การท่องเที่ยวถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวเด่น ที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยมาหลายสิบปี ด้วยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติและความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ทำให้ไทยเป็นจุดหมายการเดินทางของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
เมื่อเร็ว ๆ นี้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ “แกร็บ” (Grab) และ “อาลีเพย์พลัส” (Alipay+) ผู้นำเทคโนโลยีมาสร้างอีโคซิสเต็มของการท่องเที่ยวให้ดียิ่งขึ้น กับเป้าหมายที่ต้องการยกระดับไทยให้เป็น Tourism Hub ของภูมิภาค
สู่การเป็น Aviation Hub หรือศูนย์กลางการบิน ที่มีศักยภาพรองรับนักท่องเที่ยว และผู้เดินทางกว่า 150 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573
นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นจุดแข็งของประเทศไทย และเป็น 1 ใน 8 อุตสาหกรรมหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่อนาคตที่ยั่งยืน ซึ่งในปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายรายได้จากการท่องเที่ยวไว้ที่ 3.5 ล้านล้านบาท ซึ่งจะทำให้ได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
แกร็บชู T.R.A.V.E.L
นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า แกร็บได้นำความเชี่ยวชาญจากการให้บริการในไทยมากว่า 10 ปี และความแข็งแกร่งของอีโคซิสเต็ม มาเติมเต็มและสร้างประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อ ผ่านกลยุทธ์ T.R.A.V.E.L ประกอบด้วย
T : Technological Integration อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวด้วยเทคโนโลยี ตั้งแต่วางแผนการเดินทางไปจนถึงระหว่างการท่องเที่ยว ผ่านแอปพลิเคชั่น Grab ตั้งแต่ก่อนเดินทางมาไทย รองรับหลายภาษา ทั้งอังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี ทั้งเชื่อมต่อกับแอปอื่น ๆ ให้ใช้บริการเรียกรถผ่าน WeChat, Booking.com และ Trip.com ทั้งขยายช่องทางการชำระเงินดิจิทัลผ่าน Alipay และ Kakao Pay ได้
R : Reliability & Safety สร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัยด้วยฟีเจอร์ Safety Centre แจ้งขอความช่วยเหลือ หรือฟีเจอร์ Audio Protect เพื่อบันทึกเสียงระหว่างการเดินทาง ทั้งคัดกรองและอบรมพาร์ตเนอร์คนขับ กำหนดมาตรฐานการให้บริการ และมีประกันคุ้มครองทั้งผู้โดยสารและพาร์ตเนอร์คนขับ
A : Accessibility ส่งเสริมการเข้าถึงเมืองหลัก และเมืองรอง โดยให้บริการแล้วใน 71 จังหวัด ร่วมมือกับ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เปิดจุดรับ-ส่งผู้โดยสารเพื่อให้บริการในสนามบินหลัก ทั้งภูเก็ต เชียงใหม่ ดอนเมือง และสุวรรณภูมิ
V : Valuable Experiences พัฒนาศักยภาพให้พาร์ตเนอร์คนขับ ผ่านคอร์สอบรมออนไลน์ ทั้งด้านมาตรฐานการให้บริการ การสื่อสารภาษาต่างประเทศเบื้องต้น และการขับขี่อย่างปลอดภัย มีบริการ GrabCar Premium ซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ
E : Environmentally Friendly ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก ผ่านโครงการ Grab EV ให้พาร์ตเนอร์คนขับเปลี่ยนมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาฟีเจอร์ชดเชยการปล่อยคาร์บอน
L : Local Touch ผลักดันการสัมผัสประสบการณ์ท้องถิ่น เช่น ทำหนังสือไกด์บุ๊ก Grab & Go ร่วมกับ ททท. โปรโมตอาหารไทยเมนูเด็ดผ่าน GrabFood และจำหน่ายสินค้าท้องถิ่นผ่าน GrabMart เป็นต้น
สื่อสารตรงถึงนักท่องเที่ยว
นางสาวจันต์สุดา ธนานิตยะอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานพาณิชย์ และการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยปัจจุบันสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 เห็นได้จากยอดใช้บริการเรียกรถของนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 ที่โตจากปีก่อนหน้า 139% ด้วยความที่แกร็บเป็นซูเปอร์แอปที่มีความแข็งแรงของเน็ตเวิร์ก และให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กว่า 8 ประเทศ จึงเป็นที่รู้จักและได้รับความไว้วางใจจากนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว
“เรามีบริการครอบคลุมทั้งการส่งคนและส่งของ ทำให้สามารถให้ข้อมูลนักท่องเที่ยวได้ครบถ้วน เช่น นักท่องเที่ยวเริ่มใช้แกร็บจากบริการเรียกรถ เราจะส่งข้อความแนะนำร้านอาหารยอดนิยมหรือรับการการันตีคุณภาพไปให้ เพื่อกระตุ้นการใช้ดีลิเวอรี่ไปด้วย ซึ่งพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ใช้บริการระดับพรีเมี่ยม ไม่ค่อยใช้โค้ดส่วนลด มีการใช้จ่ายต่อบิลค่อนข้างสูง”
นางสาวจันต์สุดากล่าวต่อว่า หลังการระบาดของโควิด นักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ที่เข้ามาในไทยจะมาจากประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน เป็นกลุ่มที่รู้จักหรือใช้บริการแกร็บอยู่แล้ว โดยนักท่องเที่ยวจีนยังอยู่ใน Top 3 ที่มาเยือนไทย
“การสื่อสารไปยังกลุ่มนักท่องเที่ยว มีการจับมือกับพาร์ตเนอร์รายต่าง ๆ สร้างการรับรู้ตั้งแต่ก่อนเดินทางจนเดินทางมาถึงไทย ทำแคมเปญร่วมกับ ททท. หรือในจีน มีการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียที่คนจีนใช้กัน เช่น เว่ยป๋อ รวมถึงใช้ KOLs ชาวจีนด้วย ซึ่งธรรมชาติของนักท่องเที่ยวจีนจะเป็นกลุ่มที่รีวิวแบบปากต่อปาก ถ้าประทับใจในการใช้บริการ จะบอกต่อกับกลุ่มเพื่อนของตนเอง”
Alipay+ เพิ่มโอกาสร้านเล็ก
นายเอ็ดเวิร์ด หยู ผู้จัดการทั่วไป ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า มีร้านค้าที่รองรับการชำระเงินผ่านอาลีเพย์พลัสกว่า 88 ล้านแห่งใน 57 ประเทศ และเขตการปกครองทั่วโลก มีผู้ใช้งานกว่า 1.5 พันล้านบัญชี ผ่าน 25 ผู้ให้บริการกระเป๋าเงินดิจิทัลและแอปชำระเงินของธนาคาร
“เราเดินหน้าขยายเครือข่ายร้านค้าในไทยต่อเนื่อง เพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระเงินผ่าน 14 แอปชำระเงิน มีร้านค้าในไทยที่รับชำระเงินผ่านเครือข่ายของอาลีเพย์พลัสกว่า 400,000 ร้านค้า เช่น โซนอาหาร foodwOrld ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ สปา Let’s Relax รวมถึงร้านในจังหวัดที่เริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักท่องเที่ยว เช่น นครพนม จันทบุรี และลำปาง เป็นต้น”
จากข้อมูลของอาลีเพย์พลัสระบุว่า จำนวนครั้งของการใช้จ่ายระหว่าง ม.ค.-เม.ย. 2567 เพิ่มขึ้น 70% เทียบกับ ก.ย.-ธ.ค. 2566 โดยนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนครั้งการใช้จ่ายสูงสุด คือนักท่องเที่ยวจีนที่ใช้จ่ายผ่านอาลีเพย์ ตามด้วยแอป
“ทัชแอนด์โก อีวอลเล็ต” (Touch ‘n Go eWallet) จากมาเลเซีย, อาลีเพย์ ฮ่องกง (AlipayHK) และคาเคา เพย์ (Kakao Pay) จากเกาหลีใต้
“กิจกรรมการตลาดช่วงสงกรานต์ เกิดจากความร่วมมือระหว่าง ททท. และอาลีเพย์พลัส ทำให้จำนวนครั้งการใช้จ่ายผ่านอาลีเพย์พลัส เพิ่มขึ้น 52% เทียบ มี.ค. 2567 เรามีจุดแข็งในการเชื่อมบริการของอีวอลเลตกว่า 25 ราย ทำให้นักท่องเที่ยวใช้แอปที่ใช้ในประเทศของตนสแกนจ่ายเวลามาไทยได้ทันที เรายังเป็นพาร์ตเนอร์กับธนาคารต่าง ๆ แอปท้องถิ่น และการชำระเงินผ่าน QR Code ของแต่ละประเทศ อย่างในไทยมีทรูมันนี่เป็นพาร์ตเนอร์ช่วยให้เข้าถึงผู้ประกอบการ เพิ่มโอกาสให้ร้านเล็กเข้าถึงนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้มากขึ้น”
ผนึก ททท. หนุนเมืองรอง
นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับ ททท. เปิดตัวบัตรดิจิทัล Amazing Thailand e-Card บนแอปอาลีเพย์ ช่วยสร้างการรับรู้เกี่ยวกับข้อเสนอ และโปรโมชั่นพิเศษให้นักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงจัดทำแคมเปญ “A Thailand+ Experience” สนับสนุนการท่องเที่ยวในจังหวัดที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก โดยนำเสนอเมืองรองที่น่าสนใจผ่านมุมมองของ KOLs เพื่อเป็นข้อมูลให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ผ่านเว็บไซต์ของ ททท. และ Alipay+ D-hub ฟีเจอร์ที่รวมข้อมูลที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวในไทย เช่น ข้อมูลร้านค้า ร้านอาหารแนะนำ คู่มือการท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ข้อมูลด้านวัฒนธรรม เพื่อให้นักท่องเที่ยวชาวจีนได้ศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางมาไทย
นายฉัททันต์ กุญชร ณ อยุธยา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทย ม.ค.-เม.ย. 2567 อยู่ที่ 12.12 ล้านคนเพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8.42 ล้านคน ซึ่งความร่วมมือกับอาลีเพย์พลัส มีส่วนช่วยผลักดันการท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก
“การมีเครือข่ายร้านค้าที่รองรับการใช้งานเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในเมืองรองต่าง ๆ ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเติบโตของกลุ่มร้านค้ารายย่อย โดยความร่วมมือระหว่าง ททท. และอาลีเพย์พลัส ถือเป็นก้าวสำคัญในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวหลักของไทย”