สำรวจงบ R&D ประเทศไทย เส้นทางสู่เป้าหมาย 2% ต่อ GDP

ห้องทดลอง

สถานการณ์โควิด-19 ได้กระทบต่อหลายภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือ การลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยล่าสุด สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยตัวเลขการลงทุนวิจัยและพัฒนา

โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า ภาพการลงทุน R&D ของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ในรอบการสำรวจปี 2562 พบว่า เมื่อปี 2561 ประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนทั้งสิ้น 182,357 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ1.11 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 17.5 ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนดังกล่าวแบ่งเป็นการลงทุนของภาคเอกชน 142,971 ล้านบาท และการลงทุนจากภาครัฐ 39,385 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 78 และร้อยละ 22 ตามลำดับ

ขณะที่ในรอบการสำรวจปี 2562 โดยหากพิจารณาเฉพาะการลงทุนของภาคเอกชน พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.87 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาคเอกชนมีการลงทุน 123,942 ล้านบาทหรือร้อยละ 0.80 ต่อจีดีพี

ส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐ พบว่า มีการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 27 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 0.24 ต่อจีดีพี โดยเพิ่มจากรอบสำรวจปีก่อนหน้าที่ภาครัฐมีการลงทุน 31,201 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.20 ต่อจีดีพี

ในด้านบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนานั้นพบว่า มีบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนา 159,507 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 15 หรือคิดเป็น 24 คนต่อประชากร 10,000 คน แบ่งเป็นบุคลากรในภาครัฐร้อยละ 33 และในภาคเอกชนร้อยละ 67

สำหรับปี 2562 ซึ่งจะเป็นรอบการสำรวจปี 2563 นั้น คาดว่าการลงทุนด้านR&D ของประเทศไทยจะขยายตัวแตะหลัก2 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.21 ของจีดีพี

ขณะที่โควิด-19 อาจทำให้เอกชนต้องลดงบประมาณด้าน R&D ลง ส่วนภาครัฐนั้นไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากได้รับการจัดสรรงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

“คาดว่าภาพรวม R&D ทั้งประเทศจะปรับตัวลดลงเหลือประมาณ 1.66 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 1.09 ของ GDP อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโตร้อยละ 1.23”

โดยเป็นการปรับเป้าเดิมที่คาดว่าในปี 2563 จะเติบโตร้อยละ 1.40 ต่อจีดีพี และในปี 2564 จะเติบโตร้อยละ 1.50 ต่อจีดีพี แต่คาดว่าเป้าหมายในปี 2570 ยังคงไว้ที่ร้อยละ 2 ของจีดีพีในปี 2570 ยังมีความเป็นไปได้แน่นอน

“แต่ต้องไม่ปล่อยไปตามยถากรรม” ดร.กิติพงค์กล่าวและว่า

โดยเป้าหมายดังกล่าวอาจแซงหน้าประเทศอังกฤษได้ เนื่องจากประเทศพัฒนาแล้วจะมีแนวโน้มการลงทุนด้าน R&D ค่อนข้างคงที่

สำหรับทิศทางงานวิจัยในอนาคตต้องสามารถเชื่อมโยงเข้ากับแผนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) และกองทุนส่งเสริม ววน. โดยในปีงบประมาณ 2564 กองทุนส่งเสริม ววน. มีงบประมาณรวม 19,916 ล้านบาท ตลอดจนเชื่อมโยงกับโครงร่างกลยุทธ์นโยบายและแผนการพัฒนา อววน.พ.ศ. 2565-2570 ประกอบด้วย 5 เรื่อง คือ

ยกระดับความมั่นคงของมนุษย์ สร้างความเจริญสู่ท้องถิ่น และแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จ ขับเคลื่อน BCG (bio-circular-green economy) เพื่อบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืนบนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปรับโครงสร้างภาคการผลิต อุตสาหกรรมและบริการ

อาทิ งานวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ที่ขับเคลื่อน smart farmers เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและอาหาร พัฒนาอุตสาหกรรมอาหารฟังก์ชั่นหรือผลิตภัณฑ์ functional ingredients โครงการวิจัยและพัฒนา Ethanol Fuel Cell EV สาขายา/วัคซีน เช่น โครงการ Genomics
Thailand สาขาเครื่องมือแพทย์เช่น การทำมาตรฐานการผลิตเครื่องมือแพทย์และบริการทางการแพทย์

ขณะเดียวกัน ภาครัฐจะต้องขึ้นมาเป็นผู้นำเพื่อผลักดัน R&D ของประเทศไทย โดย สอวช.ตระหนักว่า หากค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศลดลงจะทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศจะมีปัญหา

มาตรการระดับนโยบายที่ทาง สอวช.เตรียมไว้ คือ 1.การใช้งบประมาณส่งเสริมจากภาครัฐไปสมทบให้กับภาคเอกชนให้สามารถวิจัยได้ต่อเนื่อง หรือเรียกว่า matching grant โดยจะให้ผ่านทางหน่วยบริหารจัดการทุนที่มีอยู่ของประเทศ เช่น หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

2.การสร้างแรงจูงใจภาคเอกชนในการลงทุนต่อไป อาทิ ขณะนี้ สอวช.อยู่ระหว่างการทำความร่วมมือกับ
ภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตั้งกองทุนนวัตกรรม ซึ่งจะมี 80 บริษัทร่วมลงขัน โดยทางรัฐบาลจะพิจารณาเรื่อง การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลของบริษัทที่มาร่วมลงขัน

“กองทุนนวัตกรรมที่สภาอุตสาหกรรมฯ จัดตั้งขึ้นร่วมกันกับสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ซึ่งเม็ดเงินของกองทุนตั้งเป้าไว้ว่าจะอยู่ที่ราว 1,000 ล้านบาท โดยที่ภาคเอกชนเสนอให้รัฐบาลให้แรงจูงใจเรื่องของการยกเว้นภาษี 300% ของเงินที่บริจาคเข้ากองทุน และเงินส่วนนี้จะนำไปใช้ในการส่งเสริม SMEs ในการทำนวัตกรรม เพื่อให้เอกชนยังคงเงินลงทุนต่อเนื่องด้านการวิจัยและพัฒนาต่อไป”

3.คงการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของบริษัทใหญ่ โดยเฉพาะการสร้าง ecosystem อาทิ การสร้างให้เกิดความง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ การปลดล็อกในเชิงกฎระเบียบและกฎหมายต่าง ๆ การเตรียมบุคลากรให้พร้อมที่จะเข้าไปทำวิจัยให้บริษัท

“สุดท้ายคือ การส่งเสริมโอกาสการเติบโตของแพลตฟอร์มสัญชาติไทย เช่น ภาคการค้าและการเดินทางท่องเที่ยวซึ่งตรงนี้จะกลายเป็นรากฐานของอนาคตที่จะทำให้เรามีความเข้มแข็งมากขึ้น” ดร.กิติพงค์กล่าว