กสทช.หนุน 5G เต็มสูบหวั่นกระทบเศรษฐกิจ 2.3 ล้านล้าน รื้อเกณฑ์ไลเซนส์-เก็บค่าใช้ทราฟฟิก OTTคืนความเป็นธรรมการลงทุนเน็ตเวิร์คให้ค่ายมือถือ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2562 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ “มติชน” ร่วมกันจัดงาน “5G ปลุกไทย ที่ 1 อาเซียน” ณ ห้องประชุมมหิตลาธิเบศร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดทิศทาง 5G

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยว่า การผลักดัน 5G ให้เกิดขึ้น กสทช. ได้เตรียมความพร้อมในการเปิดทดลองทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการทบทวนและผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้เอื้อต่อการพัฒนา สร้างกลไกที่เป็นแรงจูงใจในการลงทุนของเอกชน รวมถึงการจัดการประมูลแบบหลายย่านคลื่นพร้อมกัน (Multiband) อาทิ ย่าน 700 MHzคู่กับย่าน 2600 MHz

และจะมีการแบ่งรูปแบบใบอนุญาตออกเป็น ใบอนุญาตแบบให้บริการทั่วประเทศ (Nation Wide) และใบอนุญาตที่ครอบคลุมเฉพาะพื้นที่ที่กำหนด (Specific Area) เช่นในพื้นที่ EEC

ขณะเดียวกันได้เตรียมจะเสนอให้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. และรัฐบาล พิจารณาให้มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใช้โครงข่ายสำหรับผู้ให้บริการคอนเทนต์บนอินเทอร์เน็ต (OTT) ที่เข้ามาใช้ทราฟฟิกหารายได้บนโครงข่ายที่ผู้ให้บริการในประเทศไทยเป็นผู้ลงทุน

หากไทยล่าช้าในการก้าวสู่ 5G จะทำให้สูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยมีการประเมินว่า ในปี 2578 เทคโนโลยี 5G จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้กว่า 2.3 ล้านล้านบาท


“ความท้าทายของ กสทช. ในยุค 5G ที่จะมีการใช้งานดาต้ามากขึ้น 30 – 50 เท่า คือการจัดเก็บรายได้จาก OTT ต่างประเทศเพื่อความเป็นธรรมในการลงทุน และเป็นรายได้เข้ารัฐ”