เจาะ 4 เทรนด์ Food Delivery ไทย

คอลัมน์ Pawoot.com
คอลัมน์ Pawoot.com
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

เดือนตุลาคมนี้แพลตฟอร์ม food delivery ทั้งหลายจะใช้โครงการคนละครึ่งได้แล้ว พูดถึงเรื่อง food delivery ในไทยต้องบอกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นแล้วในเรื่องของการสั่งอาหารยุคโควิด

โดย คุณยอด ชิณภัคกุลซีอีโอ LINE MAN WONGNAI เปิดเผยข้อมูลในงาน DAAT DAY 2021 จัดโดยสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ได้พูดถึง 5 แนวทางการปรับตัวของร้านอาหารให้อยู่รอด ซึ่งเป็นข้อมูลจากครึ่งปีแรก นั่นคือ

1.ความถี่ และมูลค่าในการใช้บริการร้านอาหารเพิ่มขึ้น ก่อนหน้าที่จะล็อกดาวน์บริการ “ฟู้ดดีลิเวอรี่” ได้รับความนิยมอยู่แล้ว แต่ในช่วงล็อกดาวน์ คนใช้บริการโตขึ้น ทั้งในแง่ความถี่ และมูลค่า

เพราะไม่สามารถออกไปกินอาหารข้างนอกได้ทำให้ต้องสั่งอาหารออนไลน์ทุกมื้อ ประเภทร้านอาหารที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอันดับ 1 คือ ร้านกาแฟ อันดับ 2 อาหารจานเดียว

อันดับ 3 อาหารตามสั่ง อันดับ 4 ร้านก๋วยเตี๋ยว อันดับ 5 ร้านอาหารไทย อันดับ 6 ร้านอาหารอีสาน อันดับ 7 ฟาสต์ฟู้ด อันดับ 8 ชานมไข่มุก อันดับ 9 ร้านขนมหวาน และอันดับ 10 สตรีตฟู้ด

ที่น่าสนใจคือ ร้านกาแฟปีที่แล้วอยู่อันดับ 7 แต่ปีนี้ไต่ขึ้นมาอันดับ 1 ขณะเดียวกันร้านอาหารก็เริ่มจัดโปรโมชั่นในวันพิเศษเพื่อให้ทำตัวเลขต่อรายการมากขึ้น สังเกตว่าในแอปสั่งอาหารต่าง ๆ

จะเริ่มมีการซื้อเมนูนี้แถมเมนูนี้หรือลดราคาทำให้มูลค่าต่อออร์เดอร์เพิ่มตามไปด้วย จะเห็นว่าเทคนิคของร้านค้าหรือร้านอาหารมีการพัฒนาเพิ่มขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างจากวันแม่ที่ผ่านมา ผู้บริโภคหันมาซื้อเค้กวันแม่ผ่านฟู้ดดีลิเวอรี่มากขึ้น ทำให้วันแม่เป็น new high ใช้งานสูงสุดของบริการฟู้ดดีลิเวอรี่

2.พื้นที่ในการบริการขยายไปรอบนอกมากขึ้น เริ่มไปปริมณฑล และขยายไปในจังหวัดที่เป็น tier 2 อย่างพัทยา ขอนแก่น เชียงใหม่ มากขึ้น รวมถึงจังหวัด tier 3 อย่างพิจิตร แพร่ ลำพูน หรือกาญจนบุรี ก็มีสัดส่วนการใช้ฟู้ดดีลิเวอรี่มากขึ้น

เขาฟันธงเลยว่าการให้บริการจะครอบคลุมทั่วประเทศไทยแน่นอน ซึ่งตอนนี้ก็มีบางเจ้าที่มีบริการครอบคลุมทั่วไทยแล้ว แต่ในบางจังหวัดอาจอยู่แค่ในอำเภอเมือง

ในอนาคตจะขยายจากอำเภอเมืองไปยังอำเภอใหญ่ ๆ และเข้าสู่ตำบลต่าง ๆ จะกลายเป็นเทรนด์ และเริ่มเป็นพฤติกรรมของคนทั้งประเทศที่จะเปลี่ยนไป

3.คนเคยชินกับความสบาย ต่อให้ไม่มีโควิดก็ยังได้รับความนิยม หลายคนกังวลว่าหมดโควิดแล้ววงการฟู้ดดีลิเวอรี่จะยังได้รับความนิยมหรือเปล่า คุณยอดยืนยันว่าไม่ต้องห่วงเพราะคนคุ้นชินกับความสะดวกสบายแล้วถึงกลับไปเป็นเหมือนเดิมคนก็ไม่อยากกลับไปแล้ว

ผมบอกได้เลยว่าหลังโควิด ร้านอาหารก็ต้องมีส่วนของฟู้ดดีลิเวอรี่อยู่ ทุกร้านต้องแบ่งสัดส่วนยอดขายจากหน้าร้านค้าแบบเดิมไปให้ในส่วนดีลิเวอรี่มากขึ้น สอดคล้องกับข้อ 4

4.ร้านอาหาร “ทุกร้าน” จะปรับมาใช้ฟู้ดดีลิเวอรี่แม้สถานการณ์จะดีขึ้น แต่พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไปจะทำให้ร้านอาหารต่าง ๆ ต้องปรับตัวเองไม่ใช่แต่ฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารตามสั่ง

ตอนนี้ร้านอาหารประเภท dining ที่มีเชฟไปทำให้กินก็เริ่มมีเมนูดีลิเวอรี่แล้ว หรือร้านบุฟเฟต์ก็เริ่มมีเซตพิเศษส่งถึงบ้านได้เลย นั่นทำให้ร้านค้ามองฟู้ดดีลิเวอรี่เป็นช่องทางหลัก ไม่ใช่ช่องทางรองอีกแล้ว

ถามว่าการเริ่มต้นเปิดร้านอาหารดีลิเวอรี่ต้องเตรียมตัวอย่างไร คุณยอดแนะนำ 5 ข้อ เริ่มจากศึกษาคู่แข่งในบริเวณเดียวกันก่อน หากอยากเปิดร้านอาหารก็ต้องดูในพื้นที่ของคุณมีร้านอาหารแบบที่ต้องการขายมากน้อยขนาดไหน

เพื่อดูว่าอะไรขายดี อะไรเป็นที่นิยม อะไรที่มีความแตกต่างเพื่อสร้างจุดแตกต่างระหว่างเรากับคู่แข่ง ข้อแรกคือดูดีมานด์ วิธีการไม่ยากเปิดทุกแอปสั่งอาหารแล้วนั่งไล่ดู ลองปักหมุดไปบนพื้นที่นี้ เก็บข้อมูลว่ามีร้านอาหารประเภทไหนบ้าง ถ้าไม่มีร้านที่เราอยากทำเราก็มีโอกาสแล้ว

ต่อมาคือการทำ self promotion ดึงดูดลูกค้า โปรโมชั่นมีอยู่ 2 อย่าง แบบแรกจัดร่วมกับแอปพลิเคชั่นซึ่งจะมีเป็นช่วง ๆ และแบบที่สองคือ จัดโปรโมชั่นเอง เมื่อเข้าไปหน้าร้านในแอปจะมีโปรโมชั่นส่วนลดต่าง ๆ เพื่อทำให้ลูกค้าซื้อและจ่ายเงินเพิ่มทำให้ค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อออร์เดอร์ของลูกค้าเพิ่มขึ้นด้วยเหมือนกัน

ข้อสาม การลง Ads ในฟู้ดดีลิเวอรี่ทุกแอปจะมีบริการซื้อโฆษณาด้วยจะทำให้เราขยายกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น

ข้อสี่ คงคุณภาพอาหาร และรสชาติ โปรโมชั่นช่วยดึงดูดลูกค้าได้
แต่ถ้าคุณภาพอาหารและรสชาติไม่ดี หรือลดคุณภาพลง ลูกค้าจะไม่กลับมาอุดหนุนซ้ำ

ข้อสุดท้ายสำคัญมาก ถ้าร้านไหนไม่มีรูปภาพ ลูกค้าจะให้ความสำคัญน้อยลง คนชอบดูรูปภาพมากกว่า การถ่ายภาพสินค้าต้องสวยมาก สิ่งสำคัญของร้านอาหารดีลิเวอรี่คือ ภาพถ่าย ฉะนั้นต้องตั้งใจถ่าย ภาพต้องดี สวย น่ากิน และต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงด้วย