เปิดวิจัย Cyberbullying เยาวชนไทยกับความเสี่ยงยุค 4.0

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบัน “อินเทอร์เน็ต” กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวคนทุกเพศทุกวัย และสมาร์ทโฟนกลายเป็นอุปกรณ์จำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นช่องทางเผยแพร่ข้อมูลทำร้ายจิตใจของคนคนหนึ่งได้อย่างรวดเร็วและแพร่หลาย แค่ “คลิก” โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่นที่ยังขาดการยั้งคิดและไม่รู้เท่าทัน

“รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล” ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ หรือ cyberbullying หมายถึง การกลั่นแกล้งโดยใช้สื่อดิจิทัล เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แท็บเลต โพสต์ ส่ง หรือแชร์ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปวิดีโอที่มีเนื้อหาด้านลบของผู้อื่นสู่โลกออนไลน์ เพื่อล้อเลียนให้ผู้ถูกกลั่นแกล้งอับอายหรือเสื่อมเสียชื่อเสียง

ผลการศึกษาเรื่อง “การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น” ซึ่งได้ดำเนินการภายใต้ความร่วมมือกับอีก 13 มหาวิทยาลัยทั่วโลก อาทิ ฟินแลนด์, ลิทัวเนีย, รัสเซีย, อิสราเอล, จีน, ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เวียดนาม, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ไอซ์แลนด์, นอร์เวย์, กรีซ โดยเป็นการสำรวจในช่วงระหว่างมกราคม-ธันวาคม 2560

สำหรับในประเทศไทยได้สำรวจกลุ่มนักเรียนมัธยมต้น อายุระหว่าง 12-16 ปี จำนวน 3,667 คน จาก 8 โรงเรียนในกรุงเทพมหานคร พบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้งานโซเชียลมีเดีย 4.8 ชั่วโมงต่อวัน ใช้งาน YouTube มากที่สุด 82.79% LINE 82.17% เฟซบุ๊ก 74.48%55.9% รับคนไม่รู้จักเป็นเพื่อน

ข้อมูลที่น่าสนใจและน่าตกใจคือ 56.5% ใช้รูปจริงโชว์เป็นรูปโปรไฟล์ในการใช้งานโซเชียลมีเดีย 55.9% มีคนอื่นที่ไม่รู้จักมาก่อนเป็นเพื่อนในโซเชียลมีเดียด้วย 46.9% เคยแชตกับคนแปลกหน้า 6.4% เคยนัดพบกับคนแปลกหน้า และ 65% เคยให้เพื่อนยืมใช้สมาร์ทโฟน ขณะที่ยัง log in อยู่บนโซเชียลมีเดีย 28% เคยลืม log out หลังเลิกใช้คอมพิวเตอร์สาธารณะ

ขณะที่การใช้งานโซเชียลมีเดีย มีถึง 48% ที่มีผู้อื่นรู้รหัสผ่านเข้าบัญชีใช้งาน ซึ่ง 32.5% คือเพื่อน อีก 26.3% คือพ่อแม่ และ 80% รู้วิธีตั้งความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน แต่มีเพียง 39% เท่านั้นที่ตั้งไว้ตลอดเวลา กว่า 30% เคยแกล้ง-ถูกแกล้ง โดยมี 37.8% เคยถูกกลั่นแกล้ง และ 34.6% เคยแกล้งผู้อื่น ซึ่งเมื่อแยกตามเพศแล้ว เพศหญิงจะเคยแกล้งผู้อื่น 37% เคยถูกแกล้ง 40.8% ขณะที่เพศชาย 32% เคยแกล้งผู้อื่น และ 34.7% จะเคยถูกแกล้งทั้งยังมีถึง 39.1% ที่เคยแชร์หรือกดไลก์เวลาเห็นข้อความ รูปภาพ หรือคลิปของเพื่อนที่กำลังถูกแกล้งบนโลกไซเบอร์ (bystander)

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังถูก cyberbullying พบว่า มี 2.2% ที่จะไม่ไปโรงเรียน 6.6% ครอบครัวไม่เข้าใจ ตำหนิ ซ้ำเติม 8.3% เพื่อนเข้าใจผิดเลิกคบ 9% นอนไม่หลับ 18.6% ต้องการแก้แค้น 23.1% เศร้า เครียด วิตกกังวล และ 32.1% รู้สึกโกรธ

ยิ่งเสพติดออนไลน์ยิ่งเสี่ยงสูง

กลุ่มที่กลั่นแกล้งผู้อื่นยังมีพฤติกรรมเกเร สมาธิสั้น มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ขณะที่พฤติกรรมติดสื่อสังคมออนไลน์ยังมีความสัมพันธ์กับการเป็นผู้กลั่นแกล้ง ผู้ถูกแกล้ง ผู้ที่ร่วมกดไลก์กดแชร์ (bystander)

“คนที่ติดสังคมออนไลน์มากมีแนวโน้มจะเป็นผู้กลั่นแกล้งผู้อื่นบนโลกไซเบอร์มากกว่าคนที่ไม่ติดออนไลน์ถึง 3.25 เท่า ในทางกลับกัน ผู้ที่ติดสังคมออนไลน์มากก็มีแนวโน้มจะเป็นผู้ถูกกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์มากกว่าคนที่ไม่ติดถึง 2.13 เท่า ทั้งยังมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กดไลก์/แชร์ ข้อความ รูปภาพ หรือคลิปที่กำลังถูกแกล้งบนโลกไซเบอร์มากกว่าคนที่ไม่ติดออนไลน์ 2.38 เท่า”

หยุดพฤติกรรมเสี่ยง

รศ.นพ.ชาญวิทย์ย้ำว่า การใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยมีผลสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์อย่างมาก การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวมากยิ่งเป็นความเสี่ยง ทั้งการรับคนอื่นที่ไม่รู้จักมาเป็นเพื่อน การแชตหรือออกไปพบกับคนแปลกหน้า ใช้รูปจริงเป็นรูปโปรไฟล์ การไม่ตั้งค่าความเป็นส่วนตัวในการใช้งาน การปล่อยให้ผู้อื่นรู้รหัสเข้าใช้งาน รวมถึงไม่ log out ออกเมื่อใช้งานเสร็จหรือให้ผู้อื่นยืมใช้โทรศัพท์

“การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนจะต้องมองไปถึงต้นตอของปัญหา นั่นคือการสร้างวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม ในการร่วมกันแก้ปัญหาและปลูกฝังวัฒนธรรมนี้”

เด็กเปลี่ยนวิธีสร้างสัมพันธ์

“ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) เปิดเผยว่า จากข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการสำรวจความคิดเห็นของครัวเรือนในประเทศไทยเกี่ยวกับการใช้ไอซีทีเมื่อปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นมีสูงถึง 80-90% โดยผู้ที่มีอายุ 19-25 ปี 95.6% ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางสมาร์ทโฟน

“การแปลงข้อมูลดิจิทัลทำให้โลกเปลี่ยนไป เด็ก ๆ ทั่วโลกหันมาใช้ออนไลน์มากขึ้น เด็ก ๆ เปลี่ยนวิธีที่จะสร้างและรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนของตนเอง รวมถึงการใช้เวลาว่างด้วยการฟีดวิดีโอ วิดีโอโซเชียลมีเดียและเกมแบบ immersive อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการกลั่นแกล้งบนอินเทอร์เน็ตและภาวะซึมเศร้าในที่สุด”

ดีแทคจึงได้จัดทำโครงการ Safe Internet ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดเวิร์กช็อปให้ความรู้กับนักเรียนกว่า 27,000 คนทั่วประเทศ รวมถึงเปิดบริการห้องแชต “Child Chat Line” เพื่อให้คำปรึกษากับเด็ก ๆ ที่มีปัญหาถูกกลั่นแกล้ง โดยตั้งแต่ มิ.ย. 2560 มีผู้เข้ามาปรึกษาแล้ว 278 คน และมีผู้เข้าชมเว็บไซต์กว่า 40,000 ครั้ง เป็นสิ่งยืนยันถึงปัญหานี้ในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ดีอีเปิดช่องปรึกษา

“พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ผลกระทบจากการใช้อินเทอร์เน็ตในกลุ่มเด็กและเยาวชนเริ่มเห็นปัญหาได้ชัดขึ้น จึงได้บริการให้คำปรึกษาผ่าน “Stop Bullying Chat Line” ทั้งจะประสานกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เพื่อให้เข้ามาให้คำปรึกษาเบื้องต้นทางเทคนิคสำหรับการส่งต่อกรณีที่มีการกลั่นแกล้งรังแกในโลกออนไลน์ ในช่วงเวลา 16.00-22.00 น.ของทุกวัน รวมถึงจัดกิจกรรมอบรมการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนด้วย