อนาคตดาวเทียมไทย (คม) ผลัดใบ ‘สัมปทาน’ บนจุดเปลี่ยนเทคโนโลยี

ไทยคม

ขยับไปอีก 30 วัน สำหรับการจัดประมูลวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (package) จากเดิมในวันที่ 24 ก.ค. ไปเป็นวันที่ 28 ส.ค.นี้ โดย “กสทช.” ให้เหตุผลว่า เพื่อเปิดให้ผู้ที่สนใจยื่นเอกสารเข้าร่วมการคัดเลือกเพิ่มเติม หลังครบกำหนดมีแค่บริษัท ทีซี สเปซ คอนเน็ค จำกัด (ในเครือ บมจ.ไทยคม) ยื่นเอกสารเข้าร่วมการคัดเลือกเพียงรายเดียว

ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น บอร์ด กสทช.จึงมีมติเห็นชอบ (7 ก.ค.) ให้ขยายการรับเอกสารการคัดเลือกออกไปจนถึงวันที่ 6 ส.ค. โดยไม่ได้เกี่ยวกับกรณีเจ้ากระทรวงดีอีเอส“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ท้วงติงมาก่อนหน้านี้ว่า อยากให้รอ กสทช.ชุดใหม่เข้ามาดำเนินการประมูลจะเหมาะสมกว่า

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า กสทช.ชุดรักษาการมีหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม

ประกอบกับไทยมีความจำเป็นที่จะต้องรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม ซึ่งต้องมีการใช้งานบนดาวเทียมจริง เพราะหากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (International Telecommunication Union : ITU) ตรวจสอบพบว่าไม่มีการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่ได้รับภายในเวลากำหนด หรือไม่ได้ใช้ต่อเนื่องอาจเกิดความเสี่ยงที่จะโดนยกเลิกสิทธิเข้าใช้วงโคจรและคลื่นความถี่ออกจากทะเบียนความถี่หลักระหว่างประเทศ (master international frequency register) ได้

“การจัดประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมของข่ายงานดาวเทียมที่ยังไม่มีผู้รับอนุญาตใช้ รวมทั้งสิทธิที่การอนุญาตเดิมที่กำลังจะสิ้นสุดในอนาคตของ กสทช. ไม่ได้รอนสิทธิในการบริหารทรัพย์สินหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของกระทรวงดีอีเอสแต่อย่างใด”

และกรอบเวลาใหม่เปิดให้รับเอกสารการคัดเลือกระหว่างวันที่ 8 ก.ค.-6 ส.ค. โดยให้ผู้ประสงค์ขอรับอนุญาตยื่นคำขอ และวางหลักประกันการขอรับอนุญาตในวันที่ 11 ส.ค.

และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 18 ส.ค. และประกาศชื่อผู้เข้าร่วมการคัดเลือกที่ผ่านเกณฑ์ข้อเสนอด้านประสบการณ์และความสามารถด้านการเงิน เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมการประมูลในวันที่ 24 ส.ค. และจัดประมูลวันที่ 28 ส.ค. 2564

สำหรับชุดข่ายงานดาวเทียมที่จะนำมาประมูลมี 4 ชุด คือ ชุดที่ 1 มีวงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 728.20 ล้านบาท เป็น 676.92 ล้านบาท ชุดที่ 2 มีวงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 366.49 ล้านบาท ชุดที่ 3 มีวงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ปรับราคาขั้นต่ำจาก 745.57 ล้านบาท เป็น 392.95 ล้านบาท และชุดที่ 4 มีวงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) และวงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาขั้นต่ำอยู่ที่ 369.69 ล้านบาท

ด้าน นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความเร่งด่วนของการจัดประมูลใบอนุญาตการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเกิดจากสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4 กำลังจะหมดอายุใน ก.ย.นี้

หากประมูลเลื่อนไป 2-3 เดือน คงไม่เป็นไร แต่ถ้าเลื่อนไป 6 เดือนหรือ 1 ปี จะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมดาวเทียมของประเทศ เพราะไม่ใช่แค่ประมูลเสร็จแล้วจะยิงดาวเทียมขึ้นไปได้เลย ต้องใช้ระยะเวลาเตรียมการ ถ้าช้าอาจโดน ITU ยกเลิกสิทธิในการเข้าใช้วงโคจร จึงควรเริ่มประมูลให้เร็วที่สุด

“ส่วนไทยคมเอง คงต้องมาดูต่อว่า เมื่อสัมปทานไทยคม 4 สิ้นสุดใน ก.ย.นี้แล้วจะยังไง จะมีการโอนให้กระทรวงดีอีเอสซึ่งตอนนี้รู้แค่ว่ามีนโยบายให้เอ็นที (บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) รับไปดูแลต่อแต่ข้อมูลที่ยังไม่รู้ คือ ก่อนวันที่ 10 กันยายน ถ้าไทยคมมีรายได้ 100 บาท ต้องแบ่งให้กระทรวงดีอีเอส 22.5% แต่หลัง 10 กันยายน รายได้ 100 บาท ไทยคมจะเก็บไว้ได้เท่าไร ถ้าได้มากกว่าหุ้นก็จะขึ้นต่อ แต่ถ้าเก็บได้เท่าเดิมหรือน้อยกว่าหุ้นก็จะลง ตนเชื่อว่าจุดถอยสุดของไทยคมคือยอมจ่ายมากขึ้น”

นายพิสุทธิ์มองว่า การแบ่งสัดส่วนรายได้อาจสำคัญกว่าการประมูลใบอนุญาตด้วยซ้ำ แม้การยืดประมูลออกไปจะไม่ดีกับไทยคมแต่ก็ไม่มาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ไม่น่าที่จะมีใครที่มีศักยภาพเพียงพอที่เข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผลประกอบการ บมจ.ไทยคม ณ ไตรมาส 1/2564 มีรายได้รวม 788 ล้านบาท ลดลง 18.3% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะรายได้จากการให้บริการดาวเทียม และบริการที่เกี่ยวข้องลดลง

ขณะที่ นาวาอากาศเอกสมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ (เอ็นที) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เอ็นทีจะเป็นผู้ดูแลดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 หลังหมดอายุสัมปทานตามนโยบายของกระทรวงดีอีเอส มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมทั้งเรื่องความปลอดภัย การป้องกันประเทศ และการสร้างรายได้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาความเป็นไปได้ต่าง ๆ

ทั้งกรณีเอ็นทีเข้าไปดูแลเอง หรือให้เอกชนรับช่วงไปดูแล คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนนี้ ก่อนส่งให้คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอีเอส) พิจารณาต่อไป

ไม่เฉพาะการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานสู่ระบบใบอนุญาตในธุรกิจดาวเทียม ซึ่งกำลังจะเกิดขึ้นแบบฉิวเฉียดระหว่างสัมปทานที่จะหมดอายุกับการเปิดประมูลไลเซนส์ของ “กสทช.”

แต่ในแง่มุมของธุรกิจ อุตสาหกรรมดาวเทียมก็อยู่ในช่วงของการผลัดเปลี่ยนสำคัญ ดังจะเห็นได้จากการเข้าสู่ธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของบรรดาบิ๊กเนมระดับโลกทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น “สตาร์ลิงก์” ของอีลอน มัสก์ หรือกูเกิล และอเมซอน


แม้แต่การส่งจรวดยิงดาวเทียมเพื่อเดินทางไปท่องอวกาศก็ไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมอีกแล้ว จากความสำเร็จของทัวร์อวกาศเที่ยวล่าสุดของ “ริชาร์ด แบรนสัน” แห่งอาณาจักรเวอร์จิ้น