ไทยคม สยายปีก Space Tech ธุรกิจใหม่ ตั้งเป้าโกย 200 ล้านบาท

ไทยคม จับมือ โกลบอลสตาร์

ไทยคม จับมือ โกลบอลสตาร์ เปิด “สถานีดาวเทียมวงโคจรต่ำแห่งแรกในประเทศไทย สยายปีกจากธุรกิจดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ลุยขายอุปกรณ์ไอโอที อุปกรณ์ติดตามนักท่องเที่ยว เจ้าหน้าที่ลาดตระเวน และเซ็นเซอร์ที่ส่งสัญญาณได้ในพื้นที่ห่างไกล วางเป้าเป็นธุรกิจใหม่รายได้ 200 ล้านบาทในปีหน้า

วันที่ 21 ธันวาคม 2566 นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม กล่าวว่า การสร้างสถานีเพื่อให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ LEO Satellite Constellation แห่งแรกในประเทศไทย ตั้งอยู่ ณ สถานีดาวเทียมไทยคม เป็นความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับผู้ให้บริการดาวเทียมระดับโลกอย่าง “โกลบอลสตาร์” สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาวของไทยคมในการที่จะเป็นบริษัทเทคโนโลยีอวกาศชั้นนำ (Space Tech)

ไทยคม จับมือ โกลบอลสตาร์

“ดาวเทียมวงโคจรต่ำของโกลบอลสตาร์ มี 24 ดวง และจะเพิ่มเป็น 48 ดวง ซึ่งโครงข่ายดาวเทียมนี้โคจรไปรอบโลกตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเป็นดาวเทียมปล่อยสัญญาณแบบ Narrow Band ซึ่งเหมาะกับการใช้ในอุปกรณ์ไอโอทีขนาดเล็ก แต่สัญญาณครอบคลุมทั่วโลกตลอดเวลา เหมาะกับการให้บริการด้านความปลอดภัย การติดตามทรัพย์สิน และการบริการโซลูชั่นอุปกรณ์ IOT ซึ่งนับเป็นประโยชน์ในหลายอุตสาหกรรม เช่น การท่องเที่ยว การเดินเรือ ประมง เจ้าหน้าที่ป่าไม้/รัฐ ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันประเทศ เป็นต้น”

ในเรื่องการลงทุนนั้น โกลบอลสตาร์ เป็นผู้ลงทุนสร้างโครงสร้างและจ่ายค่าเช่าที่ดิน ค่าปฏิบัติการ และค่าซ่อมบำรุงให้กับไทยคม

ทั้งไทยคมยังสามารถช่วยขายอุปกรณ์ และโซลูชั่นไอโอที ซึ่งทำให้ไทยคมได้ส่วนแบ่งทางหนึ่ง ขณะเดียวกันโกลบอลสตาร์ก็จะมีผู้ใช้งานดาวเทียมมากขึ้น

ADVERTISMENT

อุปกรณ์ติดตามราคาเฉลี่ยราว 10,000 บาท ซึ่งไม่ใช่แค่ซื้ออุปกรณ์ รายได้จะมาจากค่าใช้บริการรายเดือน (Air time) ราว 1,000 บาทต่อเดือน

ไทยคม จับมือ โกลบอลสตาร์

ADVERTISMENT

ไทยคมตั้งเป้าว่าจะขายอุปกรณ์ไอโอทีได้ราว 10,000 เครื่องในปีหน้า ดังนั้นหากรวมกับค่า Air Time เดือนละ 1,000บาท/เครื่อง แล้ว รายได้ปีหน้าจะอยู่ราว 100-200 ล้านบาท

การเริ่มให้บริการจากดาวเทียมวงโคจรต่ำนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขยายธุรกิจ Space Tech ให้เป็นรายได้จากธุรกิจใหม่ ที่มีรายได้เข้ามาทดแทนธุรกิจดั้งเดิมของเราคือบริการดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ได้ราว 10-30% ใน 3-5 ปี”

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากธุรกิจดั้งเดิมของไทยคม มาจากการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (บรอดแบนด์) 40% และสัญญาณแพร่ภาพกระจายเสียง (บรอดแคสต์) 60% ซึ่งคาดว่าฝั่งบรอดแบนด์จะเพิ่มเป็น 70% ใน 2-3 ปี