เทียบราคา-ความเร็วอินเทอร์เน็ตจากฟ้าของโครงข่ายดาวเทียมบรอดแบรนด์ OneWeb – Starlink คนไทยมีโอกาสได้ใช้ไหม หลัง กสทช. ไฟเขียวให้ OneWeb ปล่อยสัญญาณในไทยได้ และจะให้บริการลูกค้ากลุ่มไหน
บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ได้ทำความร่วมมือกับโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ OneWeb เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง รวมถึงปล่อยสัญญาณ 5G ได้ ซึ่งเร็วๆ นี NT-OneWeb ได้รับใบอนุญาตเข้าสู่ตลาดจาก คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แล้ว
เรียกได้ว่าสั่นสะเทือนวงการพอสมควร เพราะทันทีที่ประกาศ ราคาหุ้นของผู้ให้บริการดาวเทียมสัญชาติไทยอย่าง “ไทยคม” ก็ร่วง 3% ซึ่งเป็นความกังวลในการแข่งขัน เพราะในปีหน้า ไทยคม จะมีการยิงดาวเทียมวงโคจรค้างฟ้า ไทยคม 8-9 ที่จะให้บริการอินเทอร์เน็ตจากฟ้าเช่นเดียวกัน
อินเทอร์เน็ตจากฟ้า คืออะไร จะทดแทนอินเทอร์บรอดแบรนด์แบบสายไฟเบอร์ หรือโครงข่ายภาคพื้นดินของค่ายมือถือ-ค่าโทรคมนาคมในประเทศได้หรือไม่ และคนทั่วไปจะสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของ OneWeb ได้หรือไม่ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลในเบื้องต้นมาดังนี้
อินเทอร์เน็ตจากฟ้า คืออะไร
อินเทอร์เน็ตจากฟ้า หรือ อินเทอร์เน็ตดาวเทียม (หรือ Satellite internet access) คือการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมประเภทต่าง ๆ สามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ไม่สามารถเดินสายอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องพึ่งพาการลากสายเคเบิลหรือติดตั้งสถานีฐาน Cell Site ภาคพื้นดิน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ถุรกันดาร หรือพื้นที่ธรรมชาติเช่น ป่า ภูเขา หรือกลางทะเล แต่ควรทราบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตดาวเทียมอาจมีค่าบริการที่สูง และคุณภาพการเชื่อมต่ออาจจำกัด
ดังนั้น หากมองบริบทประเทศไทยที่โครงข่ายมือถือภาคพื้นดินที่มี 5G ครอบคลุมพื้นที่กว่า 95% และการเดินสายไฟเบอร์ก็มีความพร้อม ทำให้ราคาเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตด้วยวิธีทั่วไปถูกกว่า
คนทั่วไปใช้อินเทอร์เน็ตจาก OneWeb ได้หรือไม่
การเข้าสู่ตลาดในประเทศไทยของโครงข่าย NT – OneWeb อาจไม่ได้ส่งผลต่อทางเลือกในการใช้งานอินเทอร์เน็ตของคนทั่วไปมากนัก เพราะบริการพื้นฐานของ OneWeb ให้บริการเฉพาะลูกค้าแบบองค์กรเท่านั้น จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของ OneWeb ระบุว่าลูกค้าอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่ค่ายอินเทอร์เน็ต-มือถือ สามารถนำเครื่องรับสัญญาณไปติดตั้ง หรือขายต่อให้ลูกค้าได้ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ห่างไกล ป่าเขา เกาะแก่งต่าง ๆ
อย่างบริการ Mobile backhaul ที่เป็นการขายแบบ Wholesale ของ Eutelsat OneWeb ให้โอเปอเรเตอร์โทรคมนาคมขยายเครือข่าย 3G, LTE และ 5G ไปสู่ชุมชนที่ด้อยโอกาสหรือขาดการเชื่อมต่อ และชุมชนที่อยู่ในสถานที่ที่เข้าถึงยาก
และการเชื่อมต่อกับพาหนะขนาดใหญ่ใน ภาคการบริหารจัดการรัฐกิจ (Government) อุตสาหกรรมการเดินสมุทร (Maritime) อุตสาหกรรมการบิน
รวมถึงอุตสาหกรรมการเดินทางบก (Land Mobility) ครอบคลุมธุรกิจหลายด้านไม่ว่าจะเป็นการเกษตร เหมือง ก่อสร้าง และอื่นๆ
ปัจจุบันจึงไม่มีบริการแบบ B2C ที่คนทั่วไปสามารถซื้อแพ็กเกจ เครื่องรับสัญญาณมาติดที่บ้านได้
ซึ่งในตลาดดาวเทียมอินเทอร์เน็ต ที่มีโซลูชั่นคล้ายกันกับ OneWeb ที่หลายคนรู้จัก คือโครงข่าย Starlink ของ SpaceX ก่อตั้งโดย “อีลอน มัสก์” ที่เพิ่ฝให้บริการในมาเลเซียเมื่อไม่นานมานี้ ที่ลูกค้าทั่วไปสามารถ Subscribtion เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ตจากฟ้าได้ แต่นั่นเป็นบริบทประเทศที่มรเกาะแก่งจำนวนมาก การติดตั้ง Cell Site และลากสายไฟเบอร์ทำได้ลำบาก
แต่ก็พอจะเห็นว่า ราคาในการบริการ แตกต่างจากอินเทอร์เน็ตทั่วไปอย่างไร
เทียบราคา ความเร็ว
สำหรับ OneWeb ความเร็วพื้นฐานที่แสดงให้เห็น อยู่ที่ราว 200Mbps ซึ่งราคาและปริมาณการใช้งานขึ้นอยู่กับโปรเจกต์ที่เสนอให้ติดตั้งให้องค์กร หรือบริษัทนั้นๆ
ส่วน Starlink ลูกค้าทั่วไปใช้ได้ ราคามีความเคลื่อนไหวอยู่ ตามรายงานล่าสุดที่เปิดให้บริการในมาเลเซีย อยู่ที่ 220 ริงกิต หรือราว 1,700 บาท ต่อเดือน ได้ความเร็ว 100Mbps แต่ค่าติดตั้งอุปกรณ์ครั้งแรกอยู่ที่ 2,300 ริงกิต หรือราว 18,000 บาทเลยทีเดียว
นอกจากนี้ยังมีบริการลักษณะเดียวกัน เช่น ดาวเทียม ViaSat จากสหรัฐฯ ค่าบริการราว 69.99–299.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ความเร็ว 25–100Mbps และปริมาณใช้งาน 60–500GB ต่อเดือน หรือโครงข่าย HughesNet จากสหรัฐเช่นกัน ที่มีค่าบริการราว 49.99–79.99 เหรียญสหรัฐต่อเดือน ความเร็ว 50–100Mbps
จึงอาจกล่าวได้ ว่าด้วยราคาและบริการที่มีข้อจำกัดหลายอย่างอาจไม่เหมาะกับคนทั่วไปนัก โดยเฉพาะในบริบทประเทศไทยที่โครงข่ายมือถือ-ไฟเบอร์ครอบคลุมเกือบทั้งประเทศ จะมีก็แต่บางพื้นที่เช่นป่าเขา เกาะ หรือกลางมหาสมุทรเท่านั้น
ตลาดอินเทอร์เน็ตดาวเทียม จึงไม่ได้มุ่งให้บริการคนทั่วไป และไม่ได้สะเทือนค่ายมือถืออย่างที่คิด