซื้อโฆษณาผ่าน Facebook หลอกประชาชนลงทุน รวมถึงการชักชวนลงทุน โดยแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทจดทะเบียน และสัญลักษณ์ของ ก.ล.ต. โดยไม่ได้รับอนุญาต
นายชัยวุฒิกล่าวว่า ดีอีเอสอยู่ระหว่างการเรียบเรียงหลักฐานจากผู้กระทำความผิดบน Facebook เพื่อส่งศาลให้มีการปิด Facebook ภายในสิ้นเดือนนี้ และขอให้ศาลสั่งปิด Facebook ภายใน 7 วัน เนื่องจากแพลตฟอร์มได้รับการโฆษณาจากผู้กระทำความผิด และหลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อในการลงทุนและซื้อสินค้าบน Facebook
“ที่ผ่านมามีผู้เสียหายมากกว่า 200,000 ราย จาก 300,000 ราย มีมูลค่าความเสียหายมากกว่า 10,000 ล้านบาท ถ้า Facebook อยากทำธุรกิจในประเทศไทย เขาต้องแสดงความรับผิดชอบกับสังคมไทย ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงได้คุยกับ Facebook อยู่ตลอด แต่กลับไม่สกรีนผู้มาลงโฆษณา ทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับความเสียหายมูลค่าหลายล้านบาท”
ปัจจุบันโจรไซเบอร์ หลอกให้ประชาชนหลงเชื่อและโอนเงินออกจากบัญชีด้วยกลวิธีใหม่ ๆ เช่น การเทรดเหรียญดิจิทัลผ่านแอปพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์, การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล, การลงทุนกับบริษัทปล่อยเงินกู้, การลงทุนหุ้นทอง, การร่วมลงทุนประมูลสินค้าเพื่อรับผลตอบแทนสูง, การลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศ และการลงทุนหุ้นในเครือบริษัทชื่อดัง
นอกจากนี้ มิจฉาชีพมักปลอมเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงเรื่องการเงินและการลงทุน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการหลอกลวงและเข้าหาผู้เสียหายผ่านการแฝงตัวเข้าไปอยู่ในกลุ่มสังคมออนไลน์ของผู้ที่สนใจด้านการลงทุน
โดยทางกระทรวงได้มีการส่งหนังสือขอให้บริษัท เมตา (ประเทศไทย) จำกัด หรือเฟซบุ๊ก (Facebook) ดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีการซื้อขายโฆษณาบนแพลตฟอร์มและส่งข้อมูลให้ Facebook ทำการปิดกั้นโฆษณาหลอกลวงไปแล้วกว่า 5,301 โฆษณา/เพจปลอม อีกด้วย
ทั้งนี้ ดีอีเอสและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ก.ล.ต.หรือตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการเสนอการลงทุนดังกล่าว และประชาชนสามารถตรวจสอบรูปแบบกลโกงของมิจฉาชีพได้ดังนี้
- มิจฉาชีพมักจะมีการโฆษณาชักชวนโดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนสูงเกินจริง โดยใช้เวลาลงทุนไม่นานและง่ายดาย เป็นอีกรูปแบบที่ทำให้มีผู้หลงเชื่อเป็นจำนวนมากเพราะคาดหวังในผลตอบแทนดังกล่าว เช่น เงินลงทุน 10,000 บาท ระยะเวลา 15 วัน จะได้รับกำไร 50%
- การันตีผลตอบแทน โดยกำหนดเป็นตัวเลขที่แน่นอน เช่น 30% ต่อสัปดาห์ หรือการการันตีว่าจะได้รับผลตอบแทนแน่นอน หากลงทุนไม่เป็นก็มีผู้เชี่ยวชาญคอยลงทุนให้
- อ้างชื่อบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือมีการนำภาพของดารา ศิลปิน หรือนักธุรกิจชื่อดังต่าง ๆ มาแอบอ้างว่าบุคคลเหล่านั้นก็ร่วมลงทุนด้วยเช่นกัน เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือในการลงทุน
- ไม่สามารถตรวจสอบธุรกิจได้ หากมีการชักชวนให้ร่วมลงทุนแต่ไม่มีสินค้า ไม่มีแผนธุรกิจ หรืออ้างว่าแพลตฟอร์มอยู่ต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบข้อมูลการเงินไม่ได้ ก็เข้าข่ายว่าอาจจะเป็นมิจฉาชีพ
- ให้รีบตัดสินใจลงทุน โดยมักจะเสนอสิทธิพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเหล่านั้นให้ เช่น หากไม่ลงทุนตอนนี้จะพลาดโอกาสที่ได้ผลตอบแทนดี ๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้รีบตัดสินใจลงทุน