Metaverse ราชบัณฑิตยสภา บัญญัติศัพท์ภาษาไทย “จักรวาลนฤมิต”

Metaverse จักรวาลนฤมิต

ราชบัณฑิตยสภามีมติบัญญัติคำว่า Metaverse ว่า “จักรวาลนฤมิต” หรือเขียนทับศัพท์ว่า “เมตาเวิร์ส”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (2 ธ.ค.) คณะกรรมการจัดทำพจนานุกรมศัพท์นิเทศศาสตร์ร่วมสมัย ราชบัณฑิตยสภา ในการประชุมมีมติบัญญัติคำว่า Metaverse ว่า “จักรวาลนฤมิต” หรือเขียนทับศัพท์ว่า “เมตาเวิร์ส”

ก่อนหน้านี้ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก (Facebook) ได้รีแบรนด์บริษัทด้วยการเปลี่ยนชื่อใหม่ “Meta” โดยมุ่งเน้นไปในเรื่อง “เมตาเวิร์ส” หรือโลกดิจิทัล ที่ผู้คนสามารถโต้ตอบและใช้พื้นที่เสมือนจริงร่วมกันได้

เขากล่าวว่า เมตาเวิร์สจะเป็นยุคต่อไปของการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมอบประสบการณ์การใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์ในปัจจุบันในรูปแบบไฮบริด จะเป็นการขยายประสบการณ์สู่รูปแบบสามมิติ หรือมีการแสดงภาพสู่โลกแห่งความจริง สิ่งนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้คนสามารถแชร์ประสบการณ์โลกเสมือนจริงแก่ผู้อื่นได้แม้ในขณะที่พวกเขาไม่ได้อยู่ด้วยกัน รวมถึงทำกิจกรรมที่ไม่สามารถทำร่วมกันในโลกความจริงได้อีกด้วย

เมตาเวิร์ส (Metaverse) คืออะไร

“นีล สตีเฟนสัน” นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ ได้นิยามไว้ว่า หมายถึงโลกเสมือนจริง ที่ผู้คนต่างหลบหนีจากโลกแห่งความเป็นจริงที่บิดเบี้ยว

ขณะที่ รอยเตอร์ส ระบุว่า เมตาเวิร์ส (Metaverse) เป็นคำที่กว้าง โดยทั่วไปหมายถึงการแบ่งปันสภาพแวดล้อมของโลกเสมือนจริงของผู้คนผ่านทางอินเทอร์เน็ต อีกทั้งยังหมายถึงพื้นที่ดิจิทัล ซึ่งถูกสร้างให้เหมือนจริงมากยิ่งขึ้น โดยการใช้ความเป็นจริงเสมือน (VR) หรือเทคโนโลยีโลกเสมือนผสานโลกแห่งความจริง (AR)

บางคนยังใช้คำว่า เมตาเวิร์ส ในการอธิบายโลกของเกม ที่ซึ่งผู้เล่นสามารถบังคับตัวละครให้เดินไปรอบ ๆ และโต้ตอบกับผู้เล่นคนอื่นได้ นอกจากนี้ยังมีการใช้เมตาเวิร์สเฉพาะกับเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งผู้ใช้งานสามารถครอบครองที่ดินเสมือนจริงและสินทรัพย์ดิจิทัลอื่น ๆ ได้ โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลแทน