“พุทธิพงษ์” แจงผลงาน “ดีอีเอส” แย้มปลายปีบิ๊กเนมข้ามชาติลงทุนในไทย 3 หมื่นล้าน

“พุทธิพงษ์” ดึงหน่วยงานในสังกัด “ดีอีเอส” แถลงผลงาน 1 ปี แย้มปลายปีมีข่าวดีบิ๊กเนมข้ามชาติลงทุนในไทย 3 หมื่นล้าน

ผู้สื่อข่าว ‘ประชาชาติธุรกิจ’ รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 นายพุทธิพงษ์’ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วยผู้บริหาร ในกระทรวงดีอีเอส และหน่วยงานในกำกับดูแล อาทิ ทีโอที, กสท โทรคมนาคม,ไปรษณีย์ไทย, ดีป้า, กรมอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น แถลงผลงานในโอกาสครบรอบ 1 ปี ในตำแหน่งเจ้ากระทรวงดีอีเอส โดยระบุว่า กระทรวงดีอีเอสจะเน้นใช้ดิจิทัลแก้ปัญหา เศรษฐกิจสังคม และเพิ่มความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลให้ประเทศไทย ผลักดันให้ไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันจากการจัดอันดับของ IMD 38 มาอยู่ที่อันดับ 34

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ดีอีเอสได้ผลักดันโครงการต่างๆ จนมีความคืบหน้าหลายด้าน อาทิ การกฎระเบียบทำให้กองทุนดีอี สามารถให้ทุนในโครงการต่างๆ จนอนุมัติโครงการไปแล้วเป็นเงินกว่า 1,500 กว่าล้านบาท รวมไปถึงการผลักดันให้ทีโอที และกสท โทรคมนาคม ดำเนินการควบรวม ภายใต้บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) และทำโครงการ 5G เป็นต้น ทำให้ทั้งสององค์กรอยู่ได้อย่างเข้มแข็งต่อไป

“เมื่อควบรวมกันเสร็จและทำ5Gได้ สิ่งที่อยากเห็นคือหน่วยงานของรัฐต่างๆที่จะใช้ 5G มาใช้ของบริษัท เอ็นที”

ทั้งในช่วงวิกฤตโ ควิด-19 กระทรวงดีอีเอส มีภารกิจเกี่ยวข้องโดยตรงได้ดำเนินโครงการเพื่อช่วยเหลือประชาชน อาทิ ร่วมกับ กสทช. และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต 5 ราย ให้ประชาชนลงทะเบียนใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงฟรี และโทรฟรี 100 นาที, ร่วมกับทีโอที และกสท โทรคมนาคม ให้บริการอินเทอร์เน็ตบ้านในราคาถูก “เน็ตอยู่บ้าน”, การออก พ.ร.ก.ว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2563 เป็นต้น  เป็นต้น

ทั้งยังสนับสนุนการพัฒนาแพลตฟอร์มและแอปที่ช่วยติดตาม และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น “ไทยชนะ” สำหรับการ Tracking สถานที่ ผ่านการเช็คอิน-เช็คเอ้าท์ ร้านค้า สถานที่ต่างๆ มียอดผู้ใช้แล้ว 34 ล้านคน จำนวนร้านค้าลงทะเบียนกว่า 2.6 แสนร้าน ล่าสุดติดตาม กลุ่มเสี่ยง 394 คน ใน จ.ระยอง 

นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวงดิจิทัลฯ ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้เปิดพื้นที่หางานออนไลน์ผ่านระบบ “JOBD2U by ThaiFightCOVID-19” ช่วยเหลือคนตกงาน-ว่างงาน และบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ได้ร่วมสนับสนุนการทำงานของแพทย์และเจ้าหน้าที่ โดยรับภารกิจดูแลจัดส่งหน้ากากอนามัย ไปยังบุคลากรทางการแพทย์และประชาชน ผ่านโครงการ ‘ส่งความห่วงใย ส่งให้ สู้ภัย COVID-19’

ในส่วนของการทำงานในการยกระดับและเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลมีความคืบหน้า ครอบคลุมไปถึงกฎหมายด้านดิจิทัล ตลอดจนการพัฒนาทักษะกำลังคนด้านดิจิทัลของไทย สู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก

นอกจากนั้น ที่ผ่านมา ได้มีการจัดโรดโชว์เข้าหารือกับบริษัทชั้นนำของโลกด้านดิจิทัลในซิลิคอน วัลเล่ย์ สหรัฐอเมริกา เช่น Seagate Technology, Facebook, CISCO Systems, Google, Amazon Web Services และ Microsoft เพื่อเชิญชวนมาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มเติมด้วย 

โดยนายพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า มีบริษัทยืนยันที่จะมาลงทุนเพิ่มเติมในไทยไม่น้อยกว่า 3 หมื่นล้านบาท และคาดว่าจะเห็นข่าวดีในปลายปีนี้ 

และในส่วนโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลในด้านกฎหมาย ปัจจุบัน มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยอยู่ระหว่างการร่างกฎหมายลูก อีกทั้ง การจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยดำเนินการคืบหน้าไปแล้วหลายเรื่อง และมีการจัดทำ (ร่าง) ประกาศคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปิดตลาดให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์ พ.ศ. …. เพื่อเป็นแนวนโยบายในระดับรัฐ ที่ชัดเจนในการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศเชิงพาณิชย์

“เรายังให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้แก้ปัญหา ผ่านการดำเนินการของกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี)  ซึ่งได้อนุมัติ โครงการในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เป็นการจัดหา เทคโนโลยี หรือ อุปกรณ์ดิจิทัลที่สนับสนุน ช่วยเหลืองานด้านสาธารณสุข และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีโครงการที่ได้รับการอนุมัติ 40 โครงการ จาก 38 หน่วยงาน เป็นงบฯทั้งสิ้น 409,117,831 บาท” 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่าที่มาแถลงวันนี้ตั้งใจมาอัพเดทการทำงานที่ได้ทำมา ซึ่งสิ่งที่ตั้งใจคือต้องการให้ดีอีเอสมีบทบาทในเชิงสังคมมากขึ้นด้วย