
สมรภูมิธุรกิจบรอดแบนด์ร้อนระอุขึ้นไปอีก หลังดีลควบรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ AIS และ บริษัท ทริปเปิลทรี บรอดแบนด์ จำกัด (3BB) สำเร็จเสร็จสิ้น พร้อมให้บริการในชื่อใหม่ “AIS-3BB Fibre3” ยิ่งเมื่อรวมฐานผู้ใช้ของทั้งคู่เข้าด้วยกัน ณ สิ้นปี 2566 อยู่ที่ 4.74 ล้านราย กลายเป็นผู้นำตลาดบรอดแบนด์
ฝั่งเจ้าตลาดเดิมอย่าง “ทรู ออนไลน์” ล่าสุดลุกขึ้นมาปรับกลยุทธ์ และดึงเทคโนโลยี AI มาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาบริการ
สแกนตลาดบรอดแบนด์
“สกลพร หาญชาญเลิศ” หัวหน้าสายงานออนไลน์คอนเวอร์เจนซ์ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หลังจากคู่แข่งควบรวมธุรกิจกัน สิ่งที่เห็นได้ชัดคือการแข่งขันด้านราคา โดยเฉพาะเทคโนโลยีใหม่อย่าง FTTR (Fiber to the Room) ที่ทำให้ทุกพื้นที่ในบ้านหรืออาคาร เข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยความเร็วที่เท่ากัน มีการลดราคาอย่างหนัก แต่ในที่สุดก็เริ่มปรับโหมดมาแข่งกันที่คุณภาพของเทคโนโลยี และการให้บริการลูกค้าแทน
“เดิม 3BB มีลูกค้ารองจากทรูออนไลน์ พอรวมกับ AIS ที่มีลูกค้าอยู่แล้วหลายล้าน ฐานลูกค้าของเขาใหญ่ขึ้นมาก ความท้าทายของเรา คือ การรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ ต้องพัฒนาบริการที่ตอบโจทย์ เสริมสิทธิพิเศษอื่น ๆ ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่า แม้จะจ่ายค่าบริการเท่าเดิม และต้องให้บริการอย่างรวดเร็ว สมมุติลูกค้าจะขอเปลี่ยนแพ็กเกจ หรือเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตต้องทำผ่านระบบได้ทันที ให้ช่างไปเปลี่ยนอุปกรณ์ตามบ้านแบบเดิมไม่ได้แล้ว”
ปัจจุบันผู้ใช้บรอดแบนด์ในไทยมีอยู่ประมาณ 10 ล้านราย เชื่อว่าตลาดนี้ยังมีช่องว่างให้โตได้อีกมาก จากการขยายตัวของครัวเรือนทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด
“ปีนี้จึงวางแผนรุกทำตลาดไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ และกำลังพูดคุยกับกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสร้างความร่วมมือร่วมกัน กลยุทธ์หลักของเรายังเป็นการเพิ่มสิทธิพิเศษต่าง ๆ เข้ามาในแพ็กเกจ ให้ลูกค้ารู้สึกคุ้มค่ากับราคาที่จ่ายไปมากที่สุด เราต้องแข่งขันแบบที่เราอยู่ได้ ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน เพื่อสร้างการเติบโตทั้งในแง่ของรายได้ ฐานผู้ใช้ และรายได้ต่อผู้ใช้บริการต่อเดือน (ARPU)”
ซึ่งที่ผ่านมาแพ็กเกจเริ่มต้นจะอยู่ที่ 499 บาท แต่ถ้าเป็นบ้านในกรุงเทพฯ หรือบ้านที่มีการติดตั้งอุปกรณ์สมาร์ทโฮมต่าง ๆ จะนิยมใช้แพ็กเกจที่ราคา มาตรฐาน 599 บาทเป็นต้นไป
“ฐานพล มานะวุฒิเวช” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการตลาด บริษัทเดียวกัน กล่าวว่า จากรายงานผลประกอบการประจำไตรมาส 4/2566 ระบุว่า จำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ของกลุ่มทรู อยู่ที่ 3.8 ล้านราย มี ARPU 494 บาท เพิ่มขึ้น 3.4% จากไตรมาสก่อน โดยในปี 2567ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์ เป็น 4 ล้านราย รวมถึงสร้างการเติบโตของรายได้ และ ARPU
“เราพยายามทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า และให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสัญญาณอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเครือข่ายบรอดแบนด์ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดในไทย รองรับการใช้งานได้มากกว่า 19 ล้านครัวเรือน”
ดึง AI อัพบริการเจาะสมาร์ทโฮม
“ฐานพล” กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในราคาย่อมเยา หมายความว่าความเร็ว แรง และคุณภาพสัญญาณ เป็นปัจจัยหลักในการแข่งขันของผู้ให้บริการทุกรายไปแล้ว จึงต้องคำนึงถึงการสร้างความแตกต่างผ่านสิทธิพิเศษที่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต และการนำเทคโนโลยี AI มายกระดับการให้บริการเป็น Smart Solutions
“เรานำ AI มาใช้ตั้งแต่ระบบหลังบ้าน เพิ่มความเสถียร ตั้งแต่ต้นทาง ช่วยตรวจจับจุดที่สัญญาณไม่คงที่ เพื่อให้บริการได้ไม่สะดุด สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้ใช้ปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ตต้องเร็ว แรง ไม่ว่าจะเล่นเกม ดูหนัง ซีรีส์ ทุกพื้นที่ในบ้านต้องได้ใช้ความเร็วเท่ากัน”
อีกหนึ่งพฤติกรรมการใช้อินเทอร์เน็ตที่สำคัญ คือ การติดตั้งอุปกรณ์สมาร์ทโฮม โดยจากรายงานของ Statista บริษัทรวบรวมข้อมูลและจัดทำสถิติ ระบุว่า แนวโน้มผู้ใช้อุปกรณ์สมาร์ทโฮมในไทยเติบโตต่อเนื่อง ปัจจุบันมีราว 10.8 ล้านราย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 18.7 ล้านราย ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่ตอบโจทย์การใช้งานของคนไทย 3 อันดับแรก คือ อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และความบันเทิง
ชูกลยุทธ์ 3-Smart
จากแนวโน้มดังกล่าว “ทรูออนไลน์” จึงปรับกลยุทธ์ และเปิดตัวแพ็กเกจใหม่ PRO AI 799 บาท ภายใต้แนวคิด “Your Everyday Connect Tech” ผ่านกลยุทธ์ “3-Smart” ประกอบด้วย
1.Smart Tech เทคโนโลยี Smart AI ที่มี PRO AI Network ใช้ AI ตรวจสอบวิเคราะห์ และควบคุมเครือข่าย มาพร้อม PRO AI WiFi วิเคราะห์ข้อมูลการใช้งาน และใช้เครือข่ายไฟเบอร์บรอดแบนด์ที่มี AI Detector and Monitoring ตรวจสอบคุณภาพสัญญาณ และการแจ้งเตือนความผิดปกติ เป็นต้น
2.Smart Service บริการก่อนและหลังการขายครบวงจรผ่าน แอปพลิเคชั่น True iService ครอบคลุมทั้งการติดตามการทำงานของช่างแบบเรียลไทม์ ตรวจสอบค่าบริการ และคำแนะนำในการแก้ไขปัญหาเบื้องต้นในการใช้งาน
และ 3.Smart Solution & Privilege โซลูชั่นอัจฉริยะดูแลความปลอดภัยในและนอกบ้าน ด้วยกล้อง CCTV ตรวจจับได้ทุกความเคลื่อนไหวแบบเรียลไทม์ ดูภาพบันทึกย้อนหลังผ่าน Cloud Service บนแอป TrueX ทั้งใช้ทรูพอยท์แลกรับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ เช่น บริการล้างแอร์ จาก Home Service by HomePro เป็นต้น
“ฐานพล” กล่าวด้วยว่า กลยุทธ์การตลาดที่ทรูออนไลน์ใช้สื่อสารกับกลุ่มลูกค้ายังเป็นการใช้พรีเซ็นเตอร์อย่าง “หนุ่ม-กรรชัย กำเนิดพลอย” เป็นตัวแทนคนดังที่เป็นผู้ใช้ตัวจริง เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นกับลูกค้าทุกคน
“เวลาดูโฆษณาอื่น ๆ บางทีจะรู้สึกว่าคนนี้ไม่ได้ใช้สินค้าจริง เราไม่อยากให้แบรนด์เราเป็นแบบนั้น จึงเลือกพี่หนุ่มเป็นพรีเซ็นเตอร์ เพราะนอกจากเขาจะเป็นกระบอกเสียงของสังคม ยังใช้บริการของเราจริง ๆ มีสิทธิ์พูดข้อดี-ข้อเสียอย่างตรงไปตรงมา เรามองว่านี่คือการสื่อสารที่จริงใจกับผู้บริโภค”