อลหม่าน PPP ดาวเทียม จับตา “ดีอีเอส” โดนดูดลูกค้า ?

ก.ย. 2564 สัญญาสัมปทานให้บริการดาวเทียมระหว่างกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) กับ บมจ.ไทยคม จะสิ้นสุดลง ซึ่งตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อ 29 ม.ค. 2562 เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการดาวเทียมทุกดวงที่มีอายุทางวิศวกรรมเหลืออยู่หลังสิ้นสุดสัญญา รวมทั้งทรัพย์สินต่าง ๆ ด้วยวิธีการ PPP ตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556

โดยล่าสุดเมื่อ ต.ค. 2562 ได้ลงนามจ้าง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นที่ปรึกษาโครงการการเข้าร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP แต่สัญญาจะครอบคลุมเฉพาะดาวเทียมที่ไม่มีข้อพิพาท คือ ไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ไทยคม 5 และไทยคม 6 ส่วนดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ซึ่งมีข้อพิพาทระหว่างดีอีเอสกับไทยคมว่า เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทานหรือไม่นั้น ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ต้องรอให้อนุญาโตตุลาการหรือศาลชี้ขาดก่อนว่าเป็นสัมปทานหรือไม่ แล้วจึงจะเข้าสู่กระบวนการ PPP ได้ หากตัดสินว่า เป็นดาวเทียมภายใต้สัมปทาน

สำหรับขอบเขตตามสัญญาจ้าง จุฬาฯ จะต้อง ทำหน้าที่เก็บข้อมูลทั้งหมด ตั้งแต่เขียน TOR ทำประชาพิจารณ์เงื่อนไขทั้งหมด จนถึงเป็นที่ปรึกษาคัดเลือกข้อเสนอ PPP ของเอกชน ซึ่งกำลังให้เจ้าหน้าที่กำหนดไทม์ไลน์แต่ละขั้นตอนให้ละเอียด เพราะมีหลายส่วนที่จะต้องเสนอให้รัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯเห็นชอบ และส่งให้ สคร. (สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) พิจารณา ซึ่งกระทรวงฯ ตั้งเป้าว่า ภายใน ก.ย. ปีนี้ จะต้องได้บริษัทผู้จะเข้ามาบริหารทรัพย์สินสัมปทาน เพื่อทำให้ผู้เข้ามารับช่วงมีเวลาเตรียมตัว 1 ปี ก่อนสัมปทานดาวเทียมกับไทยคมจะสิ้นสุด ก.ย. 2564

ไทยคม 5 ขัดข้อง

แต่ในระหว่างที่กำลังอยู่ในขั้นตอนเก็บข้อมูลประเมินมูลค่าทรัพย์สินก็มีเหตุใหญ่เข้ามากระทบนั่นคือ เมื่อเวลา 23.02 น. วันที่ 17 ธ.ค. 2562 ดาวเทียมไทยคม 5 เกิดปัญหาระบบแจ้งข้อมูลสถานะทางเทคนิคต่างๆ เกี่ยวกับการทำงานของดาวเทียมไทยคม 5 ขัดข้องโดยไม่ทราบสาเหตุ

แม้ว่า ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม “อัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย” เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยคม 5 ยังคงใช้งานได้ปกติ ไม่ได้ชำรุดหรือพังจนใช้งานไม่ได้ ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการซ่อมบำรุง

แต่แหล่งข่าวภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บมจ.ไทยคม และกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ทำหนังสือแจ้งถึงปัญหาของดาวเทียมไทยคม 5 ที่ขัดข้อง และขอให้ กสทช. พิจารณาอนุญาตให้ไทยคม ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติตามแผนบริหารจัดการในภาวะฉุกเฉิน และแผนการโอนย้ายลูกค้า

ย้ายลูกค้า-กระทบ PPP

โดยไทยคมแจ้งมาว่า พยายามกู้คืนแล้วแต่ไม่สำเร็จ ปัญหาคือ เมื่อจะกระทบกับลูกค้า จึงจำเป็นต้องขอโอนย้ายลูกค้าที่ใช้งานบนไทยคม 5 ไปอยู่ดาวเทียมต่างประเทศ ซึ่งกระทรวงดีอีเอส อ้างว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องอนุมัติ ซึ่งทาง กสทช. ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว แต่สำคัญคือ กระทรวงได้ตระหนักหรือไม่ว่า ประเด็นนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่จะกระทบกับสัญญาสัมปทานและทำให้รัฐเสียหายหรือไม่

“กรณีนี้ได้อ้างถึงความเดือดร้อนของผู้ใช้บริการดาวเทียม ซึ่งไม่ต่างจากกรณีที่สัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่จะสิ้นสุด ค่ายมือถือก็อ้างว่า เพื่อให้ลูกค้าใช้งานต่อเนื่อง ไม่ซิมดับ จึงต้องย้ายลูกค้าออกจากระบบสัมปทาน ไปเป็นลูกค้าของบริษัทลูกแทน กรณีไทยคม เมื่อย้ายไปอยู่กับดาวเทียมต่างชาติแล้ว เท่ากับว่า เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน กระทรวงดิจิทัลฯ ก็จะไม่มีทั้งดาวเทียม และไม่มีทั้งลูกค้าจากไทยคม 5 เหลืออยู่ และกระทบกับทรัพย์สินที่จะต้องนำไป PPP ที่จะมีมูลค่าน้อยลงแน่นอน”

ย้อนรอยไทยคม 5

ดาวเทียมไทยคม 5 ถูกส่งขึ้นวงโคจรที่ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก เพื่อให้บริการตามสัญญาดำเนินการกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ ระหว่างกระทรวงคมนาคม (ปัจจุบันภารกิจดังกล่าวอยู่ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ) และบริษัท ชินวัตรคอมพิวเตอร์ แอนด์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ปัจจุบันคือ บริษัท อินทัชโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งต่อมาได้จัดตั้ง บมจ.ไทยคม เพื่อเข้าดำเนินงานตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศ มีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในสัญญา (11 ก.ย. 2534 – 10 ก.ย. 2564)

โดยดาวเทียมไทยคม 5 ถูกส่งขึ้นวงโคจร เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2549 เพื่อทดแทนดาวเทียมไทยคม 3 ที่ปลดระวางเนื่องจากระบบพลังงานไฟฟ้าของดาวเทียมไม่เพียงพอต่อการให้บริการ เมื่อ 2 ต.ค. 2549 โดยใช้เอกสารข่ายดาวเทียม THAICOM-A2B ด้วยช่องสัญญาณในย่านความถี่C-Band 25 ทรานสปอนเดอร์ และ KU-Band 14 ทรานสปอนเดอร์

ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองรับบริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมและเคเบิลทีวี รวมถึงกิจการโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังสามารถให้บริการแบบ Global Beam ครอบคลุม 4 ทวีป รองรับผู้ใช้งานในเอเชียใต้ ยุโรป ออสเตรเลีย และแอฟริกา