การเลือกตั้งใหญ่ “สหรัฐอเมริกา” และ “เกาะไต้หวัน” เป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่เกาะกุมชะตากรรม “เทคโนโลยีขั้นสูง” ทั่วโลก ชิปจากไต้หวัน องค์ความรู้และซัพพลายเชนสำคัญในการผลิตอุปกรณ์ขั้นสูง ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจทางนโยบายของ “ผู้ชนะเลือกตั้ง” ใน 1 ประเทศ 1 เขตปกครองนี้
ตลอดปี 2023 ประชาชนในสหรัฐและนักวิชาการหลายส่วนมีการตั้งคำถามถึงจุดยืน “ปกป้อง” ไต้หวัน หากจีนใช้กำลัง ของรัฐบาลโจ ไบเดน อยู่เนือง ๆ ว่าเป็นไปตามหลักการ “Weinberger” ซึ่งกำหนดว่ากองกำลังจะไม่มุ่งมั่นที่จะสู้รบ เว้นแต่จะเป็นประโยชน์ต่อชาติที่สำคัญของสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เพราะท่ามกลางนโยบายถอนกำลังในอัฟกานิสถานที่ “ไบเดน” มีท่าทีว่าสูญค่า แต่กลับมุ่งมั่นที่จะปกป้องไต้หวันทุกวิถีทาง
รบเถิดอรชุน ! หากเพื่อผลประโยชน์ของรัฐ
สถาบันป้องกันประเทศ แห่งสหรัฐ ได้เผยแพร่บทความในประเด็นนี้ โดยหยิบยกเอาหนังสือเรื่อง Chip War ของ “คริส มิลเลอร์” รองศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ระหว่างประเทศแห่ง Tufts University มากล่าวถึงอีกครั้ง เพื่อชี้ให้เห็นว่า “เกาะไต้หวัน” เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับหลักปกป้องผลประโยชน์แห่งรัฐของ “Weinberger” ซึ่งหน่วยความมั่นคงของสหรัฐยึดมั่นเป็นคัมภีร์หลัก
“มิลเลอร์” ชี้ให้เห็นความขัดแย้งหลายประการทวีจำนวนของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามเย็นกับโซเวียต การสู้รบในเวียดนาม ซึ่งความสัมพันธ์เชิงประวัติศาสตร์ อำนาจของอุตสาหกรรมนี้ รวมถึง “ผู้เล่น” ที่เป็นผู้ประกอบการที่กำหนดทิศทางและความสำคัญของไต้หวัน เรียกว่า “อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” กำหนดทิศทางการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจโลก และสมดุลแห่งอำนาจทั่วโลก
ที่สรุปว่า การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และเทคโนโลยีในซิลิคอนเวลลีย์ ของสหรัฐมาถึงจุดหนึ่งที่ “มอริส จาง” ซึ่งเคยถูกวางตัวให้ขึ้นเป็น CEO ของ บริษัท Texas Instruments ผู้นำอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์แบบอนาล็อกในขณะนั้น แต่เหตุพลิกผันเขาถูกปฏิเสธ จึงต้องออกจากสหรัฐ มาตั้ง Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) และกลายเป็นโรงงานเซมิคอนดักเตอร์ที่สำคัญที่สุดในโลกเพียงหนึ่งเดียว ที่มอบสิ่งอำนวยความสะดวก แรงงานที่มีทักษะ และกระบวนการทางเทคโนโลยีอันประณีตให้กับเจ้าของเทคโนโลยีในสหรัฐ
โดยไม่ได้ตั้งใจ ไต้หวันกลายเป็นเกาะเล็ก ๆ ที่ผลิต 90 เปอร์เซ็นต์ของเซมิคอนดักเตอร์ที่ล้ำหน้าที่สุดในโลก
จวบเมื่อประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พยายามรวมประเทศอีกครั้ง ด้วยเจตจำนงการเป็นผู้นำระดับโลกและระดับภูมิภาคของจีน ซึ่งมีเทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญ หากปล่อยให้จีนรวมไต้หวัน ย่อมสะเทือนหลักการ “Weinberger” ที่ทำให้สหรัฐเสียประโยชน์โดยตรง “Chip War” ของ “มิลเลอร์” จึงเป็นสิ่งตอกย้ำว่า ทำไมสหรัฐจึงควรสนใจ “ปกป้อง” ไต้หวัน ทั้งด้วยนโยบายและการ “ใช้กำลัง”
ตลอดปีที่ผ่านมาเราจึงเห็นการกีดกันเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการผลิตชิป และอุปกรณ์ดิจิทัลจากสหรัฐ ในฐานะเจ้าของสิทธิบัตร ไม่ให้ส่งถึงมือจีนเพื่อใช้ในการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีของตนได้ กลายเป็นสงครามเทคโนโลยี “จีน-สหรัฐ” ที่เราเห็นกัน
ความกังวลเรื่องการกีดกันเทคโนโลยีท่าจะบรรเทาลงเมื่อช่วง พ.ย. 2566 เมื่อ “สี จิ้นผิง” เดินทางเยือนแคลิฟอร์เนียหัวใจของเทคโนโลยีของโลก เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้อบอุ่นขึ้น
การคว่ำบาตรเทคโนโลยีจีน จะเป็นประเด็นหาเสียง ปธน. สหรัฐ
“เด็บบี้ วู” นักข่าวเทคโนโลยีของบลูมเบิร์ก ประจำไต้หวัน ได้เขียนถึงการเลือกตั้งใหญ่และนโยบายกระชับความสัมพันธ์กับจีนอย่างน่าสนใจ เธอระบุว่า ความรู้สึก “ต่อต้านจีน” เป็นหนึ่งในไม่กี่ประเด็นที่ “เห็นร่วม” กันของฝ่ายในการเมืองของสหรัฐ ทั้งฝ่ายบริหารของพรรครีพับลิกันและพรรคเดโมแครต ล้วนมีท่าทีที่เด่นชัดในการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีไปยังประเทศในเอเชีย
“การเลือกตั้งใหญ่ของสหรัฐในปีนี้ ผู้สมัครประธานาธิบดีที่เป็นไปได้ คือ ประธานาธิบดีสองคนล่าสุด “โดนัลด์ ทรัมป์” และ “โจ ไบเดน” เราคาดหวังได้ว่าจะมีการคว่ำบาตรทางเทคโนโลยีกับปักกิ่งมากกว่าเดิม”
“โดนัลด์ ทรัมป์” แม้จะมีท่าทีแสดงความเคารพต่อจีน ก่อนที่เขาจะชนะการเลือกตั้งในปี 2559 แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางทหารของปักกิ่งต่อช่องแคบไต้หวัน
ขณะที่ “โจ ไบเดน” กำลังดำเนินแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ ให้ออกจากจีนกลับมาในประเทศ ทั้งการปิดล้อมแบบพหุภาคี ไม่ให้จีนพัฒนาความรู้ความชำนาญด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่ซับซ้อน
แต่..การเปิดตัวโทรศัพท์มือถือ Mate 60 Pro ของ Huawei Technologies Co. ซึ่งทำงานบนชิปขั้นสูง 7 นาโนเมตร ที่ผลิตเองในจีน ทำให้นักการเมืองในวอชิงตันตกตะลึง ว่าการกีดกันอาจไม่เป็นผล และจีนยังลงทุนมหาศาลเพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพในการผลิตชิป เทคโนโลยีของพวกเขาแม้จะตามหลังอยู่หลายปีแต่ก็กระชั้นเข้ามามากขึ้น
ขณะที่แล็ปทอปรุ่นล่าสุดที่ Huawei เปิดตัวในช่วงปลายปี 2023 พบว่ามีชิปจาก TSMC ซึ่งยังคงล้ำหน้ากว่าเซมิคอนดักเตอร์ที่ดีที่สุดของบริษัทจีนสามารถทำได้ในขณะนี้ ทั้งความคลั่งไคล้ด้านปัญญาประดิษฐ์ในปี 2023 ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีชิปเอไอของ Nvidia Corp. อย่างมาก ซึ่งวอชิงตันสั่งห้ามไม่ให้ค้ากับจีน และยังไม่มีใครทดแทน NVIDIA ได้
การปิดล้อมทางเทคโนโลยีที่สหรัฐใช้เพื่อกีดกันจีนไม่ให้พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง จะต้องได้รับการพิสูจน์ว่าทำได้จริง เพราะเท่าที่เห็นจีนก็มีการพัฒนาและผลิตไล่ตามอย่างกระชั้นชิด
“ไม่ว่าจะเป็น ทรัมป์ หรือ ไบเดน ที่กุมบังเหียนในอีกหนึ่งปีข้างหน้า นโยบายที่มีต่อจีนไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงได้ และมีเหตุผลที่ทำให้เชื่อได้ว่าโดยรวมแล้วมีประสิทธิภาพ”
ที่สำคัญ ขณะที่ “ไบเดน” กำลังทำงานและรณรงค์หาเสียง ในการเลือกตั้งรอบใหม่ เขาจะต้องแสดงหลักฐานว่า การพัฒนาเทคโนโลยีของจีนชะลอตัว หรือพัฒนาได้ช้าจนอยู่ในจุดที่ไม่ก่อให้เกิดภัยคุกคาม จากการดำเนินนโยบายของรัฐบาล “ไบเดน”
การหาเสียงของคู่แข่งจากรีพับลิกันก็มีแนวโน้มที่จะโต้แย้งว่าสิ่งที่ “ไบเดน” เสนอนั้น ยังทำได้ไม่ดีพอ
ผลเลือกตั้งไต้หวันสะเทือนเศรษฐกิจ-การเมืองโลก
วันที่ 13 มกราคม 2024 ประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 19.55 ล้านคน บนเกาะไต้หวันลงชื่อเข้าคูหา เลือกตั้งใหญ่ที่มีผลกระทบย่างมากต่อธุรกิจและการค้าระดับโลก โดยเฉพาะอิทธิพลจากอุตสาหกรรมชิป ท่ามกลางการเพิ่มท่าทีคุกคามทางทหารของรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ ส่งผลให้เกิดความกระวนกระวายใจไปทั่วโลก
การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกเรียกว่าการเลือกตั้งเพื่อ “War and Peace” สงครามและสันติภาพ เกิดเรื่องชุลมุนมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 1 วันก่อนเลือกตั้งจีนปล่อยจรวดส่งดาวเทียมสู่อวกาศ แต่ทางการไต้หวันแจ้งเตือนประชาชนถึงการโจมตีทางอากาศ ขณะที่ตัวแทนไต้หวันเข้าพบประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ซึ่งจีนได้แสดงท่าทีอย่างรุนแรงตอบโต้ไปว่า นี่เป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน
CNN รายงานว่า ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี “ไล่ ชิงเต๋อ” จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ไม่เป็นที่ถูกใจเจ้าหน้าที่จีน ความคิดเห็นในอดีตของเขาที่สนับสนุนเอกราชของไต้หวัน แม้เขาปรับจุดยืนสนับสนุนสถานะที่เป็นอยู่ หรืออธิปไตยโดยพฤตินัยของไต้หวัน แต่ปักกิ่งยังคงประณามว่าเขาเป็นผู้แบ่งแยกดินแดนที่เป็นอันตราย และปฏิเสธ “การเจรจา”
“ชาร์ลี เวสท์” รองผู้อำนวยการของกลุ่มโรเดียม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับจีน กล่าวว่า ถ้า ไล่ ชิงเต๋อ และ DPP ชนะ จะได้เห็นมาตรการบีบบังคับต่าง ๆ จากปักกิ่ง รวมถึงการซ้อมรบครั้งใหญ่ที่อาจขัดขวางเรือพานิชย์ และธุรกิจในช่องแคบไต้หวัน หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจบนเกาะที่พึ่งพาการค้า
ทุกปี เรือคอนเทนเนอร์ประมาณครึ่งหนึ่งของโลกแล่นผ่านช่องแคบไต้หวัน คู่แข่งและพันธมิตรที่สำคัญ
ไต้หวันและจีนมีการแข่งขันทางการเมืองที่ซับซ้อน แต่ก็มีความเกี่ยวพันกันทางเศรษฐกิจเช่นกัน จีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไต้หวัน และเป็นจุดหมายปลายทางด้านการลงทุนชั้นนำมายาวนาน
กระทรวงเศรษฐกิจของไต้หวันระบุว่า เมื่อปีที่แล้วมูลค่าการส่งออกของไต้หวันกว่า 35% ส่งออกไปยังจีน ส่วนใหญ่เป็นวงจรรวม เซลล์แสงอาทิตย์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่การนำเข้าจากประเทศจีนคิดเป็น 20% ของการนำเข้าทั้งหมด ไต้หวันเกินดุลการค้ากับจีนเป็นจำนวนถึง 8 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2566
“ไต้หวันและจีนมีความสำคัญต่อกันและกันอย่างยิ่ง จีนพึ่งพาปัจจัยการผลิตและบริษัทของไต้หวันในห่วงโซ่อุปทานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ระดับโลกเป็นอย่างมาก”
สำหรับประเทศจีน เซมิคอนดักเตอร์ที่ผลิตโดยบริษัทของไต้หวัน อย่าง TSM (โรงงานผลิตของ TSMC) เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ต่อเศรษฐกิจของประเทศ เกาะแห่งนี้ยังเป็นจุดเชื่อมโยงสำคัญในการค้าระหว่างจีนกับโลกอีกด้วย เกาะนี้ผลิตชิปมากกว่า 60% ของโลก และประมาณ 90% ของชิปที่ทันสมัยที่สุดในโลก
จีนนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือกลที่มีความแม่นยำจากไต้หวัน ประกอบและส่งออกผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปไปยังตลาดโลก จีนไม่เคยคว่ำบาตรอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นซัพพลายเออร์ที่สำคัญสำหรับภาคการผลิตของตนเอง
“หากไต้หวันถูกปิดล้อม นั่นอาจทำให้เศรษฐกิจโลกเสียหายมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยไม่ต้องคำนึงถึงต้นทุนของการเผชิญหน้าทางทหารที่อาจเกิดขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หรือการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ” เวสต์ประเมิน