ไทยคมลุยเจรจาเอ็นทีเข้าบริหารสิทธิไทยคม 4 และไทยคม 6 ต่อ 

ไทยคมกางแผนธุรกิจ ลุยเจรจาเอ็นที เข้าบริหารไทยคม 4  และไทยคม 6 ต่อ  พร้อมเดินหน้าประมูลวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด วันที่ 28 ส.ค. นี้ เปิดกว้างมองหาพันธมิตรมใหม่ เร่งสร้างการเติบโตให้ธุรกิจในอนาคต

วันที่ 10 สิงหาคม 2564 นายปฐมภพ สุวรรณศิริ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการค้า บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) (THCOM) ผู้ให้บริการดาวเทียมไทย กล่าวว่า จากนี้ไป ไทยคมไม่ได้ยึดแค่การสร้างดาวเทียมและให้บริการดาวเทียมเท่านั้น แต่เปิดกว้างสำหรับการมองหาพันธมิตร เพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจในอนาคต

โดยแผนธุรกิจจะแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ แผนระยะสั้น คือ การสร้างความต่อเนื่องให้แก่ธุรกิจ เนื่องจากวันที่ 10 ก.ย. นี้ทางไทยคมจะต้องโอนสิทธิดาวเทียมไทยคม 4 และไทยคม 6 ให้แก่บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ดังนั้นขณะนี้ไทยคมจึงอยู่ระหว่างเจรจากับเอ็นที เพื่อเข้าบริหารจัดการทรัพย์สินนี้ต่อ หรืออาจจะเข้าซื้อแบนด์วิธต่อจากเอ็นที เพื่อให้บริการกับลูกค้าต่อ โดยยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่คาดว่าไตรมาส 3 นี้จะมีความชัดเจนขึ้น


สำหรับแผนระยะกลาง คือ การย้ายฐานลูกค้า หลังจากที่บริษัทได้เปลี่ยนรูปแบบการให้บริการหลังสัมปทานเสร็จสิ้น ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจากับเอ็นที  ส่วนแผนการให้บริการดาวเทียมวงโครจรต่ำนั้น ก็อยู่ระหว่างเจรจากับผู้ให้บริการหลาย ๆ ราย รวมถึง Starlink ด้วย

ขณะที่แผนระยะยาวนั้นมองว่า ไทยและภูมิภาคเอเชียนี้ยังมีความต้องการใช้บริการดาวเทียมอยู่ ดังนั้นไทยคมได้เข้าร่วมประมูลวงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด ที่ กสทช. จัดขึ้น ซึ่งจะประมูลได้วันที่ 28 สิงหาคมนี้ ส่วนรายละเอียดอื่น ๆ ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ จนกว่าการประมูลจะแล้วเสร็จ

นายปฐมภพกล่าวเพิ่มเติมว่า กฎหมายอวกาศที่รัฐบาลเพิ่งประกาศใหม่นั้น ทางไทยคมก็มองว่า เป็นตลาดใหม่ที่หลาย ๆ คนสนใจ และเป็นโอกาสใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับไทยคมเช่นกัน เนื่องจากเราอยู่ในธุรกิจอวกาศมา 30 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถต่อยอดสู่บริการใหม่ ๆ ได้ในอนาคต ส่วนประเด็นการเข้ามาถือหุ้นใหม่ของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทั้งไทยคมและกัลฟ์ ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปช่วยสนับสนุนธุรกิจพลังงานมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ครึ่งปีแรกที่ผ่านมา บริษัทมีการเซ็นสัญญาต่อเนื่อง โดยธุรกิจบรอดแคส ก็มีการเซ็นสัญญาในประเทศต่าง ๆ มากขึ้น เช่น แอฟริกา และลูกค้าเดิมที่มีอยู่ อย่างไทยพีบีเอส เอ็มคอส เป็นต้น ส่วนธุรกิจบรอดแบนด์ ก็มีลูกค้ารายสำคัญ อย่าง KDDI จากญี่ปุ่นที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณดาวเทียมกับระบบมือถือ ขณะที่ธุรกิจใหม่ เช่น บริการบรอดแบนด์บนเรือ NAVA ก็มีดีมานด์เพิ่มขึ้น ส่วนเอทีไอ เทคโนโลยีส์ ที่ให้บริการโดรนการเกษตร ขณะนี้ให้บริการไปแล้ว 25 ลำ

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2564 บริษัทมีรายได้การขายและการให้บริการรวมทั้งสิ้น 796 ล้านบาท ลดลง 8.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุหลักจากรายได้ที่ลดลงของการให้บริการดาวเทียม เนื่องจากลูกค้ามีการใช้งานลดลง ประกอบกับการแข่งขันด้านราคา มีผลขาดทุนสุทธิ 41 ล้านบาท ลดลงจากผลกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2563 จำนวน 498 ล้านบาท จากรายได้ที่ลดลง ค่าใช้จ่ายการบริหารที่เพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายด้านกฎหมาย