มุมมองแม่ทัพ VST ECS ตลาดไอทีในวันที่อะไร ๆ ก็ ‘คลาวด์’

IT
สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช

เมื่อ 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัท “ดิสทริบิวเตอร์” สินค้าไอทีทั้งหลายเริ่มปรับแผน ปรับทิศทางธุรกิจหาลู่ทางสร้างการเติบโต บ้างก็ขยับไปหาสินค้าใหม่ ๆ บริการใหม่ ๆ ที่ตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่การเป็นผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไอที, เซิร์ฟเวอร์, โทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ แบบเดิม ๆ อีกแล้ว

หนึ่งในนั้นรวม บริษัท วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) จำกัด (VST ECS) ที่ก่อนหน้านี้ก็หันไปนำเข้าสินค้าใหม่ ๆ ที่ตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค อย่าง “มอเตอร์ไซค์อีวี” แต่กลับไม่เป็นตามคาดจึงต้องตั้งหลักหาวิธีการใหม่ และปรับแผนธุรกิจ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “สมศักดิ์ เพ็ชรทวีพรเดช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วีเอสที อีซีเอส (ประเทศไทย) เกี่ยวกับแนวโน้มอุตสาหกรรมสินค้าไอที และบทเรียนสำคัญในช่วงที่ผ่านมา

ตลาดไอทีครึ่งปีหลัง

“สมศักดิ์” กล่าวว่า บริษัทมีสินค้าครบ ครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ รวมถึง 87 แบรนด์ ถือเป็นดิสทริบิวเตอร์ที่ถือแบรนด์มากที่สุดในตลาด โดยมีแบรนด์ใหญ่บางแบรนด์ที่บริษัทได้รับสิทธิในการทำตลาดแต่เพียงผู้เดียว เช่น Adobe และ VMware เป็นต้น โดยยังคงมี Big4 คือ Com7, IT City, Advice, JIB เป็นลูกค้ารายหลักที่แข็งแกร่ง

“ยอดขายปีนี้มาจาก 3 กลุ่มธุรกิจ คือ Solutions, Commercial และ Device & Lifestyle สำหรับตลาดคอนซูเมอร์ จะเน้นสินค้าไอทีเป็นสินค้าหลัก ต้องยอมรับว่าตลาดนี้น่าเป็นห่วง เพราะความต้องการชะลอลง ในขณะที่ผู้นำเข้า และจัดจำหน่ายมีเพิ่มมากขึ้น ในภาพรวมคู่แข่งรายอื่น ๆ อาจดรอป 2 ดิจิต แต่เราจะพยายามรักษาให้ดรอปแค่ดิจิตเดียว โดยจะมุ่งกินแชร์ตลาดคนอื่นให้ได้มากที่สุด”

เมื่อมองแนวโน้มในฝั่งสินค้าไอที ตนมองว่า AI จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตลาดโทรศัพท์มือถือ โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่พัฒนาไปอีกขั้น รวมถึงการมาถึงของ AI Desktop PC จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตลาด Client โดยคาดการณ์ว่าอาจเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 4/2568

ADVERTISMENT

“ตลาด Device & Lifestyle มีตัวเลขที่เติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะยอดขายมือถือไม่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว กระตุ้นให้ผู้บริโภคจำเป็นต้องซื้อ จากเวอร์ชั่นของแอนดรอยด์ที่เปลี่ยนไป ซึ่งธนาคารระบุว่าจะต้องอัพเดตแอนดรอยด์ และไอโอเอสเสมอ ๆ เป็นสินค้าแฟชั่น จำเป็นต้องใช้ ในฝั่งซัมซุงก็ขายดี เพราะมีซัมซุงไฟแนนซ์มาช่วย”

AI จุดพลุดีมานด์โต

สำหรับสินค้าในกลุ่มพีซี อาจยังต้องรอลุ้นดูโอกาสอีกนิดว่าจะมี AI บน Desktop ที่ทำอะไรได้มากกว่า Copilot หรือไม่

ADVERTISMENT

ถ้ามีแอปพลิเคชั่นที่เข้ามาช่วยงานได้รวดเร็ว และดีกว่าเดิมก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทำให้ตลาดมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะทุกคนจะต้องการเปลี่ยนเครื่องกันหมด

“ในฝั่งตลาดคอมเมอร์เชียล จะเติบโตจากภาครัฐ และเทคโนโลยี AI การเติบโตของเซิร์ฟเวอร์, Network Security มีมากขึ้น ตั้งแต่เริ่มธุรกิจมา ไม่มีปีไหนที่ไม่โต และคาดว่าปีนี้น่าจะโตจากเดิมประมาณ 10% มียอดขายเกือบ 5 หมื่นล้านบาท”

นายสมศักดิ์กล่าวต่อว่า บริษัทจะใช้สำนักงานขายที่มีอยู่ 11 แห่ง เข้ามาช่วยผลักดันยอดขาย เพราะต้องการขยายตลาดไปยังลูกค้ารายย่อยทั่วประเทศให้มากขึ้น โดยทั้ง 11 สาขาจะทำหน้าที่ในการสต๊อกสินค้าประเภท Fast Moving เพื่อพร้อมส่งของถึงมือดีลเลอร์ในจังหวัดนั้น ๆ ภายใน 3 ชั่วโมง

ถอดบทเรียนมอ’ไซค์อีวี

แม่ทัพ “วีเอสที อีซีเอส” ยังพูดถึงการนำมอเตอร์ไซค์อีวีเข้ามาทำตลาดด้วยว่า ถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ จากเดิมตั้งใจนำเข้ามาเพื่อทำตลาดกับผู้บริโภคทั่วไป แต่ประสบปัญหามากมายจึงต้องปรับแผนจาก B2C มาเป็น B2B

“หลายปีก่อน เราเห็นว่ามอเตอร์ไซค์อีวีเป็นสินค้าที่น่าจะมีความสำคัญ และเป็นที่ต้องการ จึงนำเข้ามาและจัดจำหน่ายเอง ปรากฏว่าเผชิญกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การจัดทำสินเชื่อ เนื่องจากรถมีราคาสูง รวมไปถึงด้านเซอร์วิสต่าง ๆ เช่น การที่ต้องมีสถานีเปลี่ยนแบตเตอรี่ เป็นต้น จนปีที่แล้วได้ปรับแผนมุ่ง B2B ก็เห็นผลชัดเจนว่าสเกลใหญ่ขึ้นมาก เพราะเวนเดอร์เรามีโรงงานประกอบในไทย พร้อมปรับแต่งรถให้ตรงตามโจทย์ลูกค้า”

อีกทั้งยังเป็นเจ้าเดียวที่มีศูนย์มอนิเตอร์รถ และมีการตรวจจับผ่านระบบ GPS จึงเหมาะกับแพลตฟอร์มดีลิเวอรี่ที่ต้องการให้ไรเดอร์เช่าขับทำให้ขยายสเกลได้มหาศาล และเติบโต

มองต่างมุมกระแสคลาวด์

เมื่อถามว่าคู่แข่งรายอื่น ๆ มีการปรับตัวไปสู่การเป็นพันธมิตรกับ Cloud Provider จากกระแส “ดาตาเซ็นเตอร์” ในประเทศไทยที่เติบโตอย่างมาก “สมศักดิ์” กล่าวว่า บริษัทมองต่างออกไป ท่ามกลางกระแสโลกที่มุ่งสู่คลาวด์สาธารณะ ทั้งการลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์ที่โหมโรงตั้งในประเทศไทย ทำให้หลายองค์กรหันมาตระหนักว่า “ข้อมูลสำคัญ และเปราะบาง” จึงควรอยู่กับตัวมากกว่า แต่จะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายในการตั้งเซิร์ฟเวอร์ถูกลง

“เวลาใช้บริการคลาวด์ ตอนอัพโหลดข้อมูลขึ้นง่าย แต่ถ้าจะเลิกใช้รายหนึ่งแล้วไมเกรตไปที่อื่น เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ข้อมูลสำคัญของเราได้มีการโอน และลบออกจากที่เดิมทั้งหมด ดังนั้นหลายองค์กรมองว่าอำนาจการควบคุมข้อมูลมีความสำคัญมาก จึงยังควรเป็นของบริษัท แม้จะไม่ตั้งเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัท ก็ยังควรใช้ Private Cloud”

แม่ทัพวีเอสที อีซีเอส กล่าวว่า ตนมีแนวทางคนละมุมมองกับ Hyper Scaler ในท้องตลาด โดยจะเน้นทำด้าน Private Cloud ขายผ่านรีเซลเลอร์ และมีการเก็บเงินเป็นรายเดือนเหมือนกัน เช่น สินค้า Greenlake ของ HP, Azure ของ Microsoft เป็นต้น

หมายความว่า ถ้าลูกค้าต้องการซื้อของไปทำเซิร์ฟเวอร์เองที่บริษัทก็ได้ หรือจะฝากเราตั้งเซิร์ฟเวอร์ไว้ที่เขารับฝาก อย่างเช่น ที่ไอเน็ตก็ทำได้ แล้วเปลี่ยนวิธีคิดเงินเท่าที่ใช้ เหมือนคลาวด์สาธารณะ จะทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง

“แม้รายได้จากเซิร์ฟเวอร์ยังเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับภาพรวม แต่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี อัตราการขาย Server โตขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยความกังวลด้าน Security จึงไม่มีองค์กรไหนนำระบบ ERP หรือข้อมูลสำคัญไปไว้บน Public Cloud เพราะกลัวการรั่วไหลของข้อมูล”

สำหรับบริษัทเอง ก็มีการลงทุนด้าน GPU Server 2 ส่วน คือ ด้านสื่อสารในองค์กรคล้าย ๆ ChatGPT ใช้ถามข้อมูลจากแชตบอต และอีกด้าน คือ เครดิตคอนโทรล เพื่อใช้ในการประมวลผลประวัติข้อมูลของลูกค้าที่รวบรวมไว้กว่า 30 ปี

“ที่บริษัทเราเลิกซื้อ Server แล้ว เน้นการเช่าใช้ ไม่จำเป็นต้องซื้อ ผู้ให้บริการมีหน้าที่อัพเกรด Server ให้ใหม่ตลอดเวลา และถูกกว่า ตนมองว่าไพรเวตคลาวด์จะมีบทบาทมากขึ้น เน้นแบบ Subscription ทำให้การลงทุนก้อนใหญ่ ๆ ไม่มีแล้ว เน้นจ่ายรายปี รายเดือน ทรัพย์สินเป็นของผู้ที่ให้เช่าใช้ และช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์”