ดีแทค เปลี่ยนแม่ทัพกลางศึก 5G ตั้งซีอีโอใหม่มีผล 1 ก.พ. 63

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า คณะกรรมการบริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเกชั่น (ดีแทค) ในวันนี้ (16มกราคม2563) มีประชุมวาระพิเศษเกี่ยวกับการลาออกจากตำแหน่งของ “อเล็กซานดรา ไรช์” จากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร

โดย บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ที่ประชุมบอร์ดมีมติรับทราบการลาออกของนางอเล็กซานดรา ไรช์จากการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563

และแต่งตั้ง นายชารัด เมห์โรทรา (Mr. Sharad Mehrotra) ซีอีโอจาก เทเลนอร์ เมียนมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารแทน

1 กันยายน 2561 เป็นวันที่ “อเล็กซานดรา ไรช์”ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) อย่างเป็นทางการ (แทน “ลาร์ส นอร์ลิ่ง” ซึ่งลาออกจากดีแทคและกลุ่มเทเลนอร์ ด้วยเหตุผลว่าเพื่อแสวงหาโอกาสในการทำงานใหม่) ซึ่งจนถึงขณะนี้ (16 ม.ค.2563) ก็เป็นเวลาเพียง 1 ปี กับอีก 4 เดือนเท่านั้น

ก่อนหน้ามารับตำแหน่งซีอีโอ “ดีแทค” ที่เมืองไทย “อเล็กซานดรา”ผู้ถือสัญชาติออสเตรีย นั่งเก้าอี้ “ซีอีโอ” เทเลนอร์ ฮังการี และเป็นหัวหน้ากลุ่มเทเลนอร์ในยุโรปกลาง

อย่างไรก็ตาม เธอเริ่มต้นทำงานกับกลุ่มเทเลนอร์ในปี 2559 ในตำแหน่งหัวหน้าธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มลูกค้าองค์กรสวิสคอม เท่ากับอยู่กับเทเลนอร์

แม้จะเป็นเวลาเพียงปีเศษ ๆ แต่ในสายตาคนภายนอกด้วยบุคคลิก และสไตล์การทำงานที่ติดดินเป็นกันเองเข้าถึงง่ายที่สัมผัสผ่านภาพยนตร์โฆษณา พร้อมคำพูดติดปาก ว่า “เราสัญญาว่าจะไม่หยุดค่ะ”ของ “ดีแทค”ทำให้ภาพลักษณ์แบรนด์ “ดีแทค”ดูดีขึ้นมาก ซึ่งจะว่าไปบุคลิกและสไตล์ของ “อเล็กซานดรา”ดูผิวเผินมีความคล้ายคลึงเป็นอย่างยิ่งกับอดีตซีอีโอ ดีแทค “ซิกเว่ เบรกเก้”ในยุคพลิกฟื้นองค์กร ที่ปัจจุบันขยับขึ้นไปนั่งเป็นกรุ๊ปซีอีโอ “เทเลนอร์”แล้ว

อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ที่ดูดีขึ้นอาจไม่สัมพันธ์กับส่วนแบ่งการตลาดเท่าใดนัก หลังขยับลงมาเป็นอันดับ 3 ในแง่จำนวนฐานลูกค้าเมื่อ 3 ปีก่อน จากที่เคยอยู่อันดับสองมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา ทำให้อันดับสาม “ทรูมูฟเอช”ขึ้นมาแทน และดูเหมือนว่านับแต่นั้นระยะห่างระหว่างเบอร์ 2 และ3 ก็เริ่มไกลออกไปเรื่อยๆ

ล่าสุดจากรายงานผลประกอบการของ “ดีแทค” ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 “ดีแทค” มีจำนวนผู้ใช้บริการรวมเท่ากับ 20.4 ล้านเลขหมาย ลดลง 217 พันเลขหมายจากสิ้นไตรมาส 2/2562 จากการลดลงของลูกค้าในระบบเติมเงิน ซึ่งได้มีการชดเชยบางส่วนจากการเพิ่มขึ้นของลูกค้าในระบบรายเดือน โดยมีฐานลูกค้าระบบเติมเงินเท่ากับ 14.0 ล้านเลขหมาย ลดลง 295 พันเลขหมายจากไตรมาสก่อน

ขณะที่ฐานลูกค้าระบบรายเดือนเพิ่มขึ้น 79 พันเลขหมาย เป็น 6.4 ล้านเลขหมาย มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมาย ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (ARPU) สำหรับไตรมาส 3/2562 เท่ากับ 261 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.5 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 7.0 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ใน 20.4 ล้านเลขหมาย เป็นลูกค้าในระบบรายเดือน ประมาณร้อยละ 31 ของจำนวนลูกค้ารวม ณ สิ้นไตรมาส 3/2562 มีรายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบรายเดือนในไตรมาสนี้เท่ากับ 555 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่รายได้เฉลี่ยต่อเลขหมายของลูกค้าระบบเติมเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จากไตรมาสก่อน และอยู่ในระดับเดียวกันกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่ 142 บาทต่อเดือน

ขณะที่ “ทรูมูฟเอช” มีฐานลูกค้ารวม 30.1 ล้านราย และเอไอเอส มี 41.6 ล้านราย

เป็นการเปลี่ยน “ซีอีโอ”ในห้วงที่การเปิดประมูลคลื่น 5G กำลังจะมีขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 นี้