สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น คืออะไร? ทำไมประเทศไทยเพิ่งมีแค่รายเดียว?

รู้จักความหมายสตาร์ตอัพยูนิคอร์น
ภาพโดย _Vane_ จาก Pixabay

ข่าวใหญ่ในแวดวงธุรกิจ-สตาร์ตอัพ คือการที่ “แฟลช” กลายเป็นสตาร์ตอัพสัญชาติไทยรายแรก ที่ก้าวสู่ระดับ “ยูนิคอร์น” 

วันที่ 1 มิถุนายน 2564 กรณีกลุ่มธุรกิจแฟลช (Flash Group) ผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยแบบครบวงจร ได้รับเงินระดมทุนทั้งสิ้น 150 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4,700 ล้านบาท ขึ้นแท่นเป็นสตาร์ตอัพไทยรายแรก ที่ไต่สู่ระดับ “ยูนิคอร์น” มีมูลค่าธุรกิจมากกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 30,000 ล้านบาท ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนผู้อ่านทำความรู้จักความหมายของคำว่า “สตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์น” เพื่อจะได้เข้าใจว่าเหตุใดเราถึงต้องภูมิใจ เมื่อประเทศไทยมี “ยูนิคอร์น” ตัวแรก

สัตว์ในตำนานเกี่ยวอะไรกับสตาร์ตอัพ?

ก่อนจะไปทำความเข้าใจคำว่า “สตาร์ตอัพยูนิคอร์น” เราเริ่มจากการทราบความหมายของคำว่า “สตาร์ตอัพ” ก่อน… เว็บไซต์สตาร์ตอัพ ให้ข้อมูลว่า “สตีฟ แบลงค์” พระบิดาแห่งสตาร์ตอัพ ให้คำนิยามคำว่า “สตาร์ตอัพ” ว่า สตาร์ตอัพคือกิจการที่ตั้งขึ้นเพื่อค้นหาโมเดลธุรกิจ (business model) ที่ทำซ้ำได้ (repeatable) และขยายตัวได้ (scalable)

“แบลงค์” เน้นย้ำด้วยว่า สตาร์ตอัพ จะใช้โมเดลธุรกิจที่สามารถสร้างกำไรได้เรื่อย ๆ เพิ่มผู้ใช้ได้เรื่อย ๆ และสามารถเติบโตขึ้นได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาอันสั้น จนกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งการจะเติบโตอย่างรวดเร็ว (high growth rate) และกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่อย่างนั้นได้ในปัจจุบันก็คือต้องหาลูกค้าให้มีจำนวนมหาศาลโดยเฉพาะอย่างยิ่งในลักษณะของการผ่านระบบออนไลน์ในปัจจุบัน

ส่วนคำว่า “ยูนิคอร์น” ซึ่งเป็นสัตว์ในตำนานยุโรป เกี่ยวข้องกับแวดวงธุรกิจอย่างไรนั้น? เว็บไซต์กรุงศรีดอตคอม เผยว่า เมื่อปี 2556 “ไอลีน ลี” นักลงทุนในสหรัฐอเมริกา เขียนบทความโดยเปรียบเทียบว่า โอกาสที่สตาร์ตอัพจะสร้างมูลค่าได้ถึง 1 พันล้านเหรียญ เป็นสิ่งที่ยากมาก ถ้าใครทำได้ จะกลายเป็นตำนานเหมือน “ยูนิคอร์น”

นอกจากนี้ในบทความดังกล่าวยังมีคำว่า มายลิตเติลโพนี่ (My Little Pony) ซึ่งหมายถึงธุรกิจมูลค่าบริษัทมากกว่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึง “เดเคคอร์น” (Decacorn) มาจากคำว่า (Deca-) ที่แปลว่า 10 หมายถึงธุรกิจสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าเกิน 1 หมื่นล้านเหรียญ เช่น Dropbox, SpaceX, Flipkart และ Pinterest

หลังจากนั้นคำว่า “ยูนิคอร์น” จึงถูกนำมาใช้เรียกสตาร์ตอัพ ที่ดำเนินธุรกิจแค่ 3-5 ปี แต่ประสบความสำเร็จอย่างก้าวกระโดด มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ

อุปสรรคสตาร์ตอัพไทย

ก่อนหน้านี้ นางสาวปารดา ทรัพย์ประเสริฐ ผู้อำนวยการ 500 TukTuks (กองทุนที่เอาเงินจากนักลงทุนมาบริหารและลงทุนในสตาร์ตอัพในประเทศไทย) เผยว่า สาเหตุหลักที่ทำให้ไทยยังไม่มีสตาร์ตอัพระดับยูนิคอร์นเพราะกฎหมายไทยยังไม่เอื้อกับนักลงทุนและสตาร์ตอัพ

ประกอบกับสตาร์ตอัพไทยยังต้องแบกรับภาระในการเสียภาษี ขณะที่สตาร์ตอัพต่างประเทศที่เข้ามาในไทยไม่ต้องเสียในส่วนนี้ ทำให้กลุ่มสตาร์ตอัพไทยหนีไปจดทะเบียนบริษัทในต่างประเทศที่เอื้อต่อการลงทุนและการเติบโตมากกว่า

ขณะเดียวกัน สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คือ บริษัทใหญ่เริ่มสร้างบริษัทหรือแผนกย่อย ๆ ที่ทำหน้าที่คล้ายสตาร์ตอัพ พร้อมให้งบประมาณสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้อดีคือ ถ้าธุรกิจที่สร้างขึ้นถูกจังหวะตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายก็จะโตได้เร็วและแข็งแรง เพราะมีเงินทุนสนับสนุน

แต่ข้อเสียคือ สตาร์ตอัพที่ไม่มีแหล่งเงินทุน ไม่มีโอกาสเติบโต และอาจโดนมองว่าเป็นการผูกขาดตลาด ซึ่งบริษัทใหญ่ ๆ เหล่านี้ต้องการโซลูชั่นใหม่ ๆ จากสตาร์ตอัพ จึงเป็นโอกาสที่จะเข้าไปเป็นพันธมิตรกับบริษัทใหญ่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจต่อ

ด้านนายยอด ชินสุภัคกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร LINE MAN Wongnai เผยว่า สตาร์ตอัพที่จะขึ้นไปถึงระดับยูนิคอร์นได้ต้องประกอบด้วย 3 ส่วน ดังนี้

  1. ผู้บริโภคในอีโคซิสเต็มต้องมีมากพอ หากมีไม่มากก็ต้องย้ายไปหาผู้บริโภคในต่างประเทศ
  2. สตาร์ตอัพยูนิคอร์นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เกือบ 10% มาจากธุรกิจ B2C
  3. ต้องเร่งสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค

“สตาร์ตอัพสมัยนี้โชคดีที่เกิดมาในยุคที่มีคลาวด์เข้ามาช่วยบริหารจัดการ ตั้งแต่การควบคุมซอฟต์แวร์อัตโนมัติ การสำรองข้อมูลและช่วยจัดการระบบบัญชี เพื่อลดความผิดพลาดในการทำงาน ขณะเดียวกัน การแข่งขันในธุรกิจก็ย่อมสูงขึ้น ทุกคนเริ่มทำธุรกิจได้ง่าย ๆ สตาร์ตอัพที่จะอยู่รอดได้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ให้เหนือคู่แข่ง” ผู้บริหาร LINE MAN Wongnai กล่าว

เพิ่มบทบาทหนุนสตาร์ตอัพไทย

นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีเว้นท์ป็อป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Trade Association) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า ได้พยายามเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกมากขึ้น จากเดิมทำหน้าที่แค่เป็นกระบอกเสียง โดยในปีนี้มีการรีแบรนด์และปรับโลโก้ใหม่เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น พร้อมเดินหน้า 3 ภารกิจหลัก คือ 1.การสร้างคอมมิวนิตี้ (community) ผลักดันให้เกิด startup ecosystem ที่แข็งแรง

“เราพยายามสร้างคอมมิวนิตี้ และคอนเน็กชั่นทั้งระหว่างธุรกิจสตาร์ตอัพด้วยกัน และสร้างคอนเน็กชั่นในการต่อยอดธุรกิจกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงกลุ่มนักลงทุน”

2.ทำให้โต (growth) ช่วยเหลือให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตเร็วขึ้นผ่านการเชื่อมโยงพาร์ตเนอร์ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในสตาร์ตอัพไทย

และ 3.ให้ความช่วยเหลือ (support) และให้คำปรึกษาการทำธุรกิจ ผ่านโครงการ mentoring ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการเชื่อมโยงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัพที่เป็นสมาชิกสมาคม 104 บริษัท

“ที่สตาร์ตอัพไทยยังไม่สามารถเติบโตเป็นระดับยูนิคอร์นได้มาจากหลายส่วน ทั้งการสนับสนุนของภาครัฐไม่ตรงจุด และไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับโมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อรองรับเฉพาะตลาดในประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ ซึ่งสมาคมเองพยายามสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่าทำไมต้องลงทุนในประเทศไทย และลงทุนในสตาร์ตอัพไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในกลางปีนี้” นายภัทรพรกล่าว

เมื่อ “แฟลช” นำร่องแล้ว เชื่อว่าหลังจากนี้ “ยูนิคอร์นสายพันธุ์ไทย” คงตามมาอีกหลายตัว