
ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในแบรนด์นาฬิกาอัจฉริยะ หรือ Smart Watch ที่ครองใจคนทั่วโลก มีชื่อ “การ์มิน” อยู่ในลิสต์ ซึ่งในไตรมาสแรกปี 2567 ก็ยังโดดเด่นด้วยรายได้ที่เติบโตทำจุดสูงสุดใหม่ที่ 1,380 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 49,680 ล้านบาท) หรือโต 20% เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยก็โตกว่าตลาดโลกที่ 25%
“มิสซี หยาง” ผู้อำนวยการประจำ การ์มิน ประเทศไทย กล่าวว่า การ์มินเห็นความสำคัญของตลาดประเทศไทยอย่างมาก และได้เข้ามาตั้งสำนักงานในปี 2564 เพื่อให้สามารถใกล้ชิดลูกค้า และให้บริการได้ดีขึ้น ล่าสุดในปีนี้ได้ขยายการรับประกันสินค้าจาก 1 ปี เป็น 2 ปี กับลูกค้าที่ซื้อสินค้าตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา

จากข้อมูลแอ็กทิวิตี้ที่เกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม Garmin Connect สะท้อน ว่าอัตราการออกกำลังกายของคนไทยเพิ่มขึ้น แม้ในช่วงที่สภาพอากาศย่ำแย่ก็ยังมีการออกกำลังกายอินดอร์เพิ่มขึ้นแทน เฉลี่ยต่อเดือนเติบโตขึ้นกว่า 39% และพบอีกว่าจะมีการทำกิจกรรมสูงขึ้นเป็นพิเศษในช่วงที่มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ สะท้อนให้เห็นว่ากระแสการออกกำลังกายในไทยยังเติบโต เพียงแต่ต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เข้ามาช่วยกระตุ้น อีกทั้งคนไทยยังมีกำลังซื้อ
“หรรษา อาภานุกูล” ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การตลาด บริษัทเดียวกันเสริมว่า พอร์ตสินค้าของการ์มินมี 3 กลุ่ม ได้แก่ เวลเนส (Wellness), เอาต์ดอร์ (Outdoor) และ กีฬาเฉพาะด้าน (Specialty) ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสินค้ากลุ่มเอาต์ดอร์

ได้รับความนิยมมากที่สุด มีสัดส่วนถึง 48% รองลงมาเป็นกีฬาเฉพาะด้าน 32% ส่วนกลุ่มเวลเนสคิดเป็น 20% ซึ่งในปีนี้จะเพิ่มน้ำหนักไปยังกลุ่มสินค้าเวลเนสเพื่อขยายฐานลูกค้า
“หยาง” กล่าวต่อว่า เรื่องส่วนแบ่งการตลาดคงบอกตรง ๆ ไม่ได้ แต่อยู่ในระดับ Top3 ส่วนหนึ่งเพราะอันดับจะเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงตามที่แต่ละแบรนด์ออกสินค้าใหม่ ซึ่งการ์มินได้ปรับปรุงและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับทุกระดับตั้งแต่ Low to High
“ถามว่า การที่เราไม่มีสมาร์ทโฟนของตนเองทำให้แข่งขันได้ลำบากขึ้นหรือไม่ เพราะปัจจุบันแบรนด์สมาร์ทวอตช์ทั้งหลายล้วนมีสมาร์ทโฟนคู่กัน และราคาถูกลง โดยส่วนตัวมองว่าเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนที่พัฒนาขึ้นมากเป็นเรื่องที่ดี ทั้งหมดเชื่อมต่ออุปกรณ์เราได้ เราเชื่อว่าการ์มินมีจุดแข็งเหนือกว่า เนื่องจากพัฒนาเทคโนโลยี GPS มาก่อนใคร จนสามารถใช้งานในอุตสาหกรรมการบินและใต้น้ำ ซึ่งใช้ร่วมกับโซนาร์ได้”
นอกจากนี้ ยังมีจุดแข็งด้านเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ FIRSTBEAT ที่มีความละเอียดมาก วิเคราะห์ความเครียด การฟื้นตัว และการออกกำลังกาย มีการวิจัยความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจ (HRV) มากกว่า 2 ทศวรรษ รวมไปถึงแบตเตอรี่ที่อายุการใช้งานยาวนาน โดยทุกรุ่นอยู่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 วัน ทำให้มอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพได้ต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง
ขณะที่เรื่องราคา การ์มินก็มีโปรดักต์ที่มีราคา 5,000 บาท เป็นไฟติ้งโปรดักต์ สู้กับแบรนด์อื่น ๆ ได้
และจากข้อมูลใน Garmin Connect พบว่าคนใช้การ์มินแต่ละรุ่นนาน 3-4 ปี จึงเปลี่ยนเครื่อง ส่วนใหญ่ใช้รุ่นเอาต์ดอร์ที่ทนทาน จึงอยากขยายฐานผู้ใช้ไปยังกลุ่มอื่น ๆ เพราะไม่ใช่ทุกคนที่อยากซื้อสมาร์ทวอตช์เพื่อออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อาจอยากสวมใส่เพื่อวิเคราะห์สุขภาพ ความเครียด การเต้นของหัวใจ เป็นต้น กลุ่มนี้คือกลุ่ม Wellness ที่มีจำนวนมากกว่ากลุ่มอื่น
อีกทั้ง Garmin Smart Watch ยังได้รับใบอนุญาตการใช้งานเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ในเรื่องการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยแอปพลิเคชั่น (ECG App) จึงอยู่ในกลุ่มโปรดักต์ “ทางเลือก” ในการดูแลมอนิเตอร์สุขภาพ
“หรรษา” กล่าวว่าผู้ใช้การ์มินในไทยเป็นผู้ชายมากกว่าผู้หญิง สัดส่วน 55:45 หากดูจากจำนวนแอ็กทีฟยูสเซอร์ใน Garmin Connect ที่มีกว่า 1 ล้านราย
“สินค้าขายดีอยู่ในกลุ่มกีฬาและเอาต์ดอร์ สูงสุดเลยคือ Foruner และ Fenix ในแง่พฤติกรรมผู้ใช้มักขยับไปรุ่นที่แพงขึ้น แต่ก็มีบางกลุ่มสะวิงข้ามจากสายกีฬาไปไลฟ์สไตล์ไป Wellness เลยก็มี ในเอาต์ดอร์และสปอร์ต การ์มินเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่ในกลุ่มเวลเนสตลาดใหญ่มาก และเราต้องการเข้าไปขยายพอร์ตและสื่อสารเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ว่า การ์มินไม่ใช่สมาร์ทวอชต์เฉพาะทาง แต่มีความเป็นสไตลิสต์เข้ากับเครื่องแต่งตัวในชีวิตประจำวัน ใส่ได้ทุกโอกาส”
ปัจจุบันจำนวนยูนิตของสินค้ากลุ่มเวลเนสของการ์มินมีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ของพอร์ตทั้งหมด และมองว่าการสื่อสารต่อเนื่องจะทำให้สินค้ากลุ่มนี้โตขึ้นเท่าตัว ทั้งมีการแบ่งลูกค้าเป็น 3 กลุ่มคือ มือใหม่ (Beginner) กลุ่มรักสุขภาพ (Health Concern) กลุ่มนักกีฬา (Athlete) ซึ่งโปรดักต์ในแต่ละไลน์อัพราคาเริ่มต้น 5,290-57,990 บาท