สแกนอนาคต “สตาร์ตอัพไทย” โควิดเฟ้นตัวจริง-DeepTech เนื้อหอม

ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์-ณัฐวุฒิ พึ่งเจริญพงศ์-เรืองโรจน์ พูนผล

วิกฤตที่ไม่มีใครคาดคิด ชื่อ “โควิด-19” เป็นบทพิสูจน์สำคัญในการเฟ้นตัวจริงบนสนามธุรกิจ รวมถึงบรรดาผู้ประกอบการสตาร์ตอัพไทย แม้จะพ้นมาได้ เส้นทางการเติบโตและการอยู่รอดหลังวิกฤตโควิด-19 ก็นับว่าท้าทายยิ่ง เชื่อว่าคงมีไม่น้อยที่ไปต่อไม่ไหว โดยเฉพาะในกลุ่มสตาร์ตอัพที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิดโดยตรง เช่น ท่องเที่ยว เป็นต้น น่าสนใจว่าทิศทางหลังจากนี้ของสตาร์ตอัพไทยที่เคยเฟื่องฟูสุด ๆ ก่อนยุคโควิด จะเป็นอย่างไรต่อ

โควิดเปลี่ยนมุมมองนักลงทุน

“ภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท อีเว้นท์ป็อป จำกัด ในฐานะนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย (Thai Startup Trade Association) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โจทย์ใหญ่ของสตาร์ตอัพไทยในปีนี้ อยู่ที่ว่าการจะทำอย่างไรให้อยู่รอด โดยสิ่งที่บรรดาสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นหลังจากนี้ คือ มีความระมัดระวังเรื่องการเงิน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แลนด์สเคปของธุรกิจเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และถี่ขึ้นมาก แต่การหาแหล่งเงินทุนเข้ามาเสริมสภาพคล่องก็เพิ่มความยากขึ้นด้วยเช่นกัน เพราะวิกฤตรอบนี้้ได้รับผลกระทบเหมือนกันทั่วโลก

“สิ่งที่นักลงทุนมองหา คือการลงทุนในธุรกิจที่มีโอกาสมากกว่าเพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุน ทำให้นักลงทุนบางรายเปลี่ยนแนวทางการลงทุนไปเลย หรือบางรายมองหาการลงทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพที่มีกำไรแล้ว โควิดทำให้นักลงทุนมองภาพการลงทุนชัดเจนขึ้น อยากลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจ และมีอนาคต

ถ้ามองภาพการลงทุนโดยรวม ธุรกิจสตาร์ตอัพถือเป็นตัวเลือกสุดท้ายของนักลงทุนในทุกเวลา เพราะมีความเสี่ยงสูงเมื่อเทียบกับการลงทุนด้านอื่น ๆ แต่หากลงทุนได้ถูกต้อง ผลตอบแทนก็จะสูงด้วยเช่นกัน อาจใช้เวลาแค่ปีเดียวได้ผลตอบแทน ทำให้นักลงทุนกลุ่มใหญ่ ๆ ที่มีการลงทุนในสตาร์ตอัพจะเป็นกลุ่มที่มีทุนอยู่แล้วจำนวนมาก”

ย้ำต้องเจ๋งจริงถึงอยู่ได้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา มีทั้งสตาร์ตอัพที่ปรับและหารายได้จากธุรกิจใหม่ได้ รวมถึงสตาร์ตอัพกลุ่มอีคอมเมิร์ซมีการเติบโตที่ดี แต่ก็มีรายที่ปรับไม่ทันและหายไปจากตลาดจำนวนมากเช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่ม “แทรเวิลเทค” และกลุ่มอีเวนต์ เนื่องจากฐานลูกค้าหลักคือนักท่องเที่ยวต่างชาติ เมื่อลูกค้าหายไป แบกต้นทุนไม่ไหว จึงหายไปจากตลาด

ขณะที่การเกิดขึ้นของสตาร์ตอัพรายใหม่ในปัจจุบันยากขึ้น เนื่องจากไทยมีสตาร์ตอัพจำนวนมาก โดยฐานใหญ่คือกลุ่มพรีซีรีส์ A และซีรีส์ A ทำให้สตาร์ตอัพหน้าใหม่ต้องหาช่องว่าง และโอกาสของตลาดให้เจอ ต้องมีความแตกต่างไปจากรายเดิม ๆ โดยสตาร์ตอัพกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูง (deep technology) AI, blockchain หรือกลุ่มที่ทำด้านรีเสิร์ชจะได้รับความนิยมจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และก๊อบปี้ยาก

“สตาร์ตอัพที่จะประสบความสำเร็จไม่ใช่แค่มีเทคโนโลยี แต่ต้องทำธุรกิจได้ หารายได้ และสร้างผลกำไรได้ หรือถ้าจะขาดทุนก็ต้องเป็นการขาดทุนที่สมเหตุสมผล และต้องรู้ว่าธุรกิจของตนเองตอบโจทย์คนกลุ่มไหน ขายใคร ต้องมีทิศทางที่ชัดเจน”

เพิ่มบทบาทหนุนสตาร์ตอัพไทย

และในฐานะนายกสมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย “ภัทรพร” กล่าวว่า ได้พยายามเพิ่มบทบาทในการสนับสนุนช่วยเหลือสมาชิกมากขึ้น จากเดิมทำหน้าที่แค่เป็นกระบอกเสียง โดยในปีนี้มีการรีแบรนด์และปรับโลโก้ใหม่เพื่อสื่อสารภาพลักษณ์ที่ทันสมัยขึ้น พร้อมเดินหน้า 3 ภารกิจหลัก คือ 1.การสร้างคอมมิวนิตี้ (community) ผลักดันให้เกิด startup ecosystem ที่แข็งแรง

“เราพยายามสร้างคอมมิวนิตี้ และคอนเน็กชั่นทั้งระหว่างธุรกิจสตาร์ตอัพด้วยกัน และสร้างคอนเน็กชั่นในการต่อยอดธุรกิจกับอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงกลุ่มนักลงทุน”

2.ทำให้โต (growth) ช่วยเหลือให้สตาร์ตอัพไทยเติบโตเร็วขึ้นผ่านการเชื่อมโยงพาร์ตเนอร์ ทั้งภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการทำให้นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในสตาร์ตอัพไทย

และ 3.ให้ความช่วยเหลือ (support) และให้คำปรึกษาการทำธุรกิจ ผ่านโครงการ mentoring ที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ รวมถึงการเชื่อมโยงบริการต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ ปัจจุบันมีบริษัทสตาร์ตอัพที่เป็นสมาชิกสมาคม 104 บริษัท

“ที่สตาร์ตอัพไทยยังไม่สามารถเติบโตเป็นระดับยูนิคอร์นได้มาจากหลายส่วน ทั้งการสนับสนุนของภาครัฐไม่ตรงจุด และไม่ต่อเนื่อง ประกอบกับโมเดลธุรกิจของสตาร์ตอัพไทยส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อรองรับเฉพาะตลาดในประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างชาติไม่สนใจ

ซึ่งสมาคมเองพยายามสร้างความเชื่อมั่นตรงนี้ขึ้นมาเพื่ออธิบายให้นักลงทุนต่างชาติเข้าใจว่าทำไมต้องลงทุนในประเทศไทย และลงทุนในสตาร์ตอัพไทย คาดว่าจะมีความชัดเจนขึ้นในกลางปีนี้”

DeepTech เนื้อหอม

ขณะที่ “เรืองโรจน์ พูนผล” กูรูสตาร์ตอัพไทย และประธาน บริษัท กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) ในเครือธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แม้สถานการณ์โควิด-19 จะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนอยู่บ้าง แต่ไม่ทำให้จำนวนดีลลดน้อยลงแต่อย่างใด และในปีนี้สตาร์ตอัพเริ่มทยอยประกาศระดมทุนกันคึกคัก ถือเป็นสัญญาณที่ดี

ซึ่งในมุมของนักลงทุนเข้าใจดีว่าการลงทุนในสตาร์ตอัพไม่สามารถมองแค่ผลประโยชน์ระยะสั้นได้ แต่จะต้องประเมินสถานการณ์ และมองในระยะยาว 5 ปีว่าสตาร์ตอัพใดจะสามารถโตได้ ซึ่งกลุ่มสตาร์ตอัพที่นักลงทุนกำลังมองหาในขณะนี้จะเป็นกลุ่ม DeepTech ทั้ง EdTech, Ecommerce, Last-mile Logistic และ FinTech รวมถึงสตาร์ตอัพที่พัฒนาโซลูชั่นด้านการทรานส์ฟอร์มองค์กร

500 TukTuks ลงทุนต่อเนื่อง

ด้าน “ณัฐวุฒิ พึ่งเจริญพงศ์” ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “อุ๊คบี” และผู้บริหารกองทุน 500 TukTuks กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ไม่ได้ทำให้กองทุน 500 TukTuks ชะลอการลงทุนลงแต่อย่างใด หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการลงทุนไปแล้วในกว่า 80 บริษัท เช่น โพเมโล และโอมิเซะ เป็นต้น คิดเป็นมูลค่าการลงทุนเกือบ 1,000 ล้านบาท และคาดว่าภายในเร็ว ๆ นี้ก็จะเริ่มมีผลตอบแทนกลับมา

สำหรับสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาต้องยอมรับว่ามีสตาร์ตอัพที่ได้รับผลกระทบทั้งในทางบวกและลบ โดยกลุ่มที่ได้รับผลในเชิงบวก จะเป็นกลุ่มฟู้ดดีลิเวอรี่ และโลจิสติกส์ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่ได้ผลกระทบในเชิงลบอย่างหนัก จะเป็นกลุ่มสตาร์ตอัพที่ต้องพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยว ทำให้มีสตาร์ตอัพในกลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยต้องปิดกิจการไป

ทั้งยังทำให้การระดมทุนเป็นไปได้ยากขึ้นด้วย เพราะนักลงทุนไม่สามารถเดินทางมาได้ แม้ว่าจะสื่อสารกันผ่านช่องทางออนไลน์ได้ แต่นักลงทุนส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะชะลอการลงทุนไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มเซ็กเตอร์สตาร์ตอัพที่มาแรงและยังมีนักลงทุนมีความสนใจที่จะลงทุนต่อเนื่อง ก็เช่น สตาร์ตอัพที่ทำเกี่ยวกับบล็อกเชน และ cryptocurrency