ค้าปลีก “มือถือ-ไอที” แห่ปรับตัว สู้แคมเปญ “ดับเบิลเดย์” อัดหนัก

แคมเปญดับเบิลเดย์อีคอมเมิร์ซพ่นพิษ “มือถือ-ไอที” ปรับตัวจ้าละหวั่น “เจมาร์ท” หนีแข่งราคา รุก “อุปกรณ์เสริม” ชูคอนเซ็ปต์ “Gadget Destination” ด้าน “เจไอบี” แนะบริหารช่องทางขายแยกสินค้า-เติมโปรโมชั่นเสริม ชี้ “โน้ตบุ๊ก-คอมพิวเตอร์” แค่โดนหางเลขไม่หนักเท่าสมาร์ทโฟน

นายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารสายงานการตลาด บริษัท เจมาร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การขายสมาร์ทโฟนผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซส่งผลกระทบต่อช่องทางร้านค้าปลีกบ้าง โดยเฉพาะการทำโปรโมชั่นด้านราคา ซึ่งเจมาร์ทก็มีการขายออนไลน์ทั้งผ่านเว็บไซต์ของตนเอง และบนมาร์เก็ตเพลซ รวมถึงมีการจัดโปรโมชั่นในช่วงวัน “ดับเบิลเดย์” ควบคู่ไปกับการทำการตลาดแบบออมนิแชนเนลที่สามารถส่งของได้ภายใน 3 ชั่วโมง

เจมาร์ทปรับแผนมุ่งแก็ดเจต

“ตลาดสมาร์ทโฟนยังมีสัดส่วนยอดขายบนออนไลน์เป็นตัวเลขหลักเดียว ซึ่งเราไม่ได้ปรับอะไรมาก เพราะถ้าจะไปทำโปรโมชั่นแฟลชเซลแบบลดขาดทุนก็คงไม่ทำ ตลาดออนไลน์ของเราจะเน้นสินค้าประเภทแก็ดเจตที่ได้มาร์จิ้นสูงกว่าสมาร์ทโฟน ขณะที่ในภาพรวมตลาดสมาร์ทโฟนตอนนี้ค่อนข้างดรอป”

ขณะเดียวกัน เจมาร์ทจะหันมาเน้นการทำตลาดอุปกรณ์เสริมมากขึ้น โดยเฉพาะอุปกรณ์เสริมที่รองรับเทคโนโลยี IOT เรียกว่าเป็น “Gadget Destination” โดยปรับหน้าร้าน 20 แห่งให้มีสัดส่วนในการขายอุปกรณ์เสริม และดีไวซ์ IOT เพิ่มขึ้นเป็น 40% จากเดิมมีแค่ 20% และภายในปีหน้าจะเพิ่มเป็น 60 แห่ง รวมถึงขยายสาขาร้าน “Jaymart ioT” โดยเฉพาะจากที่เปิดแล้ว 1 แห่ง เป็น 5 แห่ง และตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนรายได้จากอุปกรณ์เสริมเป็น 10% จากเดิมแค่ 2% ภายในปีหน้าด้วย

“ปีนี้เป็นปีที่เราตั้งใจว่าจะกลับมาทำกำไรให้ได้ จากปีที่ผ่านมาขาดทุนโดยพยายามรักษายอดขายที่ 8,000 ล้านบาทในปีนี้ และคงไม่คาดหวังเรื่องการเติบโตเพราะการแข่งขันสูงมาก”

ด้านนายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้จัดงานมหกรรมโทรศัพท์มือถือ แสดงความเห็นว่า การขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมีผลกระทบกับธุรกิจค้าปลีกหรือเชนสโตร์อย่างแน่นอน โดยเฉพาะในช่วงที่เว็บอีคอมเมิร์ซทั้งหลายมีการจัดแคมเปญ “ดับเบิลเดย์” เพราะมีโปรโมชั่นลดราคาลงมาเยอะมาก

เช่นเดียวกัน นายสมยศ เชาวลิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.ไอ.บี. คอมพิวเตอร์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การทำโปรโมชั่นของออนไลน์มาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อตลาดไอทีแน่นอน โดยเฉพาะตลาดโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากผู้บริโภคไม่กังวลเรื่องการรับประกัน เมื่อเจอสินค้าราคาถูกกว่าหน้าร้านก็ตัดสินใจซื้อได้ง่าย

บริหารพอร์ตสินค้า-ช่องทางขาย

“คนซื้อมือถือรู้ว่าประกันศูนย์ไปห้างไหนก็มีแบรนด์ช็อป เขาจึงไม่กังวล ดังนั้น ค้าปลีกสมาร์ทโฟนจึงต้องปรับตัวมาก”

สำหรับเจไอบีมีการขายสินค้าในทุกช่องทางทั้งออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงบนมาร์เก็ตเพลซมีการทำโปรโมชั่นดับเบิลเดย์ ทั้งบนเว็บไซต์ของตนเอง และบนมาร์เก็ตเพลซ มีการแบ่งแยกสินค้าที่ขายให้แตกต่างกันในแต่ละช่องทาง

นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างแบรนดิ้งให้แข็งแรงเป็นที่รู้จักและน่าเชื่อถือปัจจุบันเจไอบีมียอดขายเฉลี่ยเดือนละ 800 ล้านบาท สัดส่วนยอดขายจากช่องทางออนไลน์ประมาณ 12% แบ่งเป็นเว็บไซต์บริษัท 10% ออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนมาร์เก็ตเพลซ 2%

“ตอนนี้ลูกค้ารู้ว่าวันดับเบิลเดย์อย่าง 11.11/12.12 เป็นวันโปรโมชั่นออนไลน์เขาก็รอ ดังนั้น คนขายของออนไลน์ควรทำโปรโมชั่นในวันนั้น ต้องบอกว่าพื้นที่ออนไลน์น่ากลัวมาก สามารถทำยอดขายได้ถึง 30 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10 เท่าจากช่วงเวลาปกติ”

เสริมโปรฯสู้-ตจว.ยังไม่กระทบ

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้จัดจำหน่ายสินค้าไอที และสมาร์ทโฟน กล่าวว่า บริษัทไม่ได้รับผลกระทบจากอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากเป็นคนละตลาด โดยผู้ที่ซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิรซ์ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ชินกับการซื้อสินค้าออนไลน์อยู่แล้ว ขณะที่ลูกค้าที่ซื้อสินค้าหน้าร้านก็จะเน้นซื้อที่หน้าร้านเป็นหลัก อีกทั้งสินค้าที่ขายบนอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่เป็นสินค้าราคาไม่สูงมาก ขณะที่โปรโมชั่นในวันดับเบิลเดย์ทางบริษัทก็เข้าร่วมด้วย รวมทั้งทำโปรโมชั่นเองผ่านหน้าเว็บไซต์ด้วย

“สัดส่วนการขายออนไลน์ของเรา 70% มาจากกรุงเทพฯ เนื่องจากมีหน้าร้านแค่ 11 แห่ง ขณะที่ต่างจังหวัดก็สะดวกเดินทางมาซื้อที่ร้าน เพราะสาขาครอบคลุมถึงระดับอำเภอ”

ปัจจุบันยอดขายผ่านช่องทางออนไลน์ของบริษัทมีสัดส่วนประมาณ 13% จากยอดขายรวม และคาดว่าในปีนี้จะเติบโตประมาณ 30% โดยบริษัทมีเว็บไซต์ของตนเองและออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนเว็บ “ช้อปปี้” และไม่มีแผนเปิดออฟฟิเชียลแอ็กเคานต์บนมาร์เก็ตเพลซอื่นเพิ่มเติม เนื่องจากขายส่งให้ผู้ประกอบการจึงไม่อยากขายตัดหน้าคู่ค้า


นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบมจ. คอมเซเว่น เจ้าของเชนสโตร์ขายโทรศัพท์มือถือและสินค้าไอที กล่าวว่า การขายสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนผ่านอีคอมเมิร์ซมีมานานแล้ว แม้ช่วงหลังจะมีการจัดโปรโมชั่นลดราคาในช่วง “ดับเบิลเดย์”แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับคอมเซเว่นแต่อย่างใด