Uber ชนะโหวตไม่ต้องเลื่อน ฐานะคนขับขึ้นเป็น ‘พนักงาน

REUTERS/Brendan McDermid
Tech Times
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ 

ในที่สุดสาวก Uber ก็โล่งอกเมื่อชาวแคลิฟอร์เนียโหวตให้ Uber ไม่ต้องเลื่อนสถานะคนขับเป็น “พนักงาน”

การโหวตมีขึ้นวันที่ 3 พ.ย.วันเดียวกับที่มีการเลือกตั้งทั่วไปในอเมริกา

ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา Uber และ ride-sharing รายอื่นในแคลิฟอร์เนีย ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากพิษโควิดแล้ว พร้อมกับระดมสมองหาทางเอาตัวรอดจากกฎหมายที่กำหนดให้บริษัทต้องเลื่อนสถานะของคนขับจาก “ลูกจ้างอิสระ” เป็น “พนักงาน”

กฎหมายที่ว่ามีชื่อ Assembly Bill 5 หรือ AB-5 กำหนดให้ลูกจ้างมีสถานะเป็น “พนักงาน” และพึงได้รับสิทธิผลประโยชน์และการคุ้มครองเยี่ยงพนักงานตราบที่พวกเขายังทำงานที่เกี่ยวข้องกับ “ธุรกิจหลัก” ของบริษัท หรือภายใต้การ “ชี้แนะ” ของนายจ้าง

หากต้องการคงสถานะให้คนขับเป็น “ลูกจ้างชั่วคราว/ผู้รับจ้างอิสระ” ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคนขับไม่มีคุณสมบัติของการเป็น “พนักงาน” เช่น มีอิสระจากการควบคุมของบริษัทหรือมีงานอื่นนอกจากนี้
แม้กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ม.ค. บริษัท ride-sharing ยังยืนกรานคงสถานะคนขับที่ “ลูกจ้างอิสระ”

โดยอ้างผลสำรวจที่ว่าคนขับกว่า 60% ต้องการเป็น “ลูกจ้างอิสระ” ทำให้คณะกรรมการแรงงานของแคลิฟอร์เนียต้องเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายด้วยการฟ้อง Uber และ Lyft ข้อหา “ปล้นค่าจ้างคนงาน” ทำให้คนขับได้ค่าตอบแทนน้อยกว่าที่ควรเป็น และเรียกร้องให้บริษัทจ่ายเงินชดเชยให้คนงานอื่น ๆ เช่น ค่าแรงที่โดนเบี้ยวไป ค่าโอที และค่าประกันสุขภาพ

เมื่อโดนรุกหนักขึ้น Uber และรายอื่น เช่น Lyft DoorDash Instacart และ Postmates จึงหันมาลงขันผลักดันร่างกฎหมายฉบับใหม่ออกมาประชันในชื่อ The Protect App-Based Drivers & Services Act (Proposition 22) มีเนื้อหาหลักว่าจะยอมปรับขึ้นค่าแรง และเพิ่มสวัสดิการให้เพื่อแลกกับการที่ไม่ต้องปรับสถานะเป็น “พนักงานประจำ”

ได้แก่ ปรับค่าจ้างต่อชั่วโมงการขับ(driving time) สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 20% จ่ายค่าน้ำมันรถให้ 30 เซนต์/ไมล์มีประกันสุขภาพแก่คนที่มีชั่วโมงการทำงาน 15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ขึ้นไป

ข้อเสนอเหล่านี้อาจเทียบไม่ได้กับสวัสดิการและค่าแรงที่คนขับจะได้รับ หากเป็น “พนักงาน” เพราะนอกจากได้รับความคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานแล้วยังมีสิทธิเข้าถึงประกันค่าแรงขั้นต่ำ ค่าโอที ลาป่วย-ลาหยุดแบบได้เงินเดือน และประกันสุขภาพอื่น ๆ อีก

ทำให้เกิดกลุ่มรณรงค์ต่อต้าน Prop 22 ประกอบด้วยคนขับกว่า 50,000 คน ในแคลิฟอร์เนีย กองบรรณาธิการสื่อท้องถิ่นหลายแห่ง ตัวแทนพรรคเดโมแครตและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี “โจ ไบเดน”

โดยยกข้อเสียของ Prop 22 มาโจมตีโดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ที่่แรงงาน gig economy จะได้รับ
ฝั่งเอกชนนำโดย Uber และ Lyft ฝ่ายสนับสนุน Prop 22 ก็จัดตั้งกลุ่มของตนเองขึ้นมายิงแคมเปญแข่งถี่ยิบทั้งโซเชียลมีเดียและแอปของบริษัท ว่ากันว่าระดมทุนมาทำแคมเปญได้ถึง 203 ล้านเหรียญ ใช้เงินสูงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เลยทีเดียว

บริษัทยังงัดไม้แข็งกดดันให้ชาวเมืองแคลิฟอร์เนียผู้มีสิทธิออกเสียงเห็นข้อเสียของกฎหมาย AB-5 เช่น Uber บอกว่า หากร่าง Prop 22 ไม่ผ่าน บริษัทโดนบังคับให้ทำตามกฎ AB-5 จริง ๆ คงต้องหยุดให้บริการในแคลิฟอร์เนีย

นอกจากกระทบผู้ใช้บริการแล้วยังทำให้คนขับรถต้องตกงานจำนวนมากด้วย หรือไม่ก็อาจยังให้บริการแต่โยนภาระต้นทุนที่สูงขึ้นไปให้ผู้บริโภคด้วยการขึ้นค่าบริการถึง 25-111% ที่ต้องทำขนาดนี้เพราะถึงจะเป็นสตาร์ตอัพค่าตัวระดับพันล้านเหรียญ แต่ไม่มีใครทำกำไรได้เป็นชิ้นเป็นอันตั้งแต่เปิดให้บริการ ถ้าต้นทุนเพิ่มอีกคงบักโกรกแน่ ๆ

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ในที่สุดชาวเมืองแคลิฟอร์เนียตัดสินใจโหวต “yes” ให้ Prop 22 ทำให้ ride-sharing โล่งอกไปตาม ๆ กัน และแทบเป็นการปิดประตูไม่ให้มีการโต้แย้งเรื่องนี้อีกในอนาคต หุ้นของ Uber พุ่งขึ้น 14.59% ปิดที่ 40.99 เหรียญ สูงสุดในรอบ 52 สัปดาห์ ขณะที่หุ้น Lyft สูงขึ้น 11.28%

“นักวิเคราะห์” บอกว่าผลการโหวตในแคลิฟอร์เนียน่าจะมีผลทำให้รัฐอื่นเพลามือในการผลักดันกฎหมายลักษณะเดียวกับ AB-5 ถือเป็นชัยชนะของ Uber และลด “ภาวะความไม่แน่นอน” ในสายตานักลงทุนลงได้มาก

ฟากคนขับก็คงต้องยอมรับชะตาว่าโอกาสจะได้รับสิทธิและการคุ้มครองทางกฎหมายเท่าเทียมกับแรงงานอื่นได้จบสิ้นลงแล้วสำหรับชาว gig workers ในแคลิฟอร์เนีย