เปิดอินไซต์นักช็อปไทย แพลตฟอร์มใหญ่งัดฟีเจอร์ปิดการขาย

การซื้อขายสินค้าบนช่องทางออนไลน์เติบโตขึ้นก้าวกระโดดและต่อเนื่อง จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นวิถีปกติสำหรับผู้บริโภค และร้านค้าต่าง ๆ โดยมีวิกฤตโควิด-19 เป็นตัวเร่ง

พร้อมไปกับการเคลื่อนเข้าสู่ “โซเชียลคอมเมิร์ซ” จากความนิยมในการใช้งานโซเชียลมีเดียของผู้บริโภคไทย โดยปัจจุบันกินส่วนแบ่งมากถึง 60% ของตลาดอีคอมเมิร์ซ

นั่นทำให้บรรดายักษ์ดิจิทัลแพลตฟอร์มทั้งหลายไม่รอช้าที่จะกระโดดเข้ามาพัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ เพิ่มความสะดวกให้กับบรรดาร้านค้าออนไลน์ทั้งหลายเพราะถือเป็นกลุ่มลูกค้าสำคัญ

เจาะเทรนด์โซเชียลคอมเมิร์ซ

“แพร ดํารงค์มงคลกุล” Country Director ของเฟซบุ๊ก ประเทศไทย กล่าวว่าพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป โดยเมื่อค้นหาและเจอสินค้าที่ถูกใจก็จะส่งข้อความไปยังร้านค้านั้น ๆ

ซึ่งร้านค้าก็จะต้องพยายามเปลี่ยนการทักทายบน “แชต” ให้เป็น “การสั่งซื้อ” ให้ได้ โดยแนวโน้มดังกล่าวได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในประเทศไทย สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคไทยที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว ไม่ชอบรออะไรนาน ๆ และคาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องแม้ในช่วงที่การแพร่ระบาดโควิดเริ่มคลี่คลาย

ล่าสุดเฟซบุ๊กร่วมกับบริษัทวิจัยBCG ศึกษาข้อมูลภายใต้หัวข้อ “Conversational Commerce : The Next Gen of e-Com” โดยมีการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 8,864 คน อายุระหว่าง 18-64 ปี ใน 9 ประเทศ ได้แก่ บราซิล อินโดนีเซีย อินเดีย เม็กซิโก มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย อเมริกา และเวียดนาม

สำหรับในส่วนของประเทศไทย พบว่า กลุ่ม Gen Z และกลุ่ม Millennials จำนวน 8 ใน 10 คน จะมีการติดต่อร้านค้าผ่านแอปพลิเคชั่นส่งข้อความมากกว่า และผู้ตอบแบบสอบถาม 4 ใน 5 คน รู้สึกว่า การแชตออนไลน์ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับธุรกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถาม 65% ได้ทดลองใช้ฟีเจอร์การซื้อของผ่านการไลฟ์สดในปีที่ผ่านมา โดยมีการซื้อของผ่านช่องทางนี้ 28% และ 84% ซื้อของผ่านการไลฟ์สดทุกเดือน อีกทั้งผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย 9 ใน 10 คนยังบอกด้วยว่า ในปีนี้จะซื้อของผ่านการไลฟ์สดเพิ่มขึ้นด้วย

“แฟชั่น-ร้านอาหาร”แห่เปิดช็อป

ผู้บริหาร “เฟซบุ๊ก” กล่าวต่อว่า จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป รวมเข้ากับเป้าหมายของเฟซบุ๊กที่ต้องการช่วยให้ผู้ประกอบการเปิดร้านบนช่องทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น จึงเปิดตัวบริการ Facebook Shops ในไทย เมื่อมิ.ย.ที่ผ่านมา พร้อมโซลูชั่นโฆษณา “Shop Ads” เช่น Ads with Product Tags ค้นหาลูกค้าที่เหมาะสมกับสินค้า เป็นต้น

“Facebook Shops และโซลูชั่นโฆษณานี้จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ร้านค้า และเอสเอ็มอี เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น และเพิ่มโอกาสการขาย ปัจจุบันมีร้านค้าบน Facebook Shops กว่า 1.2 ล้านร้านค้า กลุ่มเปิดเพิ่มขึ้นช่วงโควิด คือ แฟชั่น ความงาม และร้านอาหาร”

ชี้ Shoppertainment มาแรง

แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น Tiktok ที่มียอดดาวน์โหลดทั่วโลกถึง 2,000 ล้านครั้งก็เป็นอีกโซเชียลมีเดียน้องใหม่ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในบ้านเราที่ขยับลงมาเจาะลูกค้าเอสเอ็มอีเช่นกัน ด้วยบริการ “TikTok For Business” ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ล่าสุดได้ร่วมกับบริษัทวิจัย Neilsen สำรวจนักช็อปออนไลน์ในไทย

“สิรินิธิ์ วิรยศิริ” Head of Business Marketing ของ Tiktok กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคหันมาช็อปออนไลน์มากขึ้น ทำให้แบรนด์ใหญ่เริ่มหันมาใช้โซเชียลมีเดียเป็นช่องทางในการรีวิว และโปรโมตสินค้า ประกอบกับแคมเปญเมกะเซลของบรรดายักษ์อีคอมเมิร์ซที่จัดขึ้นทุกเดือน จากเดิมที่เคยมีปีละเฉลี่ย 2 ครั้งในช่วงปลายปี ส่งผลให้ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยโตขึ้น 15% เทียบเท่ากับตลาดอินโดนีเซีย

ผลการศึกษาของ TikTok ประเทศไทย ยังพบว่า คอนเทนต์เกี่ยวกับช็อปออนไลน์ในแพลตฟอร์มมียอดวิวเพิ่มขึ้นถึง 7.5 เท่า และมีเอ็นเกจเมนต์เพิ่ม 10.3% โดย 70% ของผู้ใช้งานรอคอยเพื่อช็อปในเทศกาลเมกะเซล และ 67% บอกว่า เมกะเซลทำให้มีความสุขมากขึ้น

และ 83% ระบุว่า “วิดีโอสั้น” ช่วยกระตุ้นให้อยากซื้อสินค้า รวมถึงต้องการชมเนื้อหาบันเทิง เพื่อให้มีความสุขก่อนซื้อ จึงเกิดเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า “Shoppertainment” ที่ผู้ขายจะผสมคอนเทนต์บันเทิงกับการรีวิวสินค้าเข้าด้วยกัน

และพบว่า ผู้ใช้งานกว่า 80% ค้นพบคอนเทนต์ที่ชอบผ่านหน้าฟีด 79% ซื้อสินค้าจากแบรนด์ใหม่ที่ไม่เคยค้นพบ 60% ซื้อสินค้านอกเหนือจากที่วางแผนไว้ 62% ซื้อสินค้าช่วงเมกะเซลเพิ่มขึ้น 51% จะศึกษาสินค้าและเปรียบเทียบราคาก่อนแคมเปญเริ่ม 1 เดือน สำหรับสินค้าฮิตช่วงแคมเปญ 3 อันดับ ได้แก่ สินค้าความงาม แฟชั่น และเครื่องใช้ไฟฟ้า

TikTok ช่วยร้านค้าปิดยอดขาย

“สิรินิธิ์” กล่าวด้วยว่า “TikTok For Business” ต้องการเป็นตัวช่วยธุรกิจ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด ตั้งแต่การสร้างการรับรู้เกี่ยวกับแบรนด์ไปจนถึงการปิดการขาย หลังจากแบรนด์ต่าง ๆ หันมาใช้ช่องทางดังกล่าวเพิ่มยอดขายมากขึ้น

โดยทิศทางในครึ่งปีหลังจะมุ่งไปยังการสนับสนุนกลุ่มเอสเอ็มอีให้สามารถเพิ่มยอดขายผ่านโซลูชั่นดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่มี เช่น In-feed ads โซลูชั่นโฆษณาครบวงจร

ตั้งแต่การเลือกกลุ่มเป้าหมาย, งบประมาณ, การสร้างสรรค์คอนเทนต์ และยิงโฆษณา เป็นต้น รวมถึงจัดสัมมนาแนะนำเทคนิคการขายออนไลน์ให้เอสเอ็มอีทุก 2 เดือนด้วย

“แบรนด์ต่าง ๆ ยังไม่สามารถปิดการขายบนแพลตฟอร์มได้ จึงหันมาทำโฆษณาบน TikTok เพื่อดึงคนไปซื้อของที่อีมาร์เก็ตเพลซ เช่น การสร้างคอนเทนต์ในช่วงเมกะเซลผ่านแฮชแท็ก

และการไลฟ์สตรีมมิ่ง อย่างแบรนด์ Balmain ที่มีการไลฟ์สตรีมมิ่งเปิดตัวคอลเล็กชั่นใหม่ มียอดวิวสูงถึง 2.4 แสนคน ทำให้เกิดคอมมิวนิตี้แห่งการซื้อขายในแพลตฟอร์ม มีการแชร์ และสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าจนขึ้นเทรนด์ เป็นต้น”

ชัดเจนว่าสิ่งที่แบรนด์ต่าง ๆ ไม่ควรมองข้าม คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมในแคมเปญ “เมกะเซล” ของอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ ๆ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่ผู้บริโภครอคอย จึงเป็นโอกาสในการสร้างยอดขายสำคัญของธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงธุรกิจขนาดใหญ่

และย้ำด้วยว่า การวางกลยุทธ์เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเพิ่มยอดขายในช่วงเมกะเซล ควรมีการเตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 10-30 วัน ก่อนเริ่มแคมเปญ เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้บริโภคเริ่มศึกษาข้อมูล

ไม่ว่าจะเป็นการประกาศแคมเปญไปยังลูกค้า, การตอกย้ำเรื่องราคา, การกดสินค้าใส่ตะกร้าล่วงหน้า และการเตือนก่อนถึงวันงาน เป็นต้น

ไม่เฉพาะเฟซบุ๊ก และติ๊กต๊อก ก่อนหน้านี้ แอปพลิเคชั่น “ไลน์” (LINE) ก็หันมาลุยเรื่อง “แชตคอมเมิร์ซ” มากขึ้น โดยบอกว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจต่าง ๆ ปิดการขายได้สูงถึง 45% ด้วยเหตุที่ว่าพฤติกรรมนักช็อปไทยต้องการสื่อสารกับคนมากกว่ากับแบรนด์

สำหรับร้านค้า และแบรนด์ต่าง ๆ การปรับใช้เครื่องมือ “ดิจิทัล” ทั้งหลายให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจึงสำคัญและต้องอัพเดตกันอยู่ตลอดเวลา