มติบอร์ด กสทช. ค้านวิธีคัดเลือกเลขาฯ ปัดชื่อ “ไตรรัตน์” ตก

กสทช.

มติบอร์ด กสทช. 4-3 ปัดชื่อ “ไตรรัตน์” ตกจากการพิจารณาคัดเลือกตำแหน่งเลขาธิการ กสทช. ยันไม่ได้ปฏิเสธชื่อบุคคล แต่เพราะไม่เห็นด้วยวิธีการคัดเลือกแต่ต้น

วันที่ 17 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) 4-3 ล้มการพิจารณาวาระพิเศษให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ กสทช.

โดยการเสนอชื่อดังกล่าวเป็นการคัดเลือกจากผู้สมัคร 9 ราย โดยประธาน กสทช. เป็นผู้เสนอชื่อ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาฯ กสทช. ปัจจุบันให้ดำรงตำแหน่ง เลขาธิการ กสทช. คนใหม่

กสทช. 4 คน ได้แก่ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย, พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ,  ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ ได้ลงมติไม่เห็นชอบในการพิจารณาดังกล่าว

ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า การลงมติเช่นนี้เป็นการยืนยันว่า กสทช. ทั้ง 4 คนเห็นตรงกันว่า กระบวนการสรรหา เลขาธิการ ไม่ถูกต้องมาแต่ต้น การสรรหานี้ไม่ใช่อำนาจของประธาน กสทช.คนเดียว แต่เป็นกระบวนการร่วมกันของ กสทช.ทุกคน

ADVERTISMENT

“เราไม่ได้ปฏิเสธตัวบุคคล คือรองเลขาธิการ ไตรรัตน์ แต่เราปฏิเสธกระบวนการสรรหา หรือคัดเลือกที่ประธาน กสทช.ทำมา และไม่มีกฎหมายไหนระบุว่า รองฯไตรรัตน์จะไม่สามารถถูกเสนอชื่อซ้ำได้ เราเพียงแต่ต้องการให้มีการเริ่มกระบวนการใหม่ที่ทุกคนเข้าไปมีส่วนร่วม”

ด้านพันตำรวจเอกประเวศน์ มูลประมุข ที่ปรึกษาประจำตัวประธาน กสทช.กล่าวว่า มติไม่เห็นชอบดังกล่าว นายไตรรัตน์สามารถจะอุทธรณ์มติบอร์ด กสทช. แต่ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าตัวจะดำเนินการหรือไม่ และบอร์ด กสทช.จะรับอุทธรณ์หรือไม่

ADVERTISMENT

“ถ้าบอร์ดไม่รับ ก็ขึ้นอยู่กับนายไตรรัตน์เองจะฟ้องร้องต่อศาลหรือไม่ อย่างไร”

ส่วนประเด็นเรื่องการสรรหาไม่ชอบ หรือกรณีที่นางสุรางคณา วายุภาพ หนึ่งในผู้สมัครตำแหน่งเลขาธิการ ได้ฟ้องบอร์ด กสทช. ว่ากระบวนการสรรหาไม่ชอบด้วยกฎหมาย การพิจารณาและกระบวนการศาลยังไม่สิ้นสุด จึงยังไม่รู้ว่าจะสรรหาใหม่ตามกระบวนการใด จนกว่ากระบวนการทางศาลจะสิ้นสุดทุกคดีก่อน

เมื่อยังไม่มีกำหนดการว่ากระบวนการสรรหา-คัดเลือก เลขาธิการ กสทช.คนใหม่จะเริ่มต้นอีกครั้งเมื่อใด และวิธีใด

ระหว่างนี้นายไตรรัตน์สามารถรักษาการในตำแหน่งนี้ได้ต่อไปได้เรื่อย ๆ แต่จะไม่มีการทำรายงานเรื่องทรัพย์สินผู้ดำรงตำแหน่งและอื่น ๆ ที่เป็นบทบาทที่แท้จริงของ “เลขาธิการ” ตัวจริง