ช้างชนช้างศึกฟู้ดดีลิเวอรี่ ถล่มโปรฯ-ส่งฟรีชิงเค้ก 3.5 หมื่นล้าน

บริการออนดีมานด์ดีลิเวอรี่โตติดลมบนรับผู้บริโภคยุคนิวนอร์มอลจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ โดยมีโควิด-19 เป็นตัวเร่งเกม ถ้าเจาะมาที่ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ก็ไม่ต่างกันนัก ถือเป็นช่วงขาขึ้นอย่างแท้จริง

โดยผู้เล่นหลักล้วนเป็นยักษ์ข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็น “ไลน์แมน” ที่ผนึกกับ “วงใน” กลายเป็น “ไลน์แมน วงใน”, เก็ท (GET) ที่ตัดสินใจรีแบรนด์มาใช้ชื่อเดียวกับบริษัทแม่ “โกเจ็ก”(Gojek), “ฟู้ดแพนด้า” (FoodPanda) หรือแม้แต่ “แกร็บฟู้ด” (GrabFood) ไม่นับรายเล็ก ของไทยที่เจาะเฉพาะพื้นที่ เช่น Locall รวมถึงฟู้ดดีลิเวอรี่แพลตฟอร์มในสังกัดแบงก์เอสซีบีอย่าง “โรบินฮู้ด” ที่จะเปิดตัวปลาย ก.ย.นี้

นับว่าสมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่ มูลค่า 3.5 หมื่นล้านคึกคักยิ่ง

อย่างไรก็ตาม หากดูข้อมูลผลประกอบการที่บริษัทเหลานี้แจ้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า ยังติดลบ ได้แก่ บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่าปี 2562 ว่า มีรายได้ 49 ล้านบาท ขาดทุน 157ล้านบาท บริษัท แกร็บ แท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด มีรายได้ปี 2561 ที่ 1,159 ล้านบาท ขาดทุน 711 ล้านบาทปี 2562 มีรายได้ 3,193 ล้านบาท ขาดทุน 1,650 ล้านบาท บริษัท เดลิเวอรี่ ฮีโร่ (ประเทศไทย) จำกัด หรือฟู้ดแพนด้า มีรายได้ปี 2560 ที่ 210 ล้านบาทขาดทุน 39 ล้านบาท ปี 2561 มีรายได้258 ล้านบาท ขาดทุน 138 ล้านบาท และปี 2562 มีรายได้ 818 ล้านบาท ขาดทุน 1,264 ล้านบาท

“ไลน์แมนวงใน”พร้อมชนคู่แข่ง”

ยอด ชินสุภัคกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไลน์แมน วงใน จำกัด กล่าวว่า ตลาดฟู้ดดีลิเวอรี่ 35,000 ล้านบาท เป็นสัดส่วน 5% ของตลาดรวมธุรกิจร้านอาหารในไทยที่มีมูลค่า 7 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีสัดส่วนเป็น 20-30% จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยมีโควิด-19 ผลักดันให้ตลาดเติบโต ขณะที่การแข่งขันค่อนข้างสูงจากรายใหญ่ และในอนาคตอาจมีรายใหม่เข้ามาอีก แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังประสบภาวะขาดทุนจากการแข่งขันที่สูง

สำหรับไลน์แมนหลังควบรวมกับ “วงใน” ตั้งเป้าขึ้นเป็นผู้นำแพลตฟอร์มด้านอาหารอันดับหนึ่งในไทยใน 3 ปี จากการสร้างอีโคซิสเต็มด้านอาหารที่ครอบคลุม โดยใช้จุดแข็งด้านร้านอาหารที่มีความหลากหลาย ปัจจุบันมีกว่า 2.5 แสนร้านค้า จะเพิ่มเป็น 4-5 แสนร้านค้าและขยายพื้นที่จาก 13 จังหวัด เป็น 20 จังหวัด ภายในสิ้นปี

“แกร็บ” ยืนพื้นส่งฟรี 3 กม.

ก่อนหน้านี้ “จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม”ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่แข่งขันค่อนข้างสูง จากผู้เล่นที่เพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มฟู้ดดีลิเวอรี่ ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้วยกันอย่างฟู้ดแพนด้า, ไลน์แมน, โกเจ็ก และมีธุรกิจอื่น ๆ เข้ามา เช่น โรบินฮูด และอีทเทเบิ้ล (Eatable)เป็นต้น แต่รูปแบบธุรกิจจะแตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดล้วนกระตุ้นให้ตลาดโตก้าวกระโดด เพราะคนไทยรับประทานอาหารหลายมื้อ

และในครึ่งปีหลัง “แกร็บฟู้ด” พร้อมเข้าสู่การแข่งขันเต็มที่ เริ่มจากมีแคมเปญ “GrabFood Free Your Hunger” ตั้งแต่ ส.ค.-ต.ค.2563 ที่ส่งฟรี3 กม.แรก อีกทั้งเตรียมเปิด “แกร็บ คลาวด์คิตเช่น” เพิ่ม 2-3 แห่ง จากที่มีแล้ว 3 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละพื้นที่มากขึ้น

“โกเจ็ก” ถล่มโปรโมชั่นเต็มพิกัด”

ภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ โกเจ็ก ประเทศไทย กล่าวว่า จุดแข็งของโกเจ็ก (Gojek) อยู่ที่เทคโนโลยี โดยทั้งแอปพลิเคชั่น และบริการต่างๆ ที่ให้บริการในไทยได้พัฒนาให้ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไทย

จากการสำรวจผู้ใช้งานคนไทยพบว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดมี 4 เรื่อ คือ แอปใช้งานง่าย (10%) จัดส่งรวดเร็ว (13%) มีโปรโมชั่น และส่วนลด (27%) และมีข้อเสนอจากร้านอาหารที่หลากหลาย (35%) จึงได้พัฒนาบริการใหม่ อย่างการเพิ่มฟีเจอร์ แชท และการแชร์ร้านอาหารจานโปรดให้เพื่อนหรือให้กดไลก์ และบันทึกร้านที่ชอบไว้ได้ เป็นต้น

ผลสำรวจช่วงโควิดยังพบว่าคนกรุงเทพฯ หันมาใช้ฟู้ดเดลิเวอรี่ถึง 55% แต่ก็ยังนิยมซื้ออาหารจากที่ร้านจึงมีบริการใหม่ GoFood Pickup ให้สั่งอาหารล่วงหน้า และไปรับเองได้

“เราขอโฟกัสแค่ธุรกิจตนเองก่อน โดยส่วนตัวมั่นใจแพลตฟอร์มและเทคโนโลยีที่มี แต่จะเป็นอันดับ 1 หรือ 2 หรือไม่ต้องดูหลังจากนี้”

สำหรับทิศทางธุรกิจของบริษัทตั้งเป้าว่าจะเติบโตให้ได้ถึง 10 เท่า ทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้, พาร์ตเนอร์ร้านอาหาร และเครือข่ายคนขับรถ ซึ่งจะสร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจด้วย

ส่วนการรีแบรนด์สู่ Gojek ยังคงความเป็น Hyper-local ที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าและพาร์ตเนอร์ ปัจจุบันมีพาร์ตเนอร์คนขับกว่า 50,000 คน ร้านอาหารกว่า 30,000 แห่ง มีบริการดีลิเวอรี่หลากหลาย เช่น ส่งอาหาร (Gofood) เรียกรถจักรยานยนต์ (GoRide) รับส่งพัสดุ (GoSend) และอีวอลเล็ต (GoPay) ครอบคลุมพื้นที่ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล

“การลงทุนช่วงรีแบรนด์จะเน้นไปที่การจัดโปรโมชั่นแจกคูปองส่วนลดให้ผู้ใช้ ซึ่งจะถือว่าเป็นงบการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับครั้งที่ยังดำเนินกิจการ Get แต่ถือเป็นการเจาะตลาดกลุ่มผู้ใช้รายใหม่และเป็นการสร้างภาพจำให้กับแบรนด์ไปพร้อมกัน ตั้งแต่แจกคูปองส่วนลดสูงสุด 2,500 บาท ดีลส่วนลดสูงสุด 50% จากพาร์ตเนอร์ร้านอาหาร มี Flash Sale ราคาเดียว 39 บาท จาก 10 ร้านดัง รวมถึงแจกคูปองส่วนลด GoRide 12 บาท สำหรับใช้บริการ 5 ครั้งแรก”

ฟู้ดแพนด้าชูส่งครบ 77 จังหวัด

ขณะที่ “โทมัส บูชาน” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท ฟู้ดแพนด้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า แพลตฟอร์มฟู้ดดีลิเวอรี่แข่งกันที่ 3 เรื่อง คือ สร้างประสบการณ์ที่ดีให้ผู้บริโภค ราคาค่าส่ง และความสะดวก สำหรับจุดแข็งของบริษัท คือการมีพื้นที่บริการครอบคลุม 72 จังหวัด ในสิ้นปีนี้จะครบ 77 จังหวัด เพื่อสร้างความสะดวกและประสบการณ์ที่ดี รวมถึงราคาค่าส่งถูก เริ่มที่ 9 บาท และร่วมกับพาร์ทเนอร์จัดโปรโมชั่นซื้อ 1 แถม1 ต่อเนื่อง

นอกจากนี้ มีคลาวด์คิตเช่น 2 แห่งที่อ่อนนุช และลาดพร้าว 116 ในสิ้นปีนี้จะเพิ่มอีก ล่าสุดมีบริการใหม่ “แพนด้า มาร์ท” ขายสินค้าอุปโภคบริโภค มี 7 แห่งสิ้นปีนี้จะเพิ่มเป็น 30 สาขา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สมรภูมิฟู้ดเดลิเวอรี่ ยังมีผู้เล่นระดับท้องถิ่น เช่น JED MOVE แอปพลิเคชั่นส่งอาหารในนครปฐม, Street บริการส่งอาหารพื้นที่กำแพงแสน และนครปฐม, Frabbit บริการส่งอาหาร พัสดุ ในเชียงใหม่, เหน่อ เดลิเวอร์รี่ บริการส่งอาหารในจังหวัดสุพรรณบุรี และโลคอล ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น