Lazada เผยอินไซต์การใช้ AI ในอีคอมเมิร์ซ พบผู้ใช้ 80% ใช้ฟีเจอร์ AI สัปดาห์ละครั้ง พร้อมเปิดตัว “Lazzie” แชตบอต AI ยกระดับประสบการณ์ผู้ซื้อ-ผู้ขาย
รายงานข่าวจากลาซาด้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ลาซาด้า” (Lazada) จัดทำรายงาน “การใช้เทคโนโลยี AI ในอีคอมเมิร์ซในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” (Artificial Intelligence Adoption in eCommerce in Southeast Asia) ร่วมกับ “กันตาร์” (Kantar)
โดยรวบรวมข้อมูลจากการสำรวจความคิดเห็นของนักช็อปกว่า 6,000 คน อายุระหว่าง 18-60 ปี ใน 6 ประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เพื่อทำความเข้าใจการใช้งาน AI บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้บริโภค ผ่านการวิเคราะห์การรับรู้ ความไว้วางใจและความชอบ พฤติกรรมของผู้บริโภค และความท้าทายต่าง ๆ
รายละเอียดที่น่าสนใจของรายงานฉบับดังกล่าวแบ่งเป็นประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
การรับรู้และการใช้งานจริงของ AI ในอีคอมเมิร์ซ
ผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 2 ใน 3 (63%) เชื่อว่าเทคโนโลยี AI นำมาใช้อย่างแพร่หลายในการช็อปปิ้งออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งรู้จักฟีเจอร์เด่น ๆ บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ที่ใช้ AI โดย 63% รู้จักแชตบอต AI, 53% รู้จักฟีเจอร์แปลภาษา และ 52% รู้จักฟีเจอร์การค้นหาผลิตภัณฑ์ด้วยภาพ
ในด้านการใช้งานจริง พบว่าผู้บริโภคน้อยกว่า 50% ใช้งานฟีเจอร์เหล่านี้ โดย 47% ใช้งานแชตบอต AI, 40% ใช้ฟีเจอร์ค้นหาผลิตภัณฑ์ด้วยภาพ และ 40% ใช้ฟีเจอร์แปลภาษา โดยมีเพียง 1 ใน 3 ของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าฟีเจอร์เหล่านี้ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง
ผลสำรวจดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงช่องว่างระหว่างการรับรู้และการใช้งานจริงของฟีเจอร์ AI ในอีคอมเมิร์ซ ซึ่งถือเป็นโอกาสของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่จะยกระดับประสบการณ์การช็อปให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการใช้ประโยชน์จาก AI และข้อมูลเชิงลึก ในการส่งมอบประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เฉพาะบุคคลและราบรื่นตลอดในทุกขั้นตอนยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความพึงพอใจและความภักดีของลูกค้า
พฤติกรรมของผู้บริโภคในการช็อปปิ้งออนไลน์
ผลการสำรวจระบุว่า ผู้บริโภคมีความไว้วางใจในแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ใช้ประโยชน์จาก AI เมื่อช็อปออนไลน์ เช่น คำแนะนำผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความสนใจเฉพาะบุคคล (92%) และการสรุปข้อมูลผลิตภัณฑ์ (90%) อีกทั้งผู้บริโภคกว่า 88% ยังใช้เนื้อหาและคำแนะนำสินค้าซึ่งใช้ AI ในการประมวลข้อมูล เพื่อช่วยในการตัดสินใจซื้อสินค้าด้วย
รายงานยังได้สำรวจแรงจูงใจของผู้บริโภคในการใช้ AI เมื่อช็อปปิ้งออนไลน์ โดยพบว่าผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกินครึ่ง (52%) ระบุว่า ประสบการณ์ช็อปปิ้งที่สะดวกสบายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หันมาใช้ AI ในชีวิตประจำวัน และผู้บริโภค 51% เห็นว่าการรีวิวสินค้าและร้านค้าเป็นฟีเจอร์หลักที่พวกเขาให้ความสำคัญ
การใช้ AI ในการยกระดับประสบการณ์ช็อปปิ้งได้สร้างผลกระทบเชิงบวก โดยนักช็อปส่วนใหญ่ (83%) ยินดีที่จะจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อประสบการณ์การช็อปที่ขับเคลื่อนด้วย AI โดยผู้ตอบแบบสอบถามเกือบครึ่งหนึ่ง (49%) ระบุว่า AI ช่วยยกระดับการค้นหาสินค้า การบริการลูกค้า และสร้างความเพลิดเพลินในการช็อปปิ้งออนไลน์
ผลการสำรวจยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 80% ใช้ฟีเจอร์ AI บนแอปพลิเคชั่นอีคอมเมิร์ซเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ถือเป็นโอกาสที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจะพัฒนาเทคโนโลยี AI เพื่อมอบประสบการณ์การช็อปที่ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น
ลาซาด้าเปิดตัวฟีเจอร์ AI ใหม่
จากพฤติกรรมของผู้บริโภคและแนวโน้มการใช้ AI ในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่มากขึ้น ลาซาด้าได้เปิดตัว “AI Lazzie” ผู้ช่วยช็อปปิ้งส่วนบุคคลที่ให้บริการ 24 ชั่วโมง ประกอบไปด้วย 4 ฟีเจอร์หลัก ได้แก่
Message+ : เครื่องมือรับส่งข้อความเฉพาะบุคคลบนแอป ที่สามารถให้คำแนะนำการช็อปปิ้งที่ตรงใจมากขึ้น และยังแนะนำคูปองและรวมดีลส่วนลดหลายต่อเพื่อราคาที่คุ้มค่า
Try-On Models : ประสบการณ์การช็อปปิ้งรูปแบบใหม่ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกโมเดลเสมือนจริงเพื่อลองเสื้อผ้าที่เหมาะสมกับตนเองได้ และยังสามารถแนะนำขนาดของเสื้อผ้าตามขนาดของโมเดล AI ดังกล่าว โดยฟีเจอร์นี้จะช่วยลดต้นทุนด้านการตลาดและการดำเนินงานของผู้ขาย
AI-Powered Product Description : คำอธิบายผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์ด้วย AI โดยเน้นคุณสมบัติเด่นของผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน
AI-Powered Smart Reviews : ฟีเจอร์อัจฉริยะที่ช่วยสรุปการรีวิวผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักช็อปเห็นภาพรวมของรีวิว และทำให้ตัดสินใจซื้อสินค้าได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
รายงานระบุว่า Lazzie เป็นแชตบอต AI ที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีของ OpenAI ChatGPT โดยฟีเจอร์ใหม่ของ AI Lazzie จะเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับประสบการณ์ให้ทั้งผู้บริโภคและผู้ขาย ทำให้การค้นหาสินค้า และการตัดสินใจซื้อสินค้าเป็นเรื่องง่าย ควบคู่ไปกับกระบวนการขายที่สะดวกยิ่งขึ้น