สื่อ & Facebook บนผลประโยชน์ที่ต้องช่วงชิง

TechTimes
มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์น่าสนใจในออสเตรเลียที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดระเบียบความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างวงการสื่อกับเจ้าของโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลก

หลายปีที่ผ่านมา สื่อน่าจะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่โดน disrupt หนักสุด ทำให้รัฐบาลออสเตรเลียตัดสินใจร่างกฎหมาย News Media Bargaining Code

เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองด้านรายได้ให้สื่อท้องถิ่นกับเจ้าของแพลตฟอร์ม์ภายใต้ร่าง กม.ดังกล่าว เจ้าของแพลตฟอร์มที่เผยแพร่คอนเทนต์ที่ผลิตโดยสำนักข่าว ต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ให้สำนักข่าวต้นฉบับด้วย

นับตั้งแต่มีการเสนอร่าง กม.ฉบับนี้สู่สาธารณะกลางปีที่แล้ว ทั้ง Facebook และ Google ต่างออกมาโวยวายว่า จะไม่ยอมจ่ายตามที่ กม.กำหนด พร้อมขู่ว่าจะบอยคอตคอนเทนต์ข่าวไปเลย

แต่รัฐบาลออสเตรเลียเดินหน้าผลักดัน กม.นี้ต่อ จนกลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา เมื่อเห็นว่าคำขู่ไม่เป็นผล Facebook ตัดสินใจใช้มาตรการตัดความสัมพันธ์กับออสเตรเลียขั้นรุนแรงด้วยการบล็อกคอนเทนต์ข่าวทุกชนิดของทุกสำนักข่าวทั้งในและนอกออสเตรเลีย ส่งผลให้เช้าวันที่ 17 ก.พ.คนออสเตรเลียไม่สามารถอ่านหรือแชร์ข่าวได้ และแม้แต่คนในประเทศอื่นก็ไม่สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน

นอกจากคอนเทนต์ข่าว บรรดาหน่วยงานภาครัฐ จนองค์กรการกุศลก็โดนแบนไปด้วย ตอนหลัง Facebook ออกมาขอโทษอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของระบบอัลกอริทึม ทำให้ชาวออสซี่ส่งเสียงก่นด่า Facebook

ที่หนักสุดคือ การประณามจากผู้นำประเทศ นายกรัฐมนตรี “สกอตต์ มอร์ริสัน” ที่ออกมาโพสต์ผ่านหน้าเพจตนเอง ว่า พฤติกรรมของFacebook เป็นการยืนยันว่าบิ๊กเทคเหล่านี้คิดว่าตนเองยิ่งใหญ่ไม่ต้องอยู่ภายใต้ กม.ใด ๆ จึงอยากเตือนว่า แม้บิ๊กเทคจะเปลี่ยนแปลงโลกได้แต่พวกเขาไม่ใช่ “คนบริหาร” โลกใบนี้

ที่เซอร์ไพรส์สุด ๆ คือ Google ที่ตอนแรกดูขึงขังแต่จู่ ๆ กลับลำ และไปเจรจากับ เจ้าของสื่อชั้นนำของโลกและในออสเตรเลีย แถมประกาศข้อตกลงแบบวินวินร่วมกันไม่กี่ชั่วโมงหลังFacebook โดนด่าไปแล้ว

ภายใต้ข้อตกลงระหว่างเจ้าของสื่อกับ Google ที่กินเวลา 3 ปีนั้น Googleตกลงจ่ายค่าคอนเทนต์ให้ เจ้าของสื่อ โดย เจ้าของสื่อจะเข้าร่วมเป็นพันธมิตรผลิตคอนเทนต์ป้อน News Showcase

ซึ่งเป็นบริการใหม่ของ Google นำเสนอคอนเทนต์จากสำนักข่าวชื่อดังทั่วโลกหลายร้อยแห่ง (แบบเสียค่าสมัคร) ผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ของตัวเองรวมทั้ง YouTube โดยทั้งสองฝ่ายยังมีข้อตกลงในการแบ่งรายได้จากการโฆษณาร่วมกันด้วย

Google บอกว่าจะลงทุนในโครงการนี้เป็นเงินกว่า 1 พันล้านเหรียญ ส่วน News Corp บอกว่าดีลนี้จะทำให้ตัวเองมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างมี “นัยสำคัญ”

ตัดภาพมาที่ Facebook หลังจากโดนประณามไปทั่วโลกก็ปลดล็อกการแบนในอีกไม่กี่วันต่อมา โดยอ้างว่าบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลออสซี่แล้ว

ทั้งนี้ Facebook บอกว่า รัฐบาลออสเตรเลียตกลงจะปรับแก้ กม.บางข้อ เพื่อให้บริษัทไม่ต้องจ่ายค่าคอนเทนต์ข่าวทุกข่าวที่ปรากฏบนแพลตฟอร์ม และให้เวลา 2 เดือนเจรจาข้อตกลงกับสื่อท้องถิ่นออสเตรเลีย มิฉะนั้น

จะต้องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการแต่ดูยังไง Facebook ก็น่าจะเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ ไม่ใช่ว่า Facebook จะไม่เคยจ่ายเงินซื้อคอนเทนต์ข่าว แต่บริษัทจำกัดเงื่อนไขนี้เฉพาะในอเมริกากับอังกฤษ

แต่การที่ Facebook ดึงดันจะใช้ไม้แข็งในออสเตรเลียทั้งที่ไม่ใช่ตลาดใหญ่ มาจากความกลัวว่าจะไปสร้างบรรทัดฐานให้ประเทศอื่นทำตาม เพราะหลายประเทศออก กม.เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสื่อในประเทศของตนอย่างเป็นระบบ

ปรากฏการณ์ในออสเตรเลียจึงไม่ได้ส่งผลต่อสื่อท้องถิ่นของตนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนให้เกิดการจัดระเบียบความสัมพันธ์แบบใหม่ระหว่างสื่อกับบิ๊กเทคเจ้าของโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดในโลกอีกด้วย