Cryptocurrency ไทย วันที่ภาครัฐลุกขึ้นมากำกับดูแล

กระแสของ cryptocurrency ยังคงแรงไม่หยุด แม้จะชะงักจากการมีกฎหมายควบคุมของภาครัฐ แต่ก็ยังเป็นประเด็นร้อนในเวที “สตาร์ตอัพไทยแลนด์” 

โดย “ดร.ภูมิ ภูมิรัตน” ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสมาคมฟินเทค ประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาในประเทศไทยให้ความสนใจในบล็อกเชนเยอะมาก มีการรวมตัวกันก่อตั้งสมาคมไทยแลนด์ บล็อกเชน ตลาดแลกเปลี่ยนคริปโทเคอร์เรนซี เพิ่มจาก 2 ราย เป็น 4 ราย และเชื่อว่าภายในสิ้นปีมีเพิ่มอีกเท่าตัว ทั้งยังมีการระดมทุนผ่านเงินดิจิทัล ICO จำนวนมาก ขณะที่อีโคซิสเต็มส์ของ cryptocurrency ยังมีปัญหาความน่าเชื่อถือ อาทิ เมื่อต้นปีมีการแฮกระบบของผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน cryptocurrency ของญี่ปุ่นรายหนึ่ง สร้างความเสียหายถึง 17,000 ล้านบาท และช่วงเดือนที่ผ่านมาก็มีการแฮกอีก

“ปีที่ผ่านมามีการทำ ICO ที่เปิดเผยมูลค่าได้ถึง 6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับประเทศที่มีการทำไอซีโอมากที่สุดได้แก่ สหรัฐอเมริกา 429 โครงการ รองลงไปคือรัสเซีย 242 โครงการ อังกฤษ 232 โครงการ สิงคโปร์ 213 โครงการ โดยบางโครงการระดมทุนได้ถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ในทางกลับกันมีสถิติในสหรัฐอเมริกาที่ระบุว่า การทำ ICO มี 10% ที่เชิดเงินหนี 81% ของโปรเจ็กต์หลอกลวง 6% ทำแล้วล้มเหลว มีแค่ 8% ที่อาจจะสำเร็จ ดังนั้นจึงเป็นสาเหตุที่ภาครัฐต้องเข้ามากำกับดูแล”

ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา แบงก์ชาติร่วมกับ 14 ธนาคาร และบริษัทที่ปรึกษา 2 แห่ง ได้ร่วมกันทำบล็อกเชนเพื่อพัฒนาการเงินในประเทศ เพื่อรองรับอีโคซิสเต็มส์ที่กำลังขยายตัว จากการทำ ICO มหาศาล ภาครัฐจึงออกกฎหมายมาเพื่อปกป้องนักลงทุน โดยออกเป็นพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 จำนวน 2 ฉบับ เพื่อกำกับผู้ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับ cryptocurrency และ digital accessกำกับเฉพาะเป็นประเทศแรก

“พ.ร.ก.นี้เป็นข้อบังคับเฉพาะครั้งแรกของโลก ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ยังไม่ครบหรือไม่ก็ใช้กฎหมายเดิมมาปรับใช้

สำหรับแนวทางปฏิบัติประเทศไทยนำมาจากหลาย ๆ ประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา โดยของไทยจะใกล้เคียงกับญี่ปุ่นแต่จะครบกว่า ส่วนด้าน ICO ไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร แต่มีหลายประเทศที่คิดจะทำแล้วเทียบแล้วใกล้เคียงกันกับไทย จึงถือว่าเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่มีและแนวทางก็ไม่น่าเกลียด ตอนนี้ภาครัฐมีทัศนคติที่ดี แต่ความเข้าใจอาจจะยังต้องค่อย ๆ พัฒนา”

หลักสำคัญของ พ.ร.ก.ไม่ได้ห้ามทำ ICO แต่ทำให้กระบวนการช้าลง เพื่อไม่ให้เกิดการหลอกลวง เนื่องจากที่ผ่านมาถูกใช้ในการหลอกลวงจำนวนมาก

“เกณฑ์กำกับก็ไม่ยาก คือ ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ หรือ ICO portal มาช่วยวิเคราะห์เชิงธุรกิจก่อนจะเข้ามาหา ก.ล.ต. เพราะที่ผ่านมาบางคนก็ไม่พร้อม ต้องแก้ไปแก้มา ดังนั้นกฎเกณฑ์นี้จะช่วยลดจำนวนครั้งในการแก้ไข”

ด้าน “สกลกรย์ สระกวี” ผู้ก่อตั้ง และเป็น CEO ของบริษัท Bitkub Online Co., Ltd. และ Bitkub Blockchain Technology Co., Ltd. กล่าวว่า เห็นด้วยกับกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต.ออกมา เพราะจะทำให้มีคนช่วยกลั่นกรองให้นักลงทุนกล้าลงทุน ICO มากขึ้น แต่นักลงทุนก็ยังต้องยอมรับความเสี่ยงที่มากกว่า เพราะใช้แค่หนังสือชี้ชวนฉบับย่อ “white paper” ขายไอเดียเพื่อระดมทุนเท่านั้น โดยบริษัทที่เหมาะจะทำ ICO คือ บริษัทที่ทำด้านเทคโนโลยีบล็อกเชน

เก็บภาษีสะเทือนอีโคซิสเต็มส์

สิ่งที่ต้องจับตาจากนี้ “ดร.ภูมิ” ระบุว่า ต้องมุ่งไปที่การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ต้องออกแบบไม่ให้ทำลายอีโคซิสเต็มส์ แต่ในส่วนของการเก็บภาษีเงินได้จากการซื้อขาย มองว่าประเทศที่มีตลาดแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลขนาดใหญ่อย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากธุรกรรมนี้ แต่สิ่งที่มองว่าเป็นปัญหาคือ วิธีการ โดยน่าจะใช้การเก็บผ่านตลาดแลกเปลี่ยน โดยให้ ก.ล.ต.ช่วยออกกฎให้บังคับให้ธุรกิจนี้ต้องยื่นบัญชีให้ครบเพื่อจัดเก็บภาษี อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าสรรพากรจะไม่เก็บภาษี 15% ทุกทรานแซ็กชั่นแน่นอน

อีกส่วนที่น่ากังวลคือ “ภาษีเงินได้นิติบุคคล” จากบริษัทที่ระดมทุนผ่าน ICO ซึ่งมีโอกาสที่สรรพากรจะตีความว่าเงินที่ระดมทุนมาเป็นรายได้

“ดังนั้นถ้าระดมทุนมาในเดือนมกราคมและต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% คุณต้องรีบใช้ใหม่หมด ถ้าใช้ไม่หมด สิ้นปีจะถูกเก็บภาษีเงินได้ในส่วนที่เหลือ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มต้นทุนในการระดมทุน และทำให้คนไม่กล้าทำ ICO ในไทย เพราะต้นทุนสูงเกินไป

จึงควรต้องมีเทคนิคในการเก็บเงินหลังจากที่โครงการเสร็จแล้วเงินเหลือ อย่างประเทศสิงคโปร์อนุญาตให้บริษัทที่ระดมทุนมาล่วงหน้า ยังไม่ต้องบันทึกเป็นรายได้ จนกระทั่งทำโปรเจ็กต์เสร็จและยกรายได้ทั้งหมดมาในบัญชีเพื่อจ่ายภาษี และอีกกลุ่มที่กลัวภาษีมากคือ “นักขุดเหรียญดิจิทัล” ซึ่งเข้าข่ายของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นถ้าต้องการจะนำค่าเครื่องค่าไฟมาหักภาษีควรจดทะเบียนบริษัท”

ธุรกิจเหล่านี้มีโอกาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ และดึงดูดธุรกิจจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้ ดังนั้นหากรัฐบาลอยากสนับสนุนต้องมีมาตรการที่เอื้อต่อการเติบโต อาทิ การลดหย่อนภาษีจากกำไรส่วนต่าง ถ้ามีการถือครองทรัพย์สินดิจิทัลนั้นเกิน 3-6 เดือน การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

ยิ่งบีบยิ่งลงใต้ดิน

“สกลกรย์” เสริมว่า เห็นด้วยที่จะเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่าง แต่ไม่เห็นด้วยที่จะต้องเก็บภาษี 15% ในทุก ๆ ธุรกรรม “ยิ่งบีบ จะทำให้คนหนีไปเทรดที่อื่น ไม่ได้เทรดแบบเป็นทางการผ่านเอ็กซ์เชนจ์ ภาครัฐจะจัดการลำบาก เพราะการทำนอกตลาดมีทั้งการฟอกเงิน การหลอกลวง ซึ่งแนวคิดภาครัฐตอนนี้กำลังดันคนให้ออกไปนอกตลาด”

ขณะที่ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ผู้ก่อตั้งไพรเวตเชน และผู้ก่อตั้ง Coins.co.th กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษี เพราะ cryptocurrency ถูกสร้างมาเพื่อลดตัวกลาง มาลดค่าธรรมเนียมธุรกรรมต่าง ๆ อาทิ ปัจจุบันการโอนเงินไปต่างประเทศเสียค่าธรรมเนียม 5-10% แต่ถ้าโอนผ่าน cryptocurrency จะเสียค่าธรรมเนียมแค่ 0-1% ซึ่งถ้ารัฐมีนโยบายจะเก็บภาษีจะทำให้ต้นทุนเพิ่มเป็น 15% เท่ากับไม่เอื้อให้เกิดประโยชน์ และใช้ cryptocurrency ไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ แม้ในประเทศเกาหลีใต้กับญี่ปุ่นจะเก็บภาษีเหมือนกัน แต่เชื่อว่าในอนาคตถ้ามีความเข้าใจมากขึ้นทุกประเทศจะยกเลิก

อนาคต Cryptocurrency

“ดร.ภูมิ” กล่าวว่า อนาคตของอีโคซิสเต็มส์ของบล็อกเชน หลายประเทศต้องการทำ จะมี CBDC หรือ central bank digital currency โดยธนาคารกลางทั่วโลกมีการคิดที่จะทำ cryptocurrency

ของตัวเอง แต่ยังไม่มีประเทศใดที่ลงมือจริงจัง แต่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีของโลก เช่น เฟซบุ๊กประกาศหันมาศึกษาบล็อกเชนอย่างจริงจัง กูเกิลก็มีกองทุนในการลงบล็อกเชนสตาร์ตอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก รวมถึงกำลังพัฒนาบล็อกเชนของตัวเอง โดยจะทำกูเกิลคลาวด์แพลตฟอร์มเป็นส่วนแรก รวมทั้งอเมซอนได้ทำบล็อกเชนเทมแพลตในการทำบล็อกเชนสำเร็จรูป ซึ่งช่วยให้ผู้ที่เริ่มทำบล็อกเชนทำได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจะเห็นว่าโลกของบล็อกเชนกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว

“ถ้าเฟซบุ๊กหันมาทำเฟซบุ๊กคอยน์ คนจะใช้จ่ายผ่านเฟซบุ๊กได้เยอะมาก เพราะคนครึ่งโลกใช้แพลตฟอร์มนี้ และมีข้อมูลของทุกคน และเขาสามารถทำได้มากกว่านั้น”