ถกยกระดับล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ซีล 10 จังหวัดออกจากบ้าน “วัน เว้น วัน”

ศบค. นัดพิเศษ ถกเครียด หลังล็อกดาวน์ 5 วัน ผู้ติดเชื้อกระจายทั่วประเทศ สั่งสาธารณสุขจัดทำมาตรการยกระดับเข้มข้น เตรียมขยายล็อกดาวน์ทั้งประเทศ พร้อมทางเลือกซีล 10 จังหวัด กทม.-ปริมณฑล กับ 4 จังหวัดภาคใต้ ปิดกิจการเพิ่ม ให้ออกจากบ้าน “วันเว้นวัน” เป้าหมายกดยอดผู้ติดเชื้อเหลือ 1,000-2,000 คน/วัน สภาอุตฯ-หอการค้าฯกัดฟันยอมรับมาตรการคุมเข้ม ร้องขอไม่ให้กระทบภาคการผลิต

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (ศบค.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เป็นประธาน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ภายหลังออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด 10 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและปริมณฑล 5 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร รวมทั้ง 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส

10 จังหวัดออกจากบ้านวันเว้นวัน

รายงานข่าวจากที่ประชุม ศบค.นัดพิเศษระบุว่า ได้มีการถกประเด็นการปิดประเทศในหลายระดับ เช่น ปิดกิจการเสี่ยง ทั้งประเทศ (ฟูลล็อกดาวน์) หรือปิด 3 ใน 4 หรือครึ่งประเทศ ที่มีตัวเลขติดเชื้อสูง อีกทางหนึ่งคือ ล็อกและซีล 10 จังหวัดสีแดงเข้ม โดยมีการยกตัวอย่างว่า อาจจะต้องเปิดกิจการที่จำเป็นเช่น ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต แบบวันเว้นวัน หรือระบุจันทร์-พุธ-ศุกร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายคุมโรค กดยอดผู้ติดเชื้อให้เหลือ 1,000-2,000 คน/วัน

รวมทั้งคุมการเดินทางออกนอกบ้านเด็ดขาด หรือออกให้น้อยที่สุด ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะหารือรายละเอียดกับที่ปรึกษากลุ่มแพทย์ แล้วจะมีการจัดทำมาตรการประกาศอย่างเป็นทางการต่อไป ส่วนมาตรการเยียวยาก็จะมีการนำเสนอประกอบด้วย

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงว่า ที่ประชุม ศบค.นัดพิเศษ ได้รับทราบการรายงานผลการกำกับมาตรการยกระดับการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมและเข้มงวดสูงสุด 10 จังหวัด ในช่วง 5 วันที่ผ่านมา และมีข้อสรุปในที่ประชุมว่า อาจจะมีความจำเป็นต้องปรับมาตรการให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะมีความจำเป็นต้องปิดกิจการบางอย่าง เช่น กิจการที่อนุญาตให้เปิดให้บริการได้จนกระทั่งถึงเวลา 20.00 น. อาจจะต้องเปิดกิจการที่จำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร แบบวันเว้นวัน

“ในที่ประชุมวันนี้ได้มีการพิจารณาว่าอาจจะมีการปิดให้มากขึ้น ปิดให้มากที่สุด และอาจจะมีการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามการรายงานผลการพิจารณาในเร็ว ๆ นี้”

พญ.อภิสมัยกล่าวว่า ที่ผ่านมามาตรการยกระดับมาตรการควบคุมเป็นการล็อกดาวน์บางพื้นที่ มีการควบคุมเข้มงวดใน 10 จังหวัด ไม่ใช่ทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบและเดือดร้อนน้อยที่สุด

ยกระดับมาตรการเข้มทั่ว ปท.

“แต่เมื่อมีการรายงานทบทวนการบังคับใช้มาตรการ 5 วันที่ผ่านมา ยังพบว่าการบังคับใช้มาตรการยังน่ากังวล ในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ในฐานะ ผอ.ศบค. จึงขอให้คณะแพทย์ที่ปรึกษาด้านสาธารณสุข ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาธร เป็นประธาน ทบทวนมาตรการสาธารณสุขเพื่อนำเสนออย่างเร่งด่วน ซึ่งอาจจะมีการปรับมาตรการให้เข้มข้นมากยิ่งขึ้นจากนี้”

รายงานข่าวจาก ศบค.เปิดเผยว่า ที่ประชุม ศบค.นัดพิเศษ ยังมอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขยกระดับมาตรการเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขยายเป็นวงกว้างครบทั้ง 77 จังหวัดแล้ว นอกจากนี้ บางจังหวัดพบตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงขึ้นจำนวนมาก

ดังนั้นจึงได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข จัดทำมาตรการยกระดับขยายให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก เช่น จังหวัดชลบุรี โดยให้นำกลับมาเสนอ ศบค.โดยเร็วที่สุด เพื่อออกเป็นคำสั่งเป็นข้อกำหนดฉบับต่อไป

ขยายล็อกดาวน์ต้องเร่งวัคซีน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หาก ศบค.มีมติขยายพื้นที่ล็อกดาวน์จาก 10 จังหวัดออกไป รวมทั้งจังหวัดอื่นที่มีการระบาดเพิ่มขึ้น เช่น ชลบุรี หรือจังหวัดอื่น ถือว่ารับได้ ต้องให้เวลาเคลียร์ปัญหาเรื่องการระบาดให้จบ หากขยายพื้นที่ล็อกดาวน์ไปชลบุรี คงไม่กระทบแผนการลงทุนในอีอีซี แต่ถ้าควบคุมการแพร่ระบาดไม่ได้จะกระทบการลงทุนรุนแรงกว่า

สิ่งสำคัญเมื่อล็อกดาวน์แล้วต้องเร่งคัดแยกผู้ติดเชื้อออกจากผู้ไม่ติดเชื้อเพื่อรับการรักษา พร้อมทั้งเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนให้ครอบคลุมทั่วถึงโดยเร็วที่สุด

“สัปดาห์หน้า ส.อ.ท.เตรียมเข้าพบกับรองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข (นายอนุทิน ชาญวีรกุล) เพื่อหารือ และขอให้ภาครัฐเป็นผู้ประสานติดต่อกับ Apple และ Google ให้เปิดใช้แอปพลิเคชั่น ENX ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายหมอ พร้อมจะช่วยให้สามารถจัดแท็กได้ เช่น ถ้าตรวจสอบว่าป่วย ระบบก็จะแท็กไปแจ้งคนที่ใกล้ชิด จะช่วยให้การป้องกันควบคุมโรคมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยแอปนี้มีการใช้ในหลายประเทศ เช่น อียู ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น”

ชี้ต้องไม่กระทบภาคการผลิต

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเด็นหากขยายพื้นที่การระบาดเพิ่มเติม หากมีการแพร่ระบาดหนักก็ต้องจำกัดการเดินทางของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ เพิ่ม ไม่ให้ระบาดหนักกว่านี้ สิ่งสำคัญต้องจำกัดเฉพาะพื้นที่ และบางกิจการที่มีความเสี่ยงสูงเท่านั้น ไม่ให้กระทบต่อภาพรวมต่อภาคการผลิตมากเกินไป ภาคการผลิตต้องไม่ให้หยุดชะงัก

“ตัวเลขการระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตอนนี้ ภาครัฐนอกจากต้องเร่งการตรวจเชิงรุกเพื่อแยกคนติดกับคนไม่ติดออกมาแล้ว ต้องเร่งกระจายวัคซีนให้กลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักเป็นการด่วน เพื่อลดจำนวนตัวเลขผู้ที่มีอาการหนักและเสียชีวิต”

ชลบุรีหวั่นกระทบซัพพลายเชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์โควิด-19 ในต่างจังหวัดการแพร่ระบาดยังรุนแรง ยอดผู้ติดเชื้อในโรงงานยังอยู่ในระดับที่สูง โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ที่มีพนักงานหลายพันคน เช่น บจ.บีฟู้ดส์ โปรดักส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ต.ช่องสาลิกา อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ในเครือเบทาโกร มีพนักงานติดโควิด 993 คน, บจ.โดลไทยแลนด์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ติดเชื้อกว่า 1,000 คน ได้ปิดโรงงาน 14 วัน เพิ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 15 ก.ค. 64

นายสมบูรณ์ ตรีพรเจริญ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์ในชลบุรีค่อนข้างหนัก ปัจจุบันโควิดแพร่ระบาดเข้าโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่ง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดได้ประชาสัมพันธ์ให้วางมาตรการป้องกัน

หลายโรงงานได้ทำ bubbel & seal แต่ควบคุมพนักงานได้เฉพาะเวลาอยู่ในโรงงาน เมื่อกลับบ้านอยู่นอกเหนือการควบคุมทำให้มีการติดเชื้อ และเกิดการแพร่ระบาดเข้ามาภายในโรงงาน น่าห่วงว่าจะกระทบต่อทั้งระบบซัพพลายเชน เพราะ จ.ชลบุรี ส่วนใหญ่เป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้โรงงานประกอบรถยนต์ และส่งผลกระทบต่อการส่งออก จึงอยากเรียกร้องให้รัฐเร่งจัดหาวัคซีนให้ประชาชนโดยเร็ว

ทั้งนี้ ปัจจุบันในจังหวัดชลบุรีมีโรงงานประมาณ 5,800 แห่ง เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี 240 แห่ง มีพนักงานอยู่ในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 ประมาณ 730,000 คน

“เมื่อ 2 วันที่ผ่านมาได้หารือกับนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี แจ้งให้ทราบว่าพนักงานที่ติดเชื้อส่วนใหญ่เมื่อเลิกงานกลับบ้าน แล้วไปสังสรรค์กัน สูบบุหรี่มวนเดียวกัน ดื่มน้ำจากกระติกเดียวกัน การควบคุมพนักงานเมื่อออกนอกโรงงานจึงไม่ได้ผล”

นอกจากนี้ อยากให้พิจารณาในเรื่องมาตรการต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงงาน และธุรกิจต่าง ๆ รวมถึงประชาชนในชลบุรีให้ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องการเยียวยา และมาตรการทางด้านการเงินต่าง ๆ เช่นเดียวกับ 10 จังหวัดด้วย

นายพิสูจน์ แซ่คู นายกสมาคมโรงแรมภาคตะวันออก กล่าวว่า ในการทำธุรกิจไม่อยากให้ล็อกดาวน์เพราะเกรงว่าจะกระทบโครงการเปิดเมืองในวันที่ 1 กันยายนนี้ ที่ได้มีการวางแผนไว้แล้ว การล็อกดาวน์ครั้งนี้ยังมองภาพไม่ออก เพราะโควิดแพร่ระบาดเป็นวงกว้างมาก

“ผมมองว่าแม้จะล็อกดาวน์ 3 เดือน ก็ยังยากที่จะควบคุม แต่ถ้าจบภายใน 1 เดือนได้ ผู้ประกอบการก็ยินดี ตอนนี้ผมกลัวเจ็บ แต่ไม่จบ”

คำถามก็คือหากมีการล็อดดาวน์ จะมีมาตรการควบคุมอย่างไร ซึ่งตัวเลขคนติดเชื้อโควิดส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน แคมป์ก่อสร้าง ตลาด แม้ผู้ว่าฯชลบุรีประกาศให้ประชาชนที่เดินทางเข้ามาจากจังหวัดพื้นที่สีเข้มต้องกักตัว แต่ก็ยังสงสัยว่าการกักตัวจะทำได้อย่างไร เข้าใจว่าคำสั่งที่ออกมาจะควบคุมแรงงานมากกว่า ไม่ได้เกี่ยวกับภาคธุรกิจท่องเที่ยว

“ตอนนี้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจเชิงรุกในโรงงานไหนก็เจอผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมด การทำ bubble and seal จะสามารถควบคุมได้จริงหรือไม่ เพราะถ้าควบคุมได้จริงคงไม่มีการระบาดหนักขนาดนี้ เท่าที่ทราบการควบคุมไม่สามารถทำได้จริง แรงงานไม่ได้อยู่ในสถานที่กักตัว ยังมีการออกมาเดินภายนอกในพื้นที่ชุมชน หรือตลาดได้อยู่” นายพิสูจน์กล่าว

แปดริ้วชี้บับเบิลแอนด์ซีลไม่ได้ผล

นายจีรทัศน์ แจ่มไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ในฉะเชิงเทราการระบาดกระจายไปทุกอำเภอ โดยเฉพาะ อ.บางน้ำเปรี้ยว อ.บางปะกง อ.เมือง ในส่วนโรงงานทั้งใหญ่ กลาง เล็กก็มีผู้ติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทำ bubbel & seal แต่ไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ 100%

ตอนนี้ทุกโรงงานปรับตัวไม่ให้มีผลกระทบการผลิต และการส่งมอบงานตามออร์เดอร์ ปัจจุบันยังไม่มีโรงงานที่ต้องสั่งปิด มีปิดเฉพาะบางไลน์การผลิตที่มีผู้ติดเชื้อ

สำหรับ จ.ฉะเชิงเทรา มีโรงงาน 2,000 แห่ง มีพนักงานทั้งชาวไทยและต่างชาติในภาคอุตสาหกรรม 400,000 คน ต้องการวัคซีน 800,000 โดส

เพชรบุรี-ประจวบฯคุมอยู่

ด้านนางสาวอารี โชติวงษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเพชรบุรี เปิดเผยว่า เพชรบุรีมีโรงงานอุตสาหกรรมขึ้นทะเบียนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 300 กว่าแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ อ.เขาย้อย กว่า 200 แห่ง ปัจจุบันยังตรวจพบเชื้อโควิด-19 บ้าง แต่ไม่มาก อัตราการติดเชื้อของโรงงานเกิน 100 คนขึ้นไป ตอนนี้มีไม่ถึง 10% แต่ละโรงงานควบคุมสถานการณ์ได้ และยังทำการผลิตได้

มาตรการ bubble & seal ได้ผลดีประมาณ 80% และ บมจ.แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) อ.เขาย้อย ที่มีปัญหาช่วงคลัสเตอร์ใหญ่ก็กลับมาทำการเป็นปกติแล้ว

สั่งปิดโรงงานสับปะรด

นายวิรัช ปิยพรไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยทำนองเดียวกันว่า ทุกโรงงานใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ได้รับผลกระทบจากโควิด และมีปัญหาแรงงานขาดแคลน ปัจจุบันไม่พบการแพร่ระบาดในโรงงานต่าง ๆ ถือว่ามาตรการควบคุมได้ผลดี “อย่างโรงงานแปรรูปสับปะรดที่ตรวจพบพนักงานติดเชื้อโควิดก็ไม่กระทบ เพราะเป็นช่วงที่สับปะรดหมดฤดูกาลไปแล้ว

ส่วน จ.พระนครศรีอยุธยา นางสาวบงกช แจ่มทวี ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า มีผู้ใช้แรงงานประมาณ 3 แสนกว่าคน แม้มีผู้ติดเชื้อแต่ปัญหายังไม่หนักมาก

“พีที แมกซ์นิตรอน” เลื่อนแข่ง

นายศิลป์ ธีรนิติ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอส 63 โปรเจค เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังระบาดอย่างรุนแรงและแพร่กระจายไปในหลายจังหวัดของประเทศไทย เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมจำกัดการแพร่ระบาด

ในฐานะผู้จัดการแข่งขันมีความห่วงใยนักแข่ง ทีมแข่ง และทีมงานทุกภาคส่วน จึงขอเลื่อนชิงชัยท้าประลองความเร็ว รายการ “PT Maxnitron Racing Series 2021” สนามที่ 1-3 จากกำหนดเดิมวันที่ 30 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2564 ออกไปเป็นวันที่ 27-29 สิงหาคม 2564 ณ สนามพีระฯ เซอร์กิต พัทยา จ.ชลบุรี

ทั้งนี้ การแข่งขัน “PT Maxnitron Racing Series 2021” สนามที่ 1 จะจัดแข่งขันภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามคู่มือการปฏิบัติในการจัดกิจกรรมด้านการกีฬาประเภท Motorsport โดยผู้ร่วมงานทุกคนต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น “ไทยชนะ”, ตรวจวัดอุณหภูมิ, สวมหน้ากากอนามัย และจำกัดจำนวนผู้เข้าชมการแข่งขัน เพื่อให้การแข่งขันปลอดภัยมากที่สุด