บังคับใช้แล้ว! พ.ร.บ.กสทช. ใหม่ เปิดช่องไม่ต้องประมูลคลื่น-กำกับดาวเทียมเต็มตัว

พ.ร.บ. กสทช. ใหม่ มีผลบังคับใช้แล้ว เปิดทางไม่ต้องประมูลคลื่น ให้อำนาจเต็ม “กสทช.” กำกับดาวเทียม พร้อมเรียกคืนคลืนได้ทันทีหาก 3 ปีไม่ใช้ประโยชน์ 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศการบังคับใช้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2562  (พ.ร.บ.กสทช.)

โดยเป็น พ.ร.บ. กสทช. ฉบับล่าสุดที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบเมื่อ 24  มกราคม 2562 ด้วยคะแนน 176 เสียง จากผู้เข้าประชุมทั้งหมด 181

การประกาศใช้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรกับวงการบรอดแคสต์และโทรคมนาคม “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดเนื้อหาสำคัญ

ออก พรฎ. เพื่อกำกับแบบหลอมรวมจริงๆ

เหตุผลสำคัญที่ต้องมีการปรับปรุงคือ การกำหนดบทบาทหน้าที่และเร่งรัดการกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และการใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมแห่งชาติ

การกำกับการประกอบกิจการให้สอดคล้องกับการหลอมรวมเทคโนโลยี ซึ่งได้ระบุให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิ่มเติมในส่วนนี้ โดยต้องเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งยังกำหนดหน้าที่ “กสทช.” (สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) ในการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้คลื่นความถี่

เปิดช่องไม่ต้องประมูลคลื่น

สาระสำคัญที่สุด คือ มาตรา 42 ที่ระบุให้ไม่ต้องจัดสรรหรืออนุญาตให้ใช้คลื่น โดยใช้ “การประมูล” ได้

ในกรณีที่เป็นคลื่นความถี่ที่มีเพียงพอต่อการใช้งาน คลื่นที่ กสทช.ประกาศกำหนดให้นำไปใช้ในกิจการเพื่อบริการสาธารณะ ความมั่นคงของรัฐ หรือกิจการอื่นที่ไม่แสวงหากำไร โดยจะจัดสรรหรือให้ใบอนุญาตด้วยวิธีใด

ไลเซนส์เฉพาะพื้นที่-ให้ผู้อื่นใช้คลื่นร่วมได้

มาตรา 41 ระบุให้การอนุญาตใช้คลื่นสามารถแบ่งออกเป็นการอนุญาตในระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่นได้ และผู้ที่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. อาจอนุญาตให้บุคคลอื่นร่วมใช้ประโยชน์ในคลื่นดังกล่าวได้ หาก กสทช.อนุญาต ซึ่งจำเป็นต้องมีการออกประกาศหลักเกณฑ์เงื่อนไขการอนุญาต รวมถึงการเก็บค่าธรรมเนียม

แต่ในมาตรา 44/1 ยังห้ามไม่ให้มอบการบริหารจัดการทั้งหมดหรือบางส่วน หรือยินยอมให้ผู้อื่นมีอำนาจประกอบกิจการแทน แต่ในส่วนของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ จะเปิดให้บุคคลอื่นเช่าเวลาดำเนินรายการบางช่วงได้ แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนด

ส่วนผู้ที่ได้รับใบอนุญาตใช้งานคลื่นแล้วให้ถือว่า ได้รับอนุญาตให้มีและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และตั้งสถานีวิทยุคมนาคมด้วย ตามมาตรา 43

3 ปีไม่ใช้เรียกคืนคลื่นได้

ขณะที่มาตรา 44/3 ระบุว่า ใบอนุญาตใช้คลื่นเป็นสิทธิเฉพาะตัว จะโอนให้ผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจาก กสทช. และเสียค่าธรรมเนียมการโอน ซึ่ง กสทช.ต้องประกาศหลักเกณฑ์มาตรา 49 กำหนดให้ต้องจัดสรรคลื่นเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือภาคประชาชนในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของความสามารถในการส่งสัญญาณที่จะอนุญาตในแต่ละครั้ง

แต่ในกรณีที่ไม่มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นที่จัดสรรให้ในส่วนนี้หรือเพื่อกิจการประเภทอื่นที่กำหนดไว้จนพ้น 3 ปี หาก กสทช.เห็นว่าการนำคลื่นไปใช้ในกิจการอื่นจะเกิดประโยชน์หรือมีประสิทธิภาพกว่า ให้ กสทช.มีอำนาจนำคลื่นไปใช้ได้

ดูแล “ดาวเทียม-วงโคจร”

มาตรา 8 (14) กำหนดให้ กสทช.ดำเนินการในฐานะหน่วยงานอำนวยการของรัฐที่มีอำนาจในการบริหารกิจการสื่อสารระหว่างประเทศกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) หรือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น

รวมถึงการสนับสนุนให้รัฐมีดาวเทียมหรือให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม และประสานงานเกี่ยวกับการบริหารคลื่นความถี่ทั้งในประเทศ-ระหว่างประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงนโยบายรัฐ ทั้งยังให้มีอำนาจพิจารณาและกำกับดูแลการประกอบกิจการโดยใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติ รวมถึงการออกหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการอนุญาต ทั้งใบอนุญาต การอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติเข้ามาให้บริการในประเทศ (landing rights)

เลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติ

นอกจากนี้ยังเพิ่มหมวด “เลขหมายโทรศัพท์ฉุกเฉินแห่งชาติ” โดยในมาตรา 34/2 กำหนดให้ กสทช.จัดสรรเลขหมายดังกล่าวให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อประโยชน์ในการรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และมาตรา 34/3 ห้ามไม่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมเรียกเก็บค่าบริการใด ๆ จากผู้ที่โทร.เข้าเลขหมายฉุกเฉินนี้

มาตรา 34/5 ระบุว่า ผู้ใดใช้หรือเรียกเข้าเลขหมายฉุกเฉินแห่งชาติโดยไม่มีเหตุ หรือมีพฤติกรรมก่อกวน มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 10,000 บาท

คลิกอ่าน พ.รบ. ฉบับเต็ม