เปิดเบื้องหลังเกณฑ์ประมูล กสทช. ย้ำ “เราจะทำตามสัญญา”

มีให้ลุ้นได้ตลอดสำหรับการจัดประมูลคลื่นภายใต้สัมปทาน ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ทั้งเรื่องจะได้จัดประมูลหรือไม่ รวมถึงเกณฑ์การเคาะราคา ล่าสุดที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 มีมติเดินหน้าจัดประมูล และกำหนดวันเคาะราคาไว้วันที่ 4 ส.ค. 2561

“ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ“ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. โต้โผสำคัญในเรื่องนี้

Q : จะเปิดประมูลแค่ 1800 MHz

ใช่ เพราะคลื่น 900 MHz มีประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะรบกวนกับคลื่นส่วนที่ กสทช.ได้จัดสรรให้ใช้กับระบบขนส่งทางราง รถไฟความเร็วสูงไปก่อนหน้านี้หรือไม่ จึงให้ชะลอไว้ก่อน จนกว่าจะมีผลการศึกษาที่ชัดเจน และทางกระทรวงคมนาคมเองเพิ่งยื่นขอใช้คลื่นเพิ่มจาก 5 MHz เป็น 10 MHz ด้วย ซึ่งจะเป็นคลื่นในส่วนนี้ ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของบอร์ดว่าจะอนุมัติให้หรือไม่

Q : ใช้เกณฑ์ประมูล 1800 เดิม

ต้องกลับไปใช้เกณฑ์เดิมคือประมูลไลเซนส์ละ 15 MHz จำนวน 3 ไลเซนส์ เพื่อให้แนวทางการจัดสรรไปในทางเดียวกับการจัดประมูล 1800 MHz เมื่อปลายปี 2558 เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน และยืนยันว่าเราจะทำตามสัญญาที่เคยให้ไว้ เพราะก่อนหน้าที่เอไอเอสกับทรู จะจ่ายเงินประมูลครั้งนั้น เขาทำหนังสือมาให้เรายืนยันว่า การประมูลครั้งถัดไปจะใช้เกณฑ์เหมือนกัน และจะใช้ราคาปิดประมูลครั้งนั้นเป็นราคาเริ่มต้นการประมูลหนใหม่

กสทช.จึงต้องยืนราคาเริ่มต้นที่ 37,457 ล้านบาทต่อ 15 MHz และใช้กฎ N-1 เหมือนเดิม งวดจ่ายเงินก็เหมือนเดิมคือ หลังจบประมูล 50% ปีที่ 2 กับ 3 ปีละ 25% ถ้า กสทช.ลดราคาเริ่มต้นก็มีโอกาสสูงที่จะโดนฟ้องร้อง และ 2 ผู้ชนะเดิมจะหยุดจ่ายเงินประมูลส่วนที่เหลือ

Q : หลายฝ่ายติงว่าราคาแพง

จริง ๆ ราคาคลื่น 1800 MHz ไม่ได้มีข้อพิพาท ไม่ได้มีผู้ทิ้งการประมูลผู้ชนะประมูลทุกรายก็จ่ายเงินครบหมด แม้ราคาจะขึ้นไป 6 เท่า จึงเป็นราคาที่สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง ที่มีปัญหาคือคลื่น 900 MHz ที่แจส โมบาย ทิ้งประมูล อย่าเอามาปนกัน

ส่วนกฎ N-1 ทั้งระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างแห่งชาติ รวมถึงแนวทางของ ป.ป.ช. ระบุว่า ถ้าจำนวนที่นำออกประมูลเท่ากับจำนวนผู้เข้าประมูล ไม่เรียกว่าเป็นการประมูลเพราะไม่มีการแข่งขัน จึงจำเป็นต้องกำหนดไว้

Q : แจสฯเสียค่าปรับแล้วแต่ห้ามเข้า

ถ้าไม่ทำแบบนี้ จะมีคนมองว่าเราเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มแจสหรือเปล่า ส่วนนี้เราก็จะเข้าไปดูว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด มีผู้ถือหุ้นเป็นใครบ้าง ถ้ากลุ่มนี้ไปตั้งบริษัทใหม่เพื่อเข้าประมูล ก็เป็นนอมินี เราจะตรวจเรื่องการถือหุ้นไขว้กันด้วย

นอกจากนี้ ในการประมูลคลื่นหนนี้ยังได้วางเกณฑ์เรื่องการวางแบงก์การันตีเพื่อเข้าร่วมประมูลไว้ที่ 7,492 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นประกันการประมูล 1,873 ล้านบาท และค่าปรับหากมีการทิ้งประมูลอีก 5,619 ล้านบาท หากมีผู้ทิ้งประมูลจะโดนยึดแบงก์การันตีทั้งหมด ไม่ใช่แค่ 800 กว่าล้านบาทเหมือนหนก่อน

Q : มั่นใจว่าจะมีคนเข้าประมูล

60% ตอบอย่างมั่นใจไม่ได้เพราะทุกรายจ่ายเงินไปเยอะแล้ว แต่เชื่อว่าถึงดีแทคจะได้เป็นพันธมิตรใช้คลื่น 2300 MHz กับทีโอทีแล้ว แต่คลื่น 2300 MHz มีข้อจำกัดการใช้เยอะ เอาไปใช้งาน voice ไม่ได้ผิดเงื่อนไข และใช้ได้ถึงแค่ปี 2568 ถ้าหารเฉลี่ยสิทธิ์ใช้งาน คลื่น 1800 MHz ถูกกว่า เพราะ 2300 MHz ดีแทคต้องจ่ายทีโอทีต่ำ ๆ ปีละ 4,500 ล้านบาท แต่ถ้าเข้าประมูล 1800 MHz เคาะราคาไม่กี่ครั้งยังเฉลี่ยจ่ายปีละ 2,530 ล้านบาท ใช้งานได้ถึง 15 ปี

โครงข่ายใช้ของเดิมที่ใช้อยู่ได้ไม่ต้องลงทุนเพิ่มแบบ 2300 MHz ปกติใคร ๆ ก็อยากได้คลื่นเดิมที่ใช้งานอยู่แล้วทั้งนั้น แต่ถ้าเป็น 900 MHz ยอมรับว่าราคาแพงจริง ถ้าประมูลเอไอเอสกับทรูไม่เข้าแน่

Q : ไม่มี ม.44 ช่วย “เอไอเอส-ทรู” อาจไม่เข้า

คิดว่าถ้ามี คงช่วยให้ทั้งคู่เข้าประมูล แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป เป็นการตัดสินใจของทาง คสช. แต่มีแนวโน้มที่จะช่วยเหลือ เพราะทั้งคู่มีหลักฐานสัญญากู้เงินต่าง ๆ ไปแสดงชัดเจนว่าจ่ายดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.5-3%

ไม่ได้จ่ายแพงอย่างที่มีคนติงว่า ถ้ารัฐไปช่วยจะได้ประโยชน์เยอะมาก

ประเด็นที่ยังถกเถียงกันไม่จบ คือ ทำไมรัฐต้องช่วย รัฐมีส่วนทำให้เขาเสียหายอย่างไร และดอกเบี้ยที่จะให้เอกชนจ่ายอยู่ที่เท่าไรจึงเหมาะสม เถียงวนกันอยู่ตรงนี้ แต่คนที่มีหน้าที่ตอบคำถามไม่ใช่ กสทช. เป็นเรื่องที่ทั้ง2 บริษัทต้องตอบรัฐบาล ซึ่งเชื่อว่าเขาตอบไปแล้ว

Q : ถ้าไม่มีใครเข้าประมูลเลย

ถ้าเปิดยื่นวันที่ 15 มิ.ย.นี้ แล้วไม่มีผู้เข้าประมูลก็จะปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมกับที่มีคนเสนอมา อาทิ ปรับจำนวนไลเซนส์ให้เล็กลงโดยใช้ราคาเดิมเฉลี่ย เพราะปรับราคาเลยจะมีปัญหา ส่วนเรื่องลดราคาเริ่มต้น คงยาก เพราะเราต้องทำตามสัญญา

Q : ไลเซนส์ใหม่ไม่ทันสัมปทานหมด 

น่าจะไม่ทัน เพราะต้องให้เวลาคนชนะ 90 วัน แต่น่าจะใช้ประกาศเยียวยาหลังหมดสัมปทานไม่นาน

Q : มี ม.44 ออกมาเพื่อให้กสทช.อยู่ต่อแล้วจะทำอะไรบ้าง

หลักคือประมูล และเตรียมการเกี่ยวกับเรียกคืนคลื่น อย่าง 2600 MHz กับ 470 MHz ที่ต้องจัดสรรใหม่ คลื่น 700 MHz ที่ทีวีดิจิทัลใช้อยู่ แต่ ITU ระบุให้เป็นคลื่นด้านโทรคมนาคมต้องย้ายไปใช้ย่าน 470 MHz แทน

ที่สำคัญคือต้องเร่งการคุ้มครองผู้บริโภคให้ดีขึ้น ที่เริ่มแล้วก็เรื่องอินเทอร์เน็ตที่ถ้าใช้งานไม่ได้ลูกค้าต้องได้รับการเยียวยา ต้องได้ลดค่าบริการในรอบบิลถัดไป

 

คลิกอ่านข่าว >> ไขข้อสงสัย! ทำไมคลื่น 850 MHz ของ “ดีแทค” ตอนจะจัดประมูลถึงถูกเรียกว่า “900 MHz”