ใครมีแวว “ไม่ไปต่อ” ส่อง“เรตติ้ง-รายได้”ทีวีดิจิทัล ก่อนเปิดใช้สิทธิ ม.44 “คืนช่อง”

การใช้อำนาจ มาตรา 44 ของ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ออกคำสั่ง ที่4/2562เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  คือ “ยาวิเศษ” ที่บรรดาช่องทีวีดิจิทัลเฝ้ารอมาหลายปี

หลังจากหน้ามืดเคาะราคาประมูล “ช่องทีวีดิจิทัล” ประเภทบริการธุรกิจเมื่อปลาย 2556 กันด้วยราคาสูงปริ๊ด จนทำให้ผู้ประกอบการบางรายต้อง “เจ็บหนักกระอักเลือด” มากว่า 5 ปี และเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยเยียวยา

โดยเฉพาะการเปิดทางให้ “คืนช่อง” ได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินประมูลที่เหลือ คือ “ที่สุด” ที่หลายช่องอยากได้ เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมา แม้จะมี “ทุนใหญ่” ระดับประเทศเข้าไปเทคโอเวอร์ถือหุ้นใหญ่ในหลายช่องแล้วก็ตาม  แต่ “ช่องที่กระอักจริงๆ” เร่ขายอย่างไรก็ไม่มีใครซื้อ

“ฐากร  ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) หัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการผลักดันให้เกิด ม.44  ครั้งนี้ เคยย้ำมาก่อนหน้านี้หลายครั้งว่า เห็นด้วยกับการเปิดทางให้คืนช่องทีวีดิจิทัลได้ เพราะไม่อย่างนั้น “ผู้ประกอบการก็จะตายซ้ำตายซ้อน ทำธุรกิจขาดทุนจนตายแล้ว แต่ก็ตายไม่ได้”   และเมื่อคำสั่ง คสช. ที่ 4/2562 ประกาศออกมาเลขาธิการ กสทช. ก็ประเมินว่า น่าจะมี “4-5 ช่องที่ยื่นเรื่องขอคืนช่อง” โดยจะต้องดำเนินการภายใน 30 วัน หลังคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้

ขณะ “นวมินทร์ ประสพเนตร” ประธานเจ้าหน้าการตลาด บมจ.โมโน เทคโนโลยี (MONO)เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าในส่วนของช่อง “Mono 29” คงไม่คืน เพราะอยู่ในกลุ่มเรทติ้ง Top 3

แต่มองว่าผู้ประกอบการที่มีช่องทีวีมากกว่า 1 ช่อง และกลุ่มช่องที่มีเรทติ้ง 5 อันดับท้าย น่าจะมีการขอคืนช่อง  และตามกลไกตลาดแล้ว ประเมินว่า เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมนี้จะรองรับได้ประมาณ 10 ช่องที่มีเรตติ้งในอันดับต้นๆ

“ประชาชาติธุรกิจ” จึงรวบรวมข้อมูลจากสำนักงาน กสทช. ที่ได้มีการสำรวจ “เรตติ้ง” ความนิยมของช่องต่างๆ  สรุป ณ สิ้นปี 2561  พร้อมกับข้อมูล “รายได้” ที่แต่ละช่องทีวีดิจิทัลได้แจ้งกับ สำนักงาน กสทช. เพื่อใช้ในการประเมินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ซึ่งล่าสุดเป็นข้อมูล ณ สิ้นปี 2560 (ปี 2561 กำลังอยู่ในกระบวนการสรุปข้อมูลเพื่อแจ้งต่อ กสทช.)

เลขาธิการ กสทช. ระบุว่า  ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลสามารถคืนใบอนุญาตได้ และไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ “ไปต่อหรือขอคืน” ก็ไม่ต้องชำระค่าประมูลในงวดที่ 5 และ 6 คิดเป็นเงิน 13,622 ล้านบาท จากที่ผู้ประกอบการได้ชำระแล้ว 34,600 กว่าล้านบาท

แต่จะมีการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องการชดเชยต่าง ๆ เบื้องต้นการชดเชยกรณีคืนใบอนุญาตจะพิจารณา 2 ส่วน 1.คำนึงถึงประโยชน์ที่ผู้รับใบอนุญาตได้รับในระหว่างที่ได้มีการประกอบกิจการ 2.ค่าธรรมเนียมประกอบใบอนุญาตที่ได้รับการชำระไปแล้ว

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!