หลอกในหลอก มิจฉาชีพแห่ซื้อโฆษณารับฟ้องร้องมิจฉาชีพ

เตือนมุกใหม่มิจฉาชีพปลอมเว็บเป็นทนาย ที่ปรึกษา และหน่วยงานรัฐ เช่น ศูนย์ดำรงธรรม-ศูนย์รับแจ้งอาชญากรรมออนไลน์ของตำรวจไซเบอร์ หลอกให้แจ้งความกับเว็บปลอม อ้างช่วยติดตามคดี-ฟ้องร้อง-ตามเงินคืนได้ หวั่นประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกซ้ำ

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เว็บไซต์ปลอมที่อ้างตัวเป็นทนายหรือผู้เชี่ยวชาญในการทวงเงินคืนจากมิจฉาชีพในโลกออนไลน์กำลังระบาดหนัก และมีการโหมซื้อโฆษณาหรือยิงแอดเพื่อแสดงผลในหน้าแรกของการค้นหาในกูเกิลทั้งยิงแอดในโซเชียลมีเดีย นอกจากนี้ยังมีการปลอมเป็นเว็บไซต์ศูนย์ดำรงธรรม ศูนย์รับแจ้งอาชญากรรมออนไลน์ของตำรวจไซเบอร์ หวั่นประชาชนเข้าใจผิด ถูกลวงซ้ำซ้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หน่วยงานภาครัฐ และหน่วยงานประชาสังคมต่าง ๆ กำลังเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับรู้เป็นวงกว้างเกี่ยวกับช่องทางการติดต่อร้องทุกข์แจ้งความ เมื่อโดนมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน หรือถูกดูดเงินจากบัญชี ไม่ว่าจะเป็นตำรวจไซเบอร์ที่เป็นศูนย์แจ้งความออนไลน์ หรือธนาคารต่าง ๆ ที่ออกมาชี้แจงขั้นตอนการแจ้งระงับธุรกรรมชั่วคราว จากการทำธุรกรรมกับบัญชีต้องสงสัยเป็นมิจฉาชีพ

ในขณะเดียวกันก็ทำให้มิจฉาชีพสบช่องปลอมเป็นเพจหรือเว็บไซต์ให้ความรู้ และให้ความช่วยเหลือ ตลอดจนรับแจ้งความเมื่อโดนหลอกดูดเงิน รวมถึงเพจเฟซบุ๊กที่ปลอมเป็นหน่วยงานรัฐต่างระดมซื้อโฆษณาทั้งผ่านโพสต์และคลิปสั้น Reels

ตัวอย่างเช่น เพจศูนย์ดำรงธรรม สมุทรสาคร หรือได้ซื้อโฆษณาบน Meta Ads จำนวน 3 โพสต์ เกี่ยวกับการรับแจ้งความออนไลน์ และเบาะแสมิจฉาชีพ เกี่ยวกับโดนโกงเงินออนไลน์ เว็บไซต์สำหรับ แจ้งความออนไลน์ เฉพาะในหมวดหมู่คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อที่ศูนย์ดำรงธรรม จังหวัดสมุทรสาคร ได้รับคำตอบว่าเพจที่ซื้อโฆษณาเป็นเพจปลอม

เพจ-เว็บไซต์ปลอม มีการซื้อโฆษณาจาก Google และ Meta (Facebook)

ล่าสุด ตำรวจไซเบอร์ ได้ออกมาเตือนภัยบน เพจเฟซบุ๊กทางการ แล้วว่า ให้ประชาชนระวังเว็บไซต์แจ้งความออนไลน์ปลอมด้วย

ADVERTISMENT

มีการยิงโฆษณา (Ad) เว็บไซต์ปลอม หลอกเหยื่อที่ต้องการแจ้งความร้องทุกข์ออนไลน์ ให้เผลอกดเข้าลิงก์ปลอม จากนั้นหลอกลวงผู้เสียหายซ้ำอีก

หากประชาชนต้องการแจ้งความคดีออนไลน์ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่
https://thaipoliceonline.com/

ADVERTISMENT

โทร.ปรึกษาสอบถาม 1441 หรือ 08-1866-3000
หรือแอดไลน์ @police1441 แชตบอตกับหมวดขวัญดาว ตลอด 24 ชั่วโมง

วิธีเช็กเว็บไซต์-เพจปลอม

ในกรณีของเว็บเพจปลอมบนเฟซบุ๊ก ตำรวจไซเบอร์ แนะวิธีตรวจสอบดังนี้

6 ทริกจับเพจปลอม

    1. เพจต้องได้รับการยืนยัน มีเครื่องหมายรับรองตัวตน Verified badge
    2. ดูรายละเอียดของเพจ เช่นวันที่สร้างเพจ และเพจเคยมีการเปลี่ยนชื่อเพจมาก่อนหรือไม่ ถ้าเพจนั้นเพิ่งสร้างขึ้นมาไม่นานหรือมีการเปลี่ยนแปลงชื่อเพจให้คิดไว้ก่อนว่าอาจจะเป็นเพจปลอม
    3. ระวังโดนหลอกยอดคนถูกใจ เพราะเพจปลอมมักมีผู้ติดตามน้อย มิจฉาชีพ อาจพิมพ์ยอดผู้ติดตามปลอมไว้ที่รายละเอียดของเพจ ซึ่งถ้ามองผ่าน ๆ ก็จะคล้ายจำนวนผู้ติดตามจริง
    4. ชื่อเพจสะกดถูกต้องหรือไม่ มิจฯมักทำเลียนแบบ อาจจะมีจุดหรืออักขระพิเศษ เช่น เพจจริง thaipolice เพจปลอมอาจจะเติม thaipoliice เป็นต้น
    5. การโพสต์เนื้อหาและโต้ตอบในเพจ จำนวนคนกดไลก์ และคอมเมนต์ คือในแต่ละโพสต์อาจจะมีผู้คนสนใจและโต้ตอบน้อย หรืออาจจะมีคอมเมนต์ที่ตำหนิ เช่น สั่งสินค้าไปไม่ได้รับของเลย
    6. สังเกตที่ url ของเพจอาจเป็นคำแปลก ๆ ที่ไม่มีความหมาย

กรณีโอนเงินผิดบัญชี หนือต้องสงสัยว่าโอนเงินให้มิจฉาชีพ ต้องทำอย่างไร

ตำรวจไซเบอร์ ระบุว่า

กรณี “เรา” เป็นคนโอนเงินผิดบัญชี
1.เมื่อรู้ว่าโอนเงินไปผิดบัญชี ให้ติดต่อธนาคารที่เราเปิดบัญชี
2.เตรียมหลักฐาน หรือเอกสารต่าง ๆ เช่น สลิปใบบันทึกรายการ, สำเนาบัตรประชาชน, ข้อมูลวันเวลาและจำนวนเงินที่ทำรายการ, เลขและชื่อบัญชีที่เราโอนผิด เป็นต้น
3.ธนาคารรับทราบปัญหา และแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้เราทราบ

กรณี “เขา” โอนเงินผิดมาบัญชีของเรา
1.เมื่อมีสายติดต่อมาแจ้งเรื่องโอนเงินผิด ให้สอบถามให้ชัดเจนว่า โอนมาจากธนาคารอะไร วันและเวลาอะไร จำนวนเงินเท่าไหร่
2.เราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบข้อมูล ถ้าพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี

ธนาคารจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อบัญชีปลายทาง เพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป

ถ้าผู้รับโอน “ยินยอม” คืนเงิน ธนาคารก็จะโอนเงินส่วนเดิมเข้าบัญชีให้กับเราเอง

ถ้าผู้รับโอน “ไม่ยินยอม” คืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ แจ้งความกับตำรวจ เพื่อมีผลทางกฎหมายให้ธนาคารผู้รับโอนดำเนินการอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ส่วนกรณีที่ต้องสงสัย หรือมั่นใจแล้วว่ามีเงินโอนออกจากบัญชีเราโดยไม่มีสาเหตุ หรือถูกมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงินซื้อสินค้า หรือบริการแล้วไม่มีอยู่จริง หรือข่มขู่ด้วยกลโกงต่าง ๆ

เมื่อมีการโอนเงินออกจากบัญชีแล้ว
1.ให้แจ้งธนาคาร เพื่อขอระงับบัญชี และธุรกรรมชั่วคราว 72 ชม.
2.ให้แจ้งความกับตำรวจ หรือแจ้งความออนไลน์
3.ติดตามผลการดำเนินคดีและติดตามเงินคืน หากเงินยังไม่ถูกโอนออกจากประเทศหรือระบบธนาคารก่อนระงับธุรกรรมมีโอกาสติดตามได้สูง ดังนั้นหากโดนหลอกให้รีบแจ้งธนาคารก่อนโดยเร็วที่สุด